ให้นมลูก ท้องได้ไหม? ท้องได้อย่างไร?
แม้จะให้นมลูกอยู่ และแม้ว่าการให้นมลูกเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถคุมกำเนิดได้ แต่ก็สามารถท้องได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่ได้ผล 100% คำถามคือจะท้องได้อย่างไร? ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับวงจรของประจำเดือนกันก่อน
ประจำเดือน คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยสัมพันธ์กับการตกไข่ ในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนปกติ (รอบเดือนปกติ จะประมาณ 28 วัน) เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญหนาตัวขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ประมาณกึ่งกลางของรอบเดือน (ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน) จะมีการตกไข่จากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้ว หรือ ตัวอ่อนจะมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน หลังตกไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและต่อมต่างๆในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดจากรังไข่เช่นกัน ซึ่งสร้างมากขึ้นหลังตกไข่ คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อเจริญเป็นการตั้งครรภ์ แต่ในรอบเดือนที่ไม่มีการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตโรนจากรังไข่จะลดระดับลง ส่งผลให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก (ประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือน) กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ประจำเดือน หลังจากมีประจำเดือนแล้ว รังไข่จะเริ่มสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เริ่มต้นวงจรของการเกิดประจำเดือนใหม่ เกิดเป็นรอบเดือน หรือ ประจำเดือน วนเวียนไปเรื่อย ๆ ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์
จะเห็นได้ว่า ประจำเดือน เกิดขึ้นหลังจากไข่ตก แต่เมื่อหลังคลอด 6 เดือนไปแล้ว (หรืออาจจะนานกว่านั้น) หรือการให้ลูกดูดนมแม่นั้นไม่สม่ำเสมอ ก็อาจทำให้ฮอร์โมนโปรแลคตินลดลง จนทำให้ไข่ตกโดยไม่รู้ตัว และแม่ ๆ ก็จะไม่สามารถคำนวณได้ด้วยว่าไข่จะตกเมื่อไร เพราะหลังจากคลอดก็ยังไม่มีประจำเดือนมาเลย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้ตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ประกอบด้วย หากยังไม่พร้อม
การคุมกำเนิดของแม่ให้นม
การคุมกำเนิดหลังคลอดนั้น สามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กัน มีดังนี้
-
ยาเม็ดคุมกำเนิด
ในยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไปจะมีฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิดรวมกัน คือเอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน สำหรับสัดส่วนของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดที่นำมาผสมกันมีได้หลากหลายเพื่อให้เหมาะกับผู้หญิงแต่ละคนที่มีการตอบสนองต่อยาไม่เท่ากัน
ในคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกอยู่ควรรับประทาน ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือถ้าไม่มีเลยก็จะยิ่งดี เพราะฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้การสร้างน้ำนมน้อยลง
2. ห่วงคุมกำเนิด
ห่วงคุมกำเนิดเป็นห่วงที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกจะไปขัดขวางไม่ให้ตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกและเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลก็คือจะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น การใส่ห่วงในคุณแม่หลังคลอดต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเมื่อใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว จะสามารถคุมกำเนิดได้จนกว่าจะถอดห่วงคุมกำเนิดออก
3. ถุงยางอนามัย
การใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิผลดี หาซื้อได้ง่าย และสะดวก จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักเลือกใช้
การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงให้นมลูกอยู่นั้น สามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ควรตระหนักไว้ว่าการให้นมอยู่นั้น ไม่สามารถคุมกำเนิดได้ 100% จึงควรหาวิธีคุมกำเนิดร่วมด้วย หากยังไม่พร้อมค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิธีคุมกำเนิด แบบไหนมีสิทธิภาพและปลอดภัย ถ้าแม่ยังไม่พร้อมมีลูกคนที่ 2
หน้า 7 หลัง 7 คุมกำเนิดแบบนับระยะปลอดภัยได้ผลจริงหรือ?
ให้ลูกกิน นมผงผสมนมแม่ ในขวดเดียวกันได้หรือไม่?
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, haamor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่