อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ หรือ คนท้องปวดท้องน้อย เป็นอาการปกติที่คนท้องทุกคนต้องเจอหรือไม่? ปวดท้องแบบไหนอันตรายต่อเด็กในท้อง? อาการแบบไหนเสี่ยงแท้ง? อ่านต่อที่นี่
คนท้องปวดท้องน้อย อาการแบบไหนเสี่ยงแท้ง?
อาการปวดท้อง เกิดขึ้นได้บ่อยแม้แต่กับคนทั่วไป โดยอาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการปวดท้องเหล่านี้หากเกิดขึ้นขณะที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ เราจะสามารถดูอาการต่อไปได้หากอาการปวดยังไม่รุนแรง และยังสามารถเดาได้ว่าอาการปวดท้องนี้เกิดขึ้นในตำแหน่งใด แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้ว เมื่อคนท้องมีอาการปวดท้อง แม้จะไม่ใช่อาการปวดที่รุนแรงมากนัก แต่ก็อดทำให้แม่ ๆ กังวลใจไม่ได้ อีกทั้งร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้คาดเดาตำแหน่งของการปวดท้องได้ยาก ว่าตำแหน่งที่ปวดนั้น เกี่ยวข้องกับทารกในครรภ์หรือไม่? และอาการปวดท้องนั้น ๆ อันตรายต่อลูกแค่ไหน?
คนท้องปวดท้องน้อย เกิดจากอะไร?
การที่ คนท้องปวดท้องน้อย เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากการที่ตัวอ่อนทารกกำลังมีการฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก ประกอบกับการขยายตัวของมดลูก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่อาการจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันหรืออาจเป็นสัปดาห์ได้ โดยระดับความปวดมากหรือปวดน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ เช่น การเดินบ่อย ๆ การออกกำลังกายที่มากเกินไป การขึ้นลงบันไดหรือการเคลื่อนไหวเร็วจนเกินไป แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง แต่หากมีเพศสัมพันธ์ หรือทำงานหนักก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้องได้มากขึ้น
ควรจะทำอย่างไร เมื่อมีอาการปวดท้อง
- เมื่อเกิดอาการปวดบริเวณท้องน้อย ควรหยุดที่จะทำกิจกรรมทุกอย่างอยู่ทันที แล้วนั่งหรือนอนพักให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น จนอาการปวดทุเลาลง
- หากมีอาการปวดน้อยระหว่างการนอน ให้ลองปรับเปลี่ยนท่าทางการนอนจากนอนหงายให้ลองนอนตะแคงซ้ายหรือขวา
- การใช้หมอนหนุนบริเวณหลังขณะนั่ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- อาบน้ำอุ่น สามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
- การใช้มือลูบวนบริเวณหน้าท้อง สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้
- ถ้าเกิดมีอาการปวดมาก หรือมีมีเลือดออกควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ แม้สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่ก็ยังไม่อยากให้คุณแม่นิ่งนอนใจนะคะ หากเกิดอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปวดเป็นจังหวะเดี๋ยวปวดเดี๋ยวหาย ปวดแบบเจ็บจิ๊ด แนะนำให้คุณแม่หยุดการทำกิจกรรมที่หนัก ๆ ไปก่อน และคอยสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากอาการปวดไม่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้ปวดตลอดเวลา ไม่มีเลือดออกจากช่องคลอด รวมถึงไม่มีอาการของสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด เป็นต้น ก็ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด แต่หากอาการปวดท้องเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดตลอดเวลา หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์นั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุหากได้ปรับพฤติกรรม อาการปวดท้องก็จะหายไป แต่บางสาเหตุก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ปลอดภัย ดังต่อไปนี้
-
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
แม่ท้องเสี่ยงต่อการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบสูง เนื่องจากระดับฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมามากขึ้น ทำให้มัดกล้ามเนื้อของท่อไตคลายตัว ประกอบกับขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนบีบท่อไต ส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานได้ช้าลง นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์มักมีกระเพาะปัสสาวะหย่อน จึงปัสสาวะไม่ค่อยสุดและอาจมีน้ำปัสสาวะไหลย้อนเข้าท่อไตและไตได้ ส่งผลให้เชื้อโรคและแบคทีเรียค้างอยู่บริเวณกระเพาะปัสสาวะและเข้าสู่ไต ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะไตติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งน้ำปัสสาวะในช่วงตั้งครรภ์มีความเป็นกรดน้อยและอุดมไปด้วยกลูโคส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบตามมาได้ง่าย โดยแม่ท้องที่มีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะมีอาการดังนี้
- ปวดบริเวณท้องน้อย
- รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ หรือเมื่อปัสสาวะกำลังจะเสร็จ
- มีไข้ หนาวสั่น
- รู้สึกเหนื่อย เพลีย
- ปัสสาวะบ่อย
- มีเลือดออกจากปัสสาวะ
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อลูกในครรภ์ต่อไป
อ่านต่อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในสตรีมีครรภ์ เรื่องที่คุณแม่ท้อง ต้องระวัง
2. มีแก๊สในท้องมาก ท้องอืด
อาการท้องอืด คือภาวะที่เกิดอาการแน่นท้อง เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหาร จนทำให้ท้องดูมีลักษณะบวม ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย แต่อาการปวดจะไม่มาก และตำแหน่งที่ปวดมักเคลื่อนที่ได้ตามการเคลื่อนที่ของแก๊สในท้อง และอาการจะดีขึ้นเมื่อ เรอ หรือ ผายลม ซึ่งอาการท้องอืดในคนท้อง เกิดจาก
- ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน (Progesterone) ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายไปทั้งร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อในระบบการย่อยอาหารด้วย จึงเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทำงานได้ช้าลงจนเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ มดลูกขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ ซึ่งการขยายตัวนี้ได้ไปเบียดอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึง ลำไส้ กระเพาะอาหาร กระบังลม การถูกกดทับนี้ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่สะดวก ย่อยอาหารได้ช้าลง จนทำให้เกิดแก๊สในท้องได้
อ่านต่อ ไขข้อข้องใจ คนท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ทำไงดี?
3. ท้องนอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หมายถึงการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วนอกโพรงมดลูก ร้อยละ 95 เกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ นอกจากนั้นอาจพบได้ที่รังไข่ ปากมดลูก และในช่องท้อง พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-0.75 หรือประมาณ 1 : 125 ถึง 1 : 200 ของการคลอดทั้งหมด และเป็นสาเหตุทำให้มารดาเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ดังนั้น คุณแม่จึงควรสังเกตอาการ คนท้องปวดท้องน้อย ดี ๆ ว่าเกิดจากสาเหตุนี้หรือไม่ โดยอาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก มีดังนี้
- ความเจ็บปวดที่รุนแรงในช่องท้องกระดูกเชิงกราน ไหล่ หรือคอ
- อาการปวดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของช่องท้อง
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- รู้สึกเวียนศีรษะหรือคล้ายจะเป็นลม
- ความดันทางทวารหนัก
หากมีอาการดังกล่าว ควรติดต่อแพทย์หรือขอรับการรักษาทันทีฃ
อ่านต่อ ทำไมถึง ตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องนอกมดลูก รู้เร็ว แม่รอด
4. เจ็บท้องหลอก
อาการเจ็บท้องหลอก มักเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด การเจ็บท้องหลอก หรือเรียกว่า เจ็บท้องลวง (False Labor) คือ การเจ็บท้องที่ไม่มีการคลอดลูกตามมา ซึ่งจะมีการหดตัวของมดลูกที่ไม่สม่ำเสมอประมาณวันละ 2-3 ครั้ง ไม่มีเลือดออก และถุงน้ำคร่ำแตกไหลออกมาจากช่องคลอด แม่ท้องอาจรู้สึกว่าปวดท้อง ปวดหลังได้
สำหรับอาการเจ็บครรภ์ลวงจะเป็นได้ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ ซึ่งการเจ็บครรภ์หลอกคุณแม่ท้องจะเจ็บถี่ขึ้น 6-8 ครั้ง/วัน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่หากเจ็บครรภ์และมีมดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอทุก 10 นาที หดรัดตัวนานครั้งละมากกว่า 30 วินาที ถือว่าเข้าข่ายเจ็บท้องจริง
อ่านต่อ เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง แม่ท้องใกล้คลอดจะรู้ได้อย่างไร ?
5. คลอดก่อนกำหนด
โดยปกติในระยะตั้งครรภ์เกิน 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดตัวเบา ๆ เป็นพัก ๆ ไม่รู้สึกเจ็บปวด (อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กโก่งตัว) เป็นการฝึกหัดตัวเองของมดลูกที่จะบีบตัวเมื่อถึงกำหนดคลอด การหดตัวของมดลูกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีการหดตัวบ่อย ๆ ถี่เกินไป ท้องตึงแข็งอยู่เป็นเวลานาน และมีอาการอื่นร่วมด้วย ก็แสดงว่าอาจจะมีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
อาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่อาจคลอดก่อนกำหนด ได้แก่
- มีอาการปวดท้อง แบบผิดปกติ เช่น ปวดท้องตื้อ ๆ บริเวณช่วงล่าง ปวดบริเวณท้องน้อยคล้าย ๆ กับอาการปวดประจำเดือน
- ท้องเสียหรือลำไส้บิดตัวมากกว่าปกติ
- มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรง และบีบรัดตัวถี่มาก รู้สึกมีแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกราน ขาหรือหลัง
- ปวดหลังมาก และอาการปวดหลังไม่หายไป
- มีมูกเลือด
- มีน้ำเดิน หรือมีน้ำคร่ำออกจากช่องคลอด
หากคุณแม่มีอาการอย่างนี้แล้วก็มักจะคลอดภายใน 24 ชั่วโมง โดยแพทย์อาจจะต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพราะว่าการที่ถุงน้ำแตก มีน้ำเดินแล้วยังไม่คลอด จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในถุงน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างมาก
อ่านต่อ คลอดก่อนกำหนด เรื่องที่แม่ท้องต้องรู้สาเหตุและวิธีป้องกัน
แม้ว่า คนท้องปวดท้องน้อย ที่เกิดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่อันตราย สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่อยากให้คุณแม่วางใจไปค่ะ เพราะอาการปวดท้อง อาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ไม่อันตรายก็เป็นได้ ดังนั้น หากคุณแม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีอาการปวดมากขึ้น มีเลือดออกจากทางช่องคลอด ก็ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.medicalnewstoday.com, www.pobpad.com, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, worldwideivf.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่