โรคหัดเยอรมัน อันตราย ฝันร้ายของคนท้อง อันตรายร้ายแรงกับเด็ก โรคนี้มีอาการอย่างไร ต้องฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์นานแค่ไหน
โรคหัดเยอรมัน อันตราย ภัยร้ายแม่ท้อง
เมื่อเข้าฤดูหนาว สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หลายคนมักกังวลเกี่ยวกับลูกน้อย คือโรคร้ายที่มาพร้อมกับลมหนาว หนึ่งในโรคอันตราย ได้แก่ โรคหัดเยอรมัน ที่มักจะระบาดเป็นประจำทุกปี ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กตัวเล็ก ๆ เท่านั้น แต่หัดเยอรมันยังเป็นอันตรายต่อคนท้องและทารกในครรภ์อีกด้วย
“หัดเยอรมัน” โรคที่มาพร้อมหน้าหนาว แต่จะระบาดบ่อยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella Virus) ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย จึงอันตรายสำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว เพราะมักจะพบการระบาดในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก ๆ อย่างโรงเรียน โรงงาน หรือสถานที่ทำงาน
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นหัดเยอรมัน?
หากมีการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อจะมีชีวิตในร่างกายคนได้นานถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที จะใช้เวลาประมาณ 14-21 วัน จึงจะเริ่มเกิดอาการ โดยในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป โดยหลังจากนั้น 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้
- มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ อาจเจ็บคอร่วมด้วย
- ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย
- หลังหู มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้า ก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย
อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อาทิ
- ปวดศีรษะ
- ไม่อยากอาหาร
- เยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม ปวดข้อ และข้อต่อบวม
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการของโรคได้เช่นกัน
สำหรับอาการของโรคที่เกิดในเด็กจะร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ อาการของโรคจะคงอยู่ไม่นานประมาณ 2-3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ที่พบคือ สมองอักเสบ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบ หากมีอาการที่คล้ายกับที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้
การรักษาโรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส ถ้าเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ตั้งครรภ์ ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
วิธีป้องกันโรคหัดเยอรมัน
การป้องกันโรคหัดเยอรมัน ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย เพราะจะเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่าย ที่สำคัญที่สุด คือ ควรฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2½ ปี แต่ในบางรายที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสกับโรค แพทย์อาจมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2½ ปี แต่ควรมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน
โรคหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์
ในกรณีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือดหรือระบบภูมิคุ้มกันโรคตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แล้วมีการติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3- 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีโอกาสที่อวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด ความรุนแรงขึ้นกับอายุครรภ์ที่ได้รับเชื้อ
ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน
ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อน แล้วเว้นระยะการตั้งครรภ์ออกไป 3 เดือน เพื่อให้วัคซีนสร้างภูมิขึ้น แต่หากเกิดตั้งครรภ์ในช่วงนี้ก็อย่ากังวลใจ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ฟันธงว่าหากฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแล้วทิ้งระยะก่อนตั้งครรภ์ไม่ถึง 3 เดือน จะส่งผลให้เด็กเกิดมาผิดปกติ จนคุณหมอต้องยุติการตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป
การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์อันตรายแค่ไหน?
- 4 สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ ถ้าติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้สูงถึงร้อยละ 50
- ช่วงอายุครรภ์ที่ 5 ถึง 8 สัปดาห์ ถ้าติดเชื้อ ทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25
- ถ้าติดเชื้อในช่วงใกล้คลอดคืออายุครรภ์ที่ 9 ถึง 12 สัปดาห์ ความพิการของทารกมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 8
ความพิการและอาการป่วยที่พบบ่อย 13 อาการ
- ตาต้อกระจก
- ต้อหิน
- ความพิการที่หัวใจ
- หูหนวก
- ศีรษะเล็ก
- โครงสร้างสมองผิดปกติ
- ตัวเล็ก
- พัฒนาการช้า
- ตับโต
- ม้ามโต
- ตัวเหลือง
- มีจ้ำเลือดตามตัว
- เกล็ดเลือดต่ำ
สำหรับสถานการณ์โรคหัดเยอรมันในประเทศไทย จากกลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 มิถุนาน 2563 พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 30-39 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 20-29 ปี อายุน้อยกว่า 1 ปี อายุ 15-19 ปี และ อายุ 40 ปีขึ้นไปตามลำดับ อัตราส่วนเพศหญิงต่อชายเท่ากับ 1:9
จังหวัดที่พบอัตราป่วย 5 อันดับแรกได้แก่
- กระบี่
- ชัยภูมิ
- ระยอง
- สงขลา
- ชลบุรี
จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 94 ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือ ไม่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน ในครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2563 พบแนวโน้มการระบาดลดลงจากปี พ.ศ.2562 และ พบว่าระบาดในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนการระบาดของโรคในพื้นที่อื่น ๆ พบในพื้นที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
พ่อแม่จึงควรนำลูก ๆ ไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน เพราะจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุด และมั่นใจได้ว่าลูกๆ จะปลอดภัยไกลห่างจากโรคหัดเยอรมัน รวมถึงผู้หญิงที่ไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนมีบุตร เพื่อความปลอดภัยของทารกน้อยในครรภ์
อ้างอิงข้อมูล : si.mahidol.ac.th, โรงพยาบาลราชวิถี และ pidst.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
คุ้ม2ต่อ!! วัคซีน ป้องกันไอพีดี แถมบรรเทาอาการเมื่อติดเชื้อ RSV