สายรกพันกันได้อย่างไร อันตรายหรือไม่?
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ “รก” ก่อนค่ะว่าคืออะไร “รก” คืออวัยวะที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการตั้งครรภ์ ซึ่งรกจะติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูกคุณแม่ ที่อยู่นอกตัวลูกในท้อง ที่จะมีสายสะดือ หรือสายรก ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรกกับทารกอีกทีค่ะ รกจะทำหน้าที่ส่งผ่านอาหาร ออกซิเจนระหว่างคุณแม่ไปให้กับทารกในครรภ์ รวมทั้งยังทำหน้าที่ในการช่วยขับถ่ายของเสียออกจากตัวทารก คุณแม่อาจสงสัยว่าแล้วรกเนี่ยจะติดอยู่ในร่างกายของแม่หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ เพราะรกจะถูกคลอดออกหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกนั่นเองค่ะ
แล้วสายรกจะพันกัน หรือพันคอลูกในท้องได้ไหม? เพราะได้ยินบ่อยมาก จริงๆ แล้วคุณหมอเคยบอกผู้เขียนตอนที่ตั้งท้องว่า อาการนี้คืออาการสายสะดือพันกัน หรือบางครั้งก็มาพันที่คอลูก ซึ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือถ้าให้นึกภาพตามสายสะดือมีความยาวได้ถึง 100 เซนติเมตรเลยนะคะ ยิ่งยาวก็ยิ่งอันตราย
ถ้าจะแยกให้เห็นภาพคือ รก จะมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ ที่ติดกับผนังมดลูก ส่วนสายสะดือจะมีลักษณะหนาๆ และยาว ทารกที่เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน และก็ลอยหมุนได้ 360 องศาในมดลูกของคุณแม่ ก็มีบ้างที่ทำให้สายสะดือเกี่ยวพันกัน บางครั้งก็เกิดการพันเข้าที่คอของทารกในครรภ์ ซึ่งตรงนี้ถือว่าอันตรายมาก
Must Read >> สายสะดือพันคอทารก ในครรภ์แม่จะรู้ได้อย่างไร?
สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในท้องจากภาวะรกพันกัน หรือที่เรียกว่าสายสะดือพันกันเอง หรือพันที่คอทารก นั่นก็คือ ในช่วงตั้งแต่เดือนที่ 5 เป็นต้นไป สัญญาณพัฒนาการสำคัญของทารกก็คือ “การดิ้น” ทารกดิ้นเป็นการบอกถึงพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดี ในหนึ่งวันทารกจะดิ้นได้เกิน 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมงแบบนี้ถือว่าปกติ แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่านี้ หรือไม่ดิ้นเลย ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์คุณแม่โดยด่วน เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจเช็กถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะสามารถผ่านช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพครรภ์ใดๆ ที่จะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดกันนะคะ และสิ่งสำคัญคือ หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ขอให้รีบแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์ของแม่ทราบทันที เพื่อจะได้ตรวจรักษาอาการได้อย่างรวดเร็ว และจะได้ลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ลดความเสี่ยง คลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด อันตราย กว่าที่คิด!!!
ประสบการณ์จริงจากแม่ : คลอดก่อนกำหนด เพราะลูกเหนื่อย จนเกือบเสียชีวิตในท้อง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
ภาวะรกพันคอ. กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ. board.postjung.com
รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์. การคลอดก่อนกำหนด หน้า 229. ลูกดิ้นลดลง หรือไม่ดิ้น หน้า 179. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.
ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องต้นฉบับจาก คุณแม่มิ้ว