แม้ว่ายาจำนวนไม่น้อยสามารถละลายน้ำแล้วขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกที่ดื่มนมแม่อยู่ได้ แต่ไม่ใช่ยาทุกตัวที่จะส่งผลต่อลูกน้อย ดังนั้น คุณแม่จึงควรทราบว่า เมื่อคุณแม่ไม่สบาย เป็นหวัด หรือเป็นไข้ ยาที่แม่ให้นมกินได้มีอะไรบ้าง ยาที่ไม่มีผลต่อน้ำนม ยาที่กินแล้วน้ำนมไม่หด ไม่ส่งถึงลูก และยาอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง
แม่เป็นหวัดให้นมลูกได้ไหม
หากคุณแม่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย เช่นนี้ เชื้อโรคไม่ออกทางน้ำนมค่ะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมลูก ตรงกันข้าม แม่เป็นหวัดยิ่งต้องให้ลูกกินนมแม่นะคะ เพราะหากลูกยังดูดนมแม่อยู่ เขาจะได้รับภูมิคุ้มกันเข้าไปด้วยทำให้บางครั้งลูกไม่ติดหวัดอยู่คนเดียวในบ้าน หรือถ้าเป็นก็จะแสดงอาการไม่รุนแรง หายได้เร็ว
แม่ไม่สบายลูกจะติดโรคจากนมแม่หรือไม่
หากคุณแม่ป่วยหนัก เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ภาวะกรวยไตอักเสบ ทำให้ไข้สูงหนาวสั่นจากการที่เชื้อเข้ากระแสเลือด น้ำนมที่คุณแม่ผลิตไม่ได้มีเชื้อออกมาด้วย จึงให้นมต่อได้ ไม่จำเป็นต้องปั๊มนมทิ้งค่ะ
หากคุณแม่เต้านมอักเสบ หรือเป็นฝีที่เต้านม เกิดจากการคัดเต้านม แล้วติดเชื้อ เป็นหนอง ยังสามารถให้ลูกดูดนมได้ ไม่ต้องหยุดให้นมลูกค่ะ ถึงมีเลือดปนออกมากับน้ำนม ก็ไม่เป็นไร การรักษา คือ ให้นวด ประคบอุ่น ให้ดูดหรือปั๊มออกบ่อยขึ้น ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ถ้า 24 ชม.ไม่ดีขึ้น ต้องพบแพทย์เพื่อได้รับยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อ
ห้ามให้นมแม่ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเอดส์ เพราะเชื้อออกทางน้ำนมทำให้ติดโรคได้ค่ะ หรือแม่เป็นวัณโรคปอดที่กำลังไอแพร่เชื้อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แม่เป็นหวัด ป้องกันอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อย
เพราะโรคหวัดไม่แพร่เชื้อผ่านน้ำนม แต่แพร่ได้ง่ายทางน้ำมูกน้ำลาย ถ้าไม่ป้องกันให้ดี อาจติดโรคกันทั้งครอบครัวเลยก็ได้
เมื่อคุณแม่เป็นหวัด ควรป้องกันการแพร่เชื้อดังนี้
- เวลาไอจาม ให้ปิดปากและจมูกด้วย โดยใช้ผ้าปิดปาก-จมูก
- ล้างมือบ่อยๆ ทั้งคนป่วยและไม่ป่วย เพราะลูกอาจจับมือคุณแม่ หรือจับสิ่งของที่มีเชื้อหวัดติดอยู่ เมื่อเอามือเข้าปาก เช็ดถูจมูก หรือหยิบของเข้าปาก ก็จะได้รับเชื้อและติดโรค
- งดการหอมแก้มชั่วคราว
- เวลากินอาหารให้ใช้ช้อนกลาง เพื่อไม่ให้เชื้อซึ่งติดอยู่ที่ช้อนลงไปอยู่ในจานอาหารส่วนกลาง