สำหรับแม่มือใหม่ที่เมื่อรู้ว่ากำลังมีลูกน้อยมาอยู่ในท้องแล้ว ก็มักจะทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องไปฝากครรภ์ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำอย่างไร? ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง? ที่นี่มี ขั้นตอนการฝากครรภ์ อย่างละเอียดมาฝากค่ะ
แจงละเอียด! ขั้นตอนการฝากครรภ์ เตรียมตัวอย่างไร? ทำอะไรบ้าง?
ฝากครรภ์ คืออะไร?
การฝากครรภ์ คือ การดูแลสุขภาพของลูกในท้องตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอดโดยแพทย์ผู้รับฝากครรภ์ เพื่อให้ลูกในท้องมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย โดยแพทย์จะให้คำแนะนำและตรวจสุขภาพครรภ์ของแม่ท้อง รวมถึงการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของแม่ท้องและลูกในท้อง และรักษาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การจ่ายวิตามินเพื่อบำรุงครรภ์ จ่ายยารักษาอาการแพ้ท้องหรืออาการอื่น ๆ เป็นต้น การฝากครรภ์ถือว่าสำคัญมาก แม่ท้องที่ไม่ได้ฝากครรภ์ เสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ที่ฝากครรภ์มากถึง 3 เท่า อีกทั้งเด็กที่คลอดออกมานั้นก็เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าทารกที่มารดาเข้ารับการฝากครรภ์มากถึง 5 เท่า หากผู้ตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์และไปตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ กล่าวคือ แพทย์สามารถตรวจเจอความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กและรักษาหรือป้องกันได้ทัน
ฝากครรภ์เมื่อไรดี?
เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ทันที อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด เพราะตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญ แม่ท้องจะต้องไปฝากครรภ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแพทย์จะนัดเป็นระยะตามความเหมาะสมจนกระทั่งคลอด โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ตลอดระยะการตั้งครรภ์
ฝากครรภ์ที่ไหนดี?
คุณแม่สามารถไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็ได้ โดยโรงพยาบาลหรือคลินิกนี้ควรจะอยู่ใกล้บ้านหรือเดินทางได้สะดวก เพราะเมื่อคุณแม่เริ่มท้องแก่ คุณหมอจะเริ่มนัดให้มาตรวจดูครรภ์บ่อยขึ้น ทำให้อาจจะมีปัญหาในการเดินทางได้
Tips : ควรเลือกสถานที่ฝากครรภ์ที่เดินทางได้สะดวกที่สุด เผื่อในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินใด ๆ คุณแม่ก็จะสามารถไปถึงมือคุณหมอได้ทัน และไม่ต้องกังวลว่าหากฝากครรภ์ที่นี่จะต้องคลอดที่นี่ เพราะสถานที่ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่คลอดไม่จำเป็นต้องเป็นที่่เดียวกันก็ได้ค่ะ
การเตรียมตัวและการเตรียมเอกสารเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
- บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย