เตรียมของก่อนคลอด แบบไหนไม่ฉุกละหุก เมื่อกลับจากโรงพยาบาลหลังคลอด ได้ของครบทั้งคุณแม่ และลูกน้อย แถมงบไม่บานปลายเอาใจคุณพ่อ เรื่องสำคัญที่แม่ท้องควรรู้!!
checklist เตรียมของก่อนคลอด ยังไงไม่บานปลายได้ของครบ!!
การเตรียมทำรายการข้าวของเครื่องใช้ สำหรับต้อนรับลูกน้อย สมาชิกใหม่ในบ้าน ใครว่าไม่สำคัญ? หากเป็นความเชื่อสมัยก่อนรุ่นคุณปู่คุณย่า หรือคุณทวด อาจไม่ใช่สิ่งที่นิยมทำกันมากนัก เพราะมีความเชื่อโบราณที่ว่า เตรียมของก่อนคลอด ทำให้โชคร้าย??? (จริงหรือ) เตรียมของก่อนคลอด ทำให้ลูกงอแง??? (จริงหรือ)
ในปัจจุบันความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้คงเหลือไว้เพียงเรื่องเล่า เพราะวิวัฒนาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถตอบคำถาม และข้อห่วงใยของคนโบราณได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การที่กล่าวว่า เตรียมของก่อนคลอด อาจทำให้โชคร้าย มีเหตุผลมาจาก ข้อห่วงใยที่กลัวจะเกิดการแท้งลูก ซึ่งในปัจจุบันการฝากท้อง การรับรู้ข้อมูลการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์มีมากมายกว่าในสมัยก่อนมาก ทำให้โอกาสในการแท้งลูกจึงลดน้อยลง และเข้าใจกันแล้วว่าการแท้งลูกมิได้มาจากการเตรียมของลูกไว้ก่อนแต่อย่างใด เป็นต้น
อ่านต่อ 5 ความเชื่อผิด ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์
การเตรียมของก่อนคลอด จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ ไม่ติดขัด เมื่อกลับจากโรงพยาบาลหลังคลอด เพราะร่างกายของคุณแม่ก็ต้องการการฟื้นฟู อีกทั้งยังต้องมีภารกิจในการเลี้ยงทารกแรกเกิด ที่นับว่าเป็นงานที่ไม่เบาเลยทีเดียว การมีตัวช่วย เช่น ข้าวของ เครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อน ก็จะช่วยเบาแรง และไม่ต้องห่วงเรื่องสุขอนามัย ความปลอดภัยของเจ้าตัวเล็กมากนัก
Checklist เตรียมของใช้ให้งบไม่บานปลาย ได้ของครบ
การทำรายการสิ่งของ เครื่องใช้ที่จำเป็นก่อนการเลือกซื้อนั้น นอกจากจะช่วยให้เราไม่ซื้อของซ้ำ และมากเกินไปแล้ว ยังทำให้ไม่เกิดการตกหล่นในของบางอย่างที่คุณแม่อาจไม่สะดวกออกไปเลือกซื้อหลังคลอด ดังนั้นเพื่อมิให้เป็นการขาดตกบกพร่อง จะขอแบ่ง Checklist ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
เตรียมของก่อนคลอดสำหรับคุณแม่
- กางเกงรัดหน้าท้อง ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีการผ่าคลอด กางเกงรัดหน้าท้องจะช่วยกระชับหน้าท้อง และป้องกันไม่ให้ขอบกางเกงในเสียดสีกับแผลผ่าคลอด
- ชุดชั้นในสำหรับให้นมลูก
- ผ้าอนามัย เนื่องจากหลังคลอดยังมีน้ำคาวปลาไหลออกมาอยู่ จึงต้องใช้ผ้าอนามัยหลังคลอด แนะนำเป็นผ้าอนามัยชนิดแผ่นหนาจะดีที่สุด
- แผ่นซับน้ำนม ทั้งแบบซักได้ใช้ซ้ำ จะช่วยประหยัดได้มาก หรือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เหมาะสำหรับเวลาออกไปข้างนอก จะสะดวกกว่า
- ครีมทารักษาหัวนมแตก สำหรับแม่มือใหม่อาจเกิดปัญหาหัวนมแตกจากการเข้าเต้าของลูกน้อยยังไม่ถนัด ผิดวิธี ก็จะเกิดปัญหาดังกล่าวได้ง่าย
- หมอนให้นม เป็นตัวช่วยเวลาให้นมลูก จะช่วยให้ง่ายต่อการอุ้มลูกเข้าเต้าได้ถูกวิธีมากขึ้น และป้องกันการปวดคอ ปวดหลังของแม่ได้
- เครื่องปั๊มนม เลือกที่ได้มาตราฐาน มีรับประกัน
เคล็ดลับประหยัดงบ!!
คุณแม่อาจซักถามทางโรงพยาบาลที่จะไปคลอดว่า ทางโรงพยาบาลมีสิ่งของสำหรับคุณแม่หลังคลอดอะไรเตรียมไว้ให้แล้วบ้าง โดยเฉพาะหากคุณแม่ซื้อแพ็กเกจคลอดแบบเหมาจ่าย มักจะมีของรวมอยู่ในราคาเหมาจ่ายนั้นแล้ว เช่น ผ้ารัดหน้าท้อง ผ้าอนามัย เป็นต้น จะได้ไม่ซื้อของซ้ำกับทางโรงพยาบาลก็ช่วยประหยัดไปได้มากเช่นกัน
เตรียมของก่อนคลอดสำหรับลูก
ขึ้นชื่อว่าของลูกน้อย รับรองว่าทุกบ้านมักจัดเต็มกับข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ นานา สำหรับเจ้าตัวน้อยกันอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ครบถ้วนในคราวเดียว ควรวางแผนเผื่อระยะเวลาสักหน่อยให้คุณแม่ได้ค่อย ๆ เลือกซื้อของเข้าบ้านทีละน้อย นอกจากสบายเงินในกระเป๋า ที่ไม่ต้องจ่ายมาก ๆ ในคราวเดียวแล้ว ยังทำให้ไม่ต้องเครียดจนเกินไป และควรวางแผนเรื่องจำนวนของสิ่งของแต่ละอย่างตามความเป็นจริงด้วย เช่น เสื้อผ้าเด็กอ่อน ถึงแม้จะดูน่ารักน่าซื้อ แต่ไม่ควรเตรียมไว้มากเกินเพราะลูกโตเร็วมาก ส่งผลให้ใช้ได้ไม่ครบหากมากเกิน และเป็นการเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เป็นต้น
เคล็ดลับประหยัดงบ!!
การเตรียมของใช้สําหรับทารกแรกเกิด
- การเลือกซื้อของใช้ต่าง ๆ คุณแม่จะต้องใจเย็น ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ควรเดินดูเพื่อเปรียบเทียบราคา และหาโปรโมชั่นในช่วงเวลาต่าง ๆ ก็จะทำให้ได้ส่วนลด ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
- เครื่องใช้สำหรับลูกอาจไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่หมดทุกอย่าง และควรเลือกที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ เพราะลูกจะโตเร็วมาก การลงทุนซื้อของใช้บางอย่างจึงอาจไม่คุ้มค่า เช่น เปล หรือรถเข็น ถ้าสามารถหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก
- สิ่งของจำเป็นหลายอย่างที่สามารถเก็บได้นาน และจำเป็นต้องมีแน่นอน เช่น ขวดนม ผ้าอ้อม สำลี เป็นต้น คุณแม่สามารถเตรียมเผื่อไว้ได้ เพราะของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องรีบร้อนซื้อเร็วไปนัก เพราะบางช่วงเวลาอาจมีโปรโมชั่นลดราคาก็สามารถทยอยซื้อได้เช่นกัน
- สิ่งของเครื่องใช้สำหรับลูกควรเลือกที่มีลวดลายน่ารักสีสันสดใส เพราะจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้
- อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเชือกผูก จะต้องผูกให้แน่น ถ้าเชือกยาวไปจนเกะกะก็ควรตัดทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนเข้าไปจนสำลัก
- รถเข็น ตะกร้าหิ้วเด็ก หรือเปล ต้องไม่มีเหลี่ยมมุมอันตราย ขอบที่แหลมคม หรือช่องใด ๆ ที่นิ้วของลูกจะเข้าไปติดค้างได้
- ควรทยอยซื้อของเก็บไปเรื่อย ๆ จะได้ไม่เครียด และอาจจะได้ของในแบบเดียวกันที่ราคาถูกกว่าในแต่ละที่ก็เป็นได้
Checklist รายการเตรียมของก่อนคลอดสำหรับลูกน้อย (แบ่งตามหมวดหมู่)
หมวดเครื่องแต่งกาย
- เสื้อเด็กทารกแบบป้ายด้านหน้า ผูกโบว์หน้า ซึ่งจะง่ายต่อการสวมใส่ (หากเลือกแบบผูกโบว์ด้านหลัง คุณแม่จะใส่ยากนิดหนึ่งและจะทำให้ลูกเจ็บหลังเวลานอนทับ)
- เสื้อทารกป้ายด้านหน้าแขนสั้น + กางเกงขาสั้น อย่างน้อย 3 – 4 ชุด
- เสื้อทารกป้ายด้านหน้าแขนสั้น + กางเกงขาสามส่วน อย่างน้อย 3 – 4 ชุด
- เสื้อทารกป้ายด้านหน้าแขนยาว + กางเกงขายาว อย่างน้อย 3 – 4 ชุด
- ชุดไปเที่ยวเสื้อแขนสั้น + กางเกงขาสั้น สัก 2 ชุด / เสื้อแขนยาว + กางเกงขายาว สัก 2 ชุด เท่านี้ก็พอ เพราะอันที่จริงแล้ว ช่วง 3 เดือนแรก คุณหมอไม่แนะนำให้พาลูกออกนอกบ้าน เพราะภูมิคุ้มกันเค้ายังน้อยมาก เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย
- ถุงมือและถุงเท้า อย่างละ 4 คู่ (ถุงมือช่วยป้องกันลูกพลาดมือจิ้มตาตัวเอง เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อของเด็กทารกยังไม่ดีพอ แต่การใส่ถุงมือถุงเท้าไม่ควรใส่ตลอดเวลา เพราะจะไปปิดกั้นพัฒนาการของลูกได้ แนะนำใส่เวลาที่คุณแม่จำเป็นต้องไปทำงานที่ไม่ได้อยู่ใกล้ลูกจะดีกว่า)
- รองเท้า 2 คู่
- หมวกเด็กอ่อน 2 ใบ เอาไว้ใส่สลับกัน
- ผ้ากันเปื้อน ผ้ากันน้ำลาย เด็กวัยแรกเกิดมักมีน้ำลายไหลออกมาจากปากอยู่เสมอ ผ้ากันน้ำลายจึงเป็นสิ่งที่ควรมีไว้หลาย ๆ ผืน เพราะจะได้มีไว้เปลี่ยนให้ลูกได้สบายตัวขึ้น ไม่เฉอะแฉะ
- ผ้าอ้อมหรือผ้าห่อตัว แนะนำเป็นผ้าสำลี เพราะลูกจะนุ่มสบายตัวขนาด 30×30 หรือจะเป็นผ้าสาลู ขนาด 29×29 เตรียมไว้ 3-4 โหล เพราะจะได้ไม่เสียเวลาค่อยซักบ่อย ๆ
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ค่อนข้างสะดวก เตรียมไว้เวลาไม่สะดวกเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือตอนกลางคืน แต่สำหรับเด็กอ่อนอาจทำให้ระคายเคืองได้ต้องหมั่นเปลี่ยน
- ผ้าอ้อมแบบผ้าสำลี ประมาณ 1-2 โหล เพราะใช้ปูทับผ้ายาง จะช่วยซับปัสสาวะลูกได้ดี และจะได้ไม่ต้องทำความสะอาดผ้ายางบ่อยๆ
- เข็มกลัดซ่อนปลาย หากไม่สบายใจกลัวทิ่มลูกน้อย แนะนำวิธีพับผ้าอ้อมให้ลูกน้อยที่มีหลายวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มกลัด
หมวดอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด
- อ่างอาบน้ำเด็ก แนะนำซื้อไซส์ใหญ่ เพราะลูกโตเร็วมาก ควรเลือกแบบที่มีช่องเปิดปิดเพื่อระบายน้ำที่ก้นอ่าง คุณแม่จะได้ไม่ต้องก้มทิ้งน้ำให้ปวดหลัง และเจ็บแผลอีกต่างหาก
- เครื่องวัดอุณหภูมิน้ำ เพื่อทดสอบความอุ่นของน้ำ
- แชมพูสบู่อาบน้ำเด็ก Head to Toe สำหรับเด็กแรกเกิด ควรเลือกที่ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ว่าไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวของลูกน้อย
- หมวกกันแชมพู
- เบบี้โลชั่น หรือเบบี้ออยล์
- แป้งฝุ่น ควรเทแป้งที่ฝ่ามือคุณแม่ก่อน แล้วค่อยทาที่ลูก ไม่ควรเทแป้งลงตัวเด็กโดยตรง เพราะผงฝุ่นจะไปรบกวนทางเดินหายใจของลูกได้ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของลูกนั้นยังเล็กมาก
- สำลีก้านเล็ก สำหรับเช็ดรูจมูก และรอบหู
- สำลีก้านธรรมดา สำหรับเช็ดสะดือ
- สำลีก้อนผ่านการฆ่าเชื้อ สำหรับเช็ดก้น
- สำลีแผ่นตัดข้าง สำหรับเช็ดเปลือกตา
- baby wipe เวลาออกไปข้างนอกจะได้ไม่ต้องพกสำลีหลายแบบ
- ผ้าขนหนูอาบน้ำผืนใหญ่ 2 ผืน
- น้ำยาซักผ้าเด็ก
- น้ำยาปรับผ้านุ่มเด็ก
- เครื่องนึ่งขวดนม
หมวดที่นอน
- เตียงเด็ก มีความแข็งแรง มีตัวล็อกหนาแน่น ลูกกรงที่กั้นโดยรอบเตียงมีความสูงพอที่จะไม่ให้ลูกปีนข้าม ส่วนซี่กรงควรห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้หัวของลูกเข้าไปติดอยู่เพราะความซน และที่กั้นเตียงควรสูงจากที่นอนอย่างน้อย 26 นิ้ว
- เบาะนอนทารก ไม่ควรเลือกที่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป เพราะถ้าหากนุ่มมาก ๆ จะเสี่ยงที่ทารกหน้าจมฟูก ทารกอาจหายใจไม่ออก
- ผ้าปูที่นอน อย่างน้อย 2-3 ชุด
- ผ้าห่ม ไม่ควรมีชายรุ่ยร่าย เพราะอาจพันนิ้วเล็ก ๆ ของลูกหรือลูกอมเข้าปากจนเกิดการสำลักได้
- หมอนหนุน
- หมอนข้างเอาไว้กันตัวลูก
- รถเข็นเด็ก
- คาร์ซีท
- เบาะสำหรับนอนเล่น
- ของเล่นโมบายล์ ที่มีสีสันสดใสและมีเสียงดนตรีที่ไพเราะ จะเหมาะสำหรับแขวนไว้เหนือเตียง หรืออาจห้อยเอาไว้ให้อยู่ในระดับสายตาลูก (8-10 นิ้ว) เพราะจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสสายตาของลูกให้ทำงานได้ดี
หมวดเบ็ดเตล็ด
- กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก
- ลูกยางแดง สำหรับดูดน้ำมูก(อุปกรณ์ดูดน้ำมูก) ในกรณีที่เด็กมีปัญหาน้ำมูกคั่ง ทำให้ดูดนมหรือหายใจลำบาก คุณแม่สามารถใช้ลูกยางแดงหรืออุปกรณ์ดูดน้ำมูกที่ขายในแผนกขายของใช้สำหรับเด็กหรือตามร้านขายยาได้
- ตะกร้าสำหรับใส่ของใช้ลูก
- ปรอทวัดไข้ ปรอทแก้วไม่ควรใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายได้หากแตกหัก
- มหาหิงส์(ป้องกันท้องอืด) จะใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ แต่ควรเลือกแบบที่มีแอลกอฮอล์น้อย ๆ
- วาสลีน
- ครีมทากันยุง
- แซมบัค ทาหลังยุงกัดหรือหัวโน
- ตู้เสื้อผ้าลูก
- อื่น ๆ เช่น ที่กันกระแทกมุมโต๊ะ, ที่กั้นประตู, ที่กั้นพัดลม (กันลูกเอานิ้วไปแหย่)
รายการทั้งหมดนี้ และจำนวนปริมาณ อาจยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ที่สำคัญควรจดไว้ในสมุดบันทึก และเช็ครายการที่ได้เตรียมไว้แล้วเพื่อป้องกันการลืม และซื้อซ้ำ หากคุณแม่ลองทำตามเช่นนี้รับรองได้เลยว่าได้ของครบ สบายใจหลังคลอด แถมงบไม่บานปลายอีกด้วย เรียกได้ว่า สุขใจทั้ง พ่อ แม่ และลูก ทั้งครอบครัวเลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิงจาก medthai.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ตั้งชื่อเล่นลูก 100 ชื่อเล่นไทยๆ ลูกชาย ลูกสาว เพราะดี มีความหมาย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่