คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน แค่ช่วงปกติก็ว่าห่วงแล้ว ยิ่งสถานการณ์ช่วงโควิด 19 ระบาดยิ่งจิตตกไปกันใหญ่ หยุดกังวลเชิญมาฟังคุณหมออธิบาย เช็กให้ชัวร์ว่าอันตรายไหม
คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน ใช่อาการโควิดไหม อันตรายหรือไม่?
เมื่อได้รับข่าวดีว่าจะได้เป็นแม่ รับรองได้ว่าคุณแม่ทุกคนต่างก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกกันอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการ เตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องการวางแผนอนาคต และรวมถึงสุขภาพร่างกายของคุณแม่เองที่ต้องดูแลเป็นพิเศษกว่าเดิม เรียกได้ว่าไม่อยากให้เจ็บป่วยใด ๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามที แต่ขึ้นชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บ แล้ว เราคงไม่สามารถป้องกันได้อย่าง 100% ดังนั้นการเรียนรู้ ศึกษาอาการ และวิธีการรับมือต่าง ๆ จึงน่าจะเป็นหนทางออกสำหรับคุณแม่ที่จะได้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง และไม่วิตกกังวลจนเกินไป
เมื่อ คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน … อันตรายหรือไม่??
โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นไข้ได้ง่ายเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ซึ่งไข้คือปฏิกิริยาหนึ่งที่ร่างกายของคนเราแสดงออกมาเมื่อมีการติดเชื้อหรือมีอาการอักเสบต่างๆ ในร่างกาย ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีไข้ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังมีการติดเชื้อหรืออักเสบเกิดขึ้น จึงต้องรีบหาสาเหตุโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และควรรีบบรรเทาอาการต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อการคลอด และลูกน้อยในท้องได้
คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน ทำไมถึงอันตราย ?
ในระหว่างการตั้งครรภ์ หากคุณแม่เป็นไข้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ทารกเจริญเติบโตได้อย่างไม่เต็มที่ และอาจนำไปสู่การแท้งบุตรหรือส่งผลให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิดได้ โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่เป็นไข้ก่อนตั้งครรภ์หรือมีอาการขณะตั้งครรภ์ในระยะแรกเสี่ยงต่อภาวะพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเกิดความผิดปกติของการปิดของท่อระบบประสาท (Neural Tube Defect: NTDs) สูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีอาการ อีกทั้งทารกในครรภ์ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกลุ่มอาการออทิสติกมากขึ้นหากมารดาเป็นไข้ขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากเป็นไข้สูงติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันระหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นและเรื้อรัง ซึ่งแพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการไข้ อย่างการตรวจตัวอย่างเลือดหรือปัสสาวะ
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อ คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน
เมื่อคุณแม่เกิดอาการไข้ สามารถดูแลตนเอง เพื่อบรรเทาอาการไข้ให้ดีขึ้นได้เบื้องต้น ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ไม่ควรนอนพักในอากาศร้อน หรือห่มผ้านวม สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศไม่ดี หรือแน่นจนเกินไป
- หากมีอาการเจ็บคอสามารถกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการได้
- การใช้ยาลดไข้ ควรเลือกยาพาราเซตามอล เนื่องจากเป็นยาที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อต้องใช้ในขณะตั้งครรภ์ แต่จำเป็นต้องรับประทานยาในปริมาณที่ฉลากยากำหนดอย่างเคร่งครัด และไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ห้ามรับประทานยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโรเฟน หรือ แอสไพริน นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของทารกได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอุดมไปด้วยกรดโฟเลต เพื่อช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่ และคุณลูก
ข้อมูลอ้างอิงจาก pobpad.com
คนท้อง กับ โควิด( Covid19)!!
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid19) นอกจากสร้างความยากลำบาก และความหวาดกลัวให้กับชีวิตผู้คนในสังคมอย่างมากแล้ว คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงเวลานี้ยิ่งนับว่ามีความกังวลเพิ่มมากขึ้นจากคนปกติไปอีกหลายเท่า เพราะนอกจากที่เราจะต้องดูแลตัวเองเพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้เขาเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง สมบูรณ์แล้ว คุณแม่ยังต้องป้องกัน และดูแลตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโควิด 19 นี้อีกด้วย เพราะหาก คนท้องติดโควิด นอกจากจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์กับการป่วย COVID-19
รู้หรือไม่???
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 ใน 3 มักไม่แสดงอาการ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรงมักมีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ เป็นต้น
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูก 2 – 5% แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการแท้งลูก
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด 15.1%
ข้อมูลอ้างอิง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ความเสี่ยงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
- ครรภ์เป็นพิษ
- คลอดก่อนกำหนด
- เลือดแข็งตัวผิดปกติ
- ทารกที่เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อน้อยกว่าทารกในครรภ์ที่คุณแม่ใกล้คลอด
คนท้องเป็นไข้ตัวร้อน เป็นไข้หวัดธรรมดา หรือ โควิด -19 กันแน่??
อาการ |
Covid-19 |
ไข้หวัดทั่วไป |
มีไข้ น้ำมูกไหล | มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา | มีไข้สูงผ่านไป 3-4 วัน
อาการจะเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด |
ไอ จาม มีเสมหะ | ไอแห้ง ไอมีเสมหะ เจ็บคอนานเกิน 4 วัน เสมหะอาจมีเลือดติดมา | อาจมีไอ จาม เล็กน้อย ผ่านไป 3-4 วัน อาการจะดีขึ้น |
ถ่ายเหลวท้องเสีย | บางคนอาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย | ไม่มีอาการท้องเสีย |
หายใจลำบาก | หายใจลำบาก ในรายที่รุนแรงจะมีปอดอักเสบ หรือปอดบวม | มีอาการคัดจมูก น้ำมูกอุดตัน ทำให้หายใจลำบาก ไม่สะดวก |
ปวดตามตัว | ปวดตัวเมื่อยตัว ทานอะไรไม่ลง | อ่อนเพลีย ปวดตามตัว |
ข้อสังเกต : อาการของโควิด-19 จะสังเกตได้จากการไอ มีเสมหะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว
: อาการของไข้หวัดทั่วไป สังเกตได้จากการมีไข้ขึ้น อ่อนเพลีย มีไอ หรือจามบ้างเพียงเล็กน้อย |
ข้อมูลอ้างอิงจาก vibharamamata.com
คลายกังวล…กับการรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วย Covid-19
แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่าแม่ท้องที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการไม่ต่างจากคนปกติ แต่การรักษาก็จะมีความซับซ้อนกว่า เช่น ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
วิธีการรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
- การให้สารน้ำ แก้ไขภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ ให้ออกซิเจน
- การให้ยาต้านไวรัสในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
- การให้ยาปฏิชีวนะหากติดเชื้อแบคทีเรีย
- การใช้เครื่องช่วยหายใจกรณีที่อาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์
ข้อจำกัดในการรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19 คือ การใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียง และคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อรับออกซิเจนให้เพียงพอเมื่อดั่งคนปกติทั่วไป จึงอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อเพิ่มระดับการให้ออกซิเจนแทน
ฝากครรภ์ช่วงสถานการณ์ COVID-19
คุณแม่ท้องที่ต้องการฝากครรภ์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ ยังคงแนะนำให้ไปฝากครรภ์ตามปกติ เพราะการฝากครรภ์ทำให้คุณหมอสามารถตรวจสอบอาการต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ของคุณแม่ในแต่ละช่วงระยะเวลาอายุครรภ์ได้ว่าเป็นปกติหรือไม่ หากมีปัญหาหรือความเสี่ยงใด ๆ จะได้แก้ไขปัญหานั้นได้ทันถ่วงที แต่ในรายที่คุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต เป็นต้น อาจจะต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพิ่มความป้องกัน ระมัดระวังเป็นสองเท่า โดยทาง ทีมแม่ ABK ได้นำวิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจาก โควิด-19 มาฝากกัน ดังนี้
- ฝากครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง โดยนัดเวลาล่วงหน้าเพื่อให้ใช้เวลาที่โรงพยาบาลน้อยที่สุด
- เลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ
- ผู้ติดตามที่ไปด้วยต้องไม่เกิน 1 คน
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน
- ล้างมือให้บ่อย พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา
- เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตรในทุกกิจกรรม
- กลับถึงบ้านล้างมือ ถอดหน้ากากทิ้งทันที เปลี่ยนเสื้อผ้า
- สังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการรีบพบแพทย์ทันที
- ในช่วง 3 – 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากไม่มีการตรวจพิเศษอื่น ๆ อาจเลื่อนนัดได้ตามสถานการณ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีน covid-19 ได้หรือไม่?
คุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกชนิดในขณะนี้ (เมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์เป็นต้นไป)
โดยควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ยกเว้นมีความจำเป็นตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยควรเว้นระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลการฝากครรภ์ก่อนตัดสินใจเข้ารับวัคซีน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.sikarin.com / www.bangkokhospital.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แนวทางปฏิบัติตัวช่วงโควิด สำหรับ คนท้อง แม่หลังคลอด ทารกแรกเกิด
วิธีเช็กความ เสี่ยงติดโควิด-19 อาการแบบไหนต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่