(ต่อ) อาการของคนท้อง ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนคลอด มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
อาการของคนท้อง 2 เดือน
สำหรับการตั้งครรภ์ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะแสดงออกเด่นชัดมากขึ้น โดยอาการสำคัญที่บ่งบอกว่าแพ้ท้อง คือ แพ้ตอนตื่นนอน หรือที่เรียกว่า Morning Sick คือ รู้สึกมันศีรษะ เวียนหัว คลื่นไส้ในตอนเช้าๆ หลังตื่นนอน หรือเวลาลุกจากที่นอน ในขณะที่บางคนอาจเกิดอาการได้ตลอดวัน โดยเฉพาะเวลาท้องว่าง จึงอาจทำให้คุณแม่วิงเวียน เป็นลมเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งมีคุณแม่หลายท่านที่มีอาการแพ้ท้องมากจนน้ำหนักตัวลด หากรู้สึกว่าอาเจียนมาก กินอะไรไม่ได้เลย ควรไปปรึกษาคุณหมอ … โดย อาการของแม่ท้อง ในเดือนที่ 2 จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- อยากกินของแปลกๆ หรือกินอาหารไม่ลง หนึ่งใน อาการของคนท้อง ที่พบได้เกือบทุกคนคือมักมีอาการอยากกินอาหารแปลกๆ ที่ไม่ค่อยเคยได้กิน หรือบางคนมักกินอาหารไม่ลงในช่วงนี้ เป็นเพราะฮอร์โมนที่สูงขึ้นในขณะตั้งครรภ์ช่วงแรกๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่ค่อยรับรู้รสชาติ กินอะไรไม่ค่อยอร่อย เบื่ออาหาร ดังนั้นคุณแม่จึงต้องพยายามดูแลตัวเองเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งหากรู้สึกไม่อยากกินก็ควรกินทีละน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ โดยไม่ขาดอาหาร
- อาการเหม็น บางคนอาจมีความรู้สึกเหม็นกลิ่นที่คุ้นเคย หรือเหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด เช่น กลิ่นกระเทียม กินผักบางอย่าง ทั้งๆ ที่เคยดมหรือเคยกินได้ แต่ตอนท้องช่วงนี้กลับรู้สึกได้กลิ่นทีไรอาจอาเจียนทุกที แถมคุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกเหม็นกลิ่นคุณพ่อได้อีกด้วย
Must read >> สามีแพ้ท้องแทนภรรยา สาเหตุเกิดจากอะไร?
- อารมณ์แปรปรวน ทั้งอารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า และอ่อนล้า จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ 2 ได้ง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่างๆ ร่วมกับความกังวลใจในการดูแลครรภ์และอื่นๆ ดังนั้นหากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยควรพักผ่อนหย่อนใจ ไม่เครียด ทำกิจกรรมที่สร้างความสุข และหาเวลาไปเดินเที่ยวในสถานที่อากาศดีๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายมีความสุขขึ้น
อาการของคนท้อง 3 เดือน
ตั้งครรภ์ 3 เดือน คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มแพ้ท้องน้อยลง หรือบางคนยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ แต่จะมีอาการที่ดีมากขึ้น เพราะฮอร์โมนเริ่มปรับสภาพให้สมดุลมากขึ้นแล้ว โดย อาการแม่ท้อง เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- อ่อนไหวง่าย คุณแม่ยังคงมีอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย ด้วยเพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และความกังวลใจต่างๆ แต่อารมณ์ที่แปรปรวน อ่อนไหวง่าย เศร้าง่ายของคุณแม่ช่วงนี้จะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 4
สิ่งที่แม่ท้องอ่อน ควรระวัง!!
หลีกเลี่ยงสารเคมีอันตราย >> คุณแม่ท้องไตรมาสแรก ควรหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตรายซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ได้ เช่น สีทาบ้าน ยาฆ่าแมลง ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายที่อาจทำให้ลูกพิการได้
นอกจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิดยังมีสารอันตรายที่ทำมาจากสารเคมี เช่น คลอรีน แอมโมเนีย และอื่นๆ ที่มีผลช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก ซึ่งสารเคมีเหล่านี้อาจไปบั่นทอนสุขภาพลูกน้อยในครรภ์ได้ ดังนั้นหากคุณแม่หลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรไปสัมผัส หรือสูดดมน้ำยาเหล่านั้นโดยตรง และงดใช้งาน โดยให้คนอื่นสัมผัสหรือใช้งานแทนจะดีที่สุด
อาการของคนท้อง 4 เดือน
มาสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 4 แล้ว ก็ขอยินดีกับคุณแม่ที่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นครั้งแรก เพราะลูกน้อยเติบโตและเก่งขึ้นจนเคลื่อนไหวไปมาได้มากยิ่งขึ้น โดยคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- หน้าท้องขยายใหญ่ หน้าท้องคุณแม่เริ่มขยายขนาดและโตขึ้น ซึ่งในช่วงนี้มดลูกจะลอยสูงขึ้นจากอุ้งเชิงกรานเข้าสู่ช่องท้องทำให้คุณแม่สามารถคลำยอดมดลูกได้
- รู้สึกได้ว่าลูกดิ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนที่ 4 คุณแม่จะมีความรู้สึกตื่นเต้นยินดีเป็นครั้งแรก เพราะรู้สึกได้แล้วว่าลูกดิ้นโดยจะเป็นความรู้สึกเหมือนมีปลามาตอดตุบๆ อยู่ในท้องนั่นเอง
- หัวใจเริ่มทำงานหนัก นั่นก็เพื่อรองรับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นมากในร่างกาย เนื่องจากอวัยวะส่วนต่างๆ ที่สำคัญ เช่น มดลูก ผิวหนัง และอื่นๆ ในร่างกายคุณแม่จะต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัวเลยค่ะ
อาการของคนท้อง 5 เดือน
หลังจากในเดือนที่ผ่านมาคุณแม่จะได้ตื่นเต้นกับการดิ้นครั้งแรกของลูกแล้ว การตั้งครรภ์เดือนที่ 5 นี้คุณแม่ท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง มาดูกัน
- ท้องใหญ่ ผิวพรรณเปลี่ยนไป ช่วงนี้คนอื่นๆ จะสังเกตได้ชัดเจนแล้วว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เพราะท้องคุณแม่จะใหญ่ เอวจะหายไปชัดเจน แถมยังมีริ้วรอยที่หน้าท้องหรืออาการท้องลายเกิดขึ้นได้บ้างแล้ว นอกจากนี้ผิวหนังตามบริเวณต่างๆ ของคุณแม่เช่น ใบหน้า แขน ไหล่ จะปรากฏให้เห็นเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มองดูเหมือนเป็นตาข่ายใยแมงมุม แต่รอยเส้นเลือดฝอยที่เด่นชัดนี้จะหายได้เองหลังคลอด
- ท้องผูก อาการท้องผูก เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนที่ทำให้ระบบการย่อยเปลี่ยนไป ร่วมกับกระเพาะอาหารและลำไส้ถูกเบียดถูกกดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น
- ระบบเผาผลาญ ทำงานมากขึ้น ในช่วง ตั้งครรภ์ 5 เดือน คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองขี้ร้อนและเหงื่อออกง่าย สาเหตุเกิดจากระบบเผาผลาญหรือสันดาปในร่างกายที่ทำงานมากขึ้น รวมถึงต่อมไทรอยด์ที่ทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้คุณแม่รู้สึกร้อนง่าย เหนื่อยง่าย หายใจหอบเป็นบางครั้ง ดังนั้น หากรู้สึกร้อนเมื่อไร ควรนั่งพักในสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เปิดเครื่องปรับอากาศนั่งผ่อนคลาย หรืออาบน้ำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้
อาการของคนท้อง 6 เดือน
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยมีอาการต่างๆ ที่อาจมาทำให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิดใจ แต่ทุกอย่างมีวิธีแก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงได้แน่นอน ดังนี้
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่วงนี้อาจมีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ เกิดจากกล้ามเนื้อในทางเดินระบบปัสสาวะหย่อนตัวลงได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้พียงพอ ไม่อั้นปัสสาวะ และหารู้สึกปัสสาวะแสบขัด ควรไปพบแพทย์
- รู้สึกแสบกระเพาะอาหาร เนื่องจากกรดที่ช่วยย่อยอาหารในกระเพาะของคุณแม่ลดน้อยลง ทำให้อาหารยังคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น นอกจากนี้เวลาที่ลูกดิ้นยังทำให้เกิดการกดทับของกระเพาะอาหาร เกิดเป็นกรดไหลย้อนจนทำให้คุณแม่รู้สึกแสบร้อนกระเพาะอาหาร และอาจมีอาการท้องผูกร่วมได้อีกด้วย
- ปวดชายโครง เพราะขนาดของท้องคุณแม่ที่ใหญ่ขึ้นจนเข้าใกล้ชายโครง จึงทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บปวดและเสียดชายโครงด้านใดด้านหนึ่งได้
- น้ำหนักขึ้นเร็ว ช่วงนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักขึ้นรวดเร็วกว่าในช่วง 3 เดือนแรกค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักขึ้นถึงประมาณสัปดาห์ละ ½ กิโลกรัมเลยทีเดียว โดยลูกน้อยจะแบ่งน้ำหนักของคุณแม่ในช่วงเดือนที่ 4-5-6 นี้ประมาณ 1 กิโลกรัม นอกนั้นจะเป็นน้ำหนักของรก น้ำคร่ำ น้ำหนักของเต้านมที่ขยาย น้ำหนักของมดลูก รวมทั้งปริมาณเลือดและน้ำในร่างกายคุณแม่ที่เพิ่มมากขึ้น
- ตะคริว คุณแม่ตั้งครรภ์ 5-6 เดือนขึ้นไป มักจะเริ่มมีอาการตะคริว ที่เกิดจากการหดรัดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา และปลายเท้า ซึ่งจะเป็นได้บ่อยเวลากลางคืน สาเหตุเกิดจากคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ และอาจยืนหรือเดินมากเกินไป วิธีแก้ไขคือ เมื่อเป็นตะคริวควรรีบกระดกปลายเท้าขึ้น เพื่อให้กล้ามเนื้อที่จับตัวแข็งเป็นก้อนคลายตัวและเหยียดออก รวมทั้งควรดื่มนมหรือกินอาหารที่มีแคลเซียมให้มากเพียงพอ
- เส้นเลือดขอด เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทำให้มดลูกขยายใหญ่ จนไปกดทับหลอดเลือดดำในช่องท้อง ส่งผลให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น และหลอดเลือดเล็กๆ บริเวณโคนขาและน่องของคุณแม่ โป่งพอง จนเห็นเป็นเส้นเลือดขอด วิธีการดูแลหรือป้องกันคือ ไม่นั่งหรือยืนห้อยขานานๆ และเวลานอนควรหนุนเท้าให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับมาที่หัวใจได้ดีขึ้น
- ท้องอืด แน่นท้อง เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปขณะตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหารในร่างกายคุณแม่ ทำให้ย่อยอาหารได้ช้าลง หรือใช้เวลานานขึ้น หลังอาหารคุณแม่จึงมักมีอาการแน่นท้องท้องอืดง่าย จึงควรป้องกันแก้ไขด้วยการกินอาหารที่ย่อยง่าย กินในปริมาณน้อยๆ ในแต่ละครั้ง แต่แบ่งเป็นทานหลายๆ มื้อ เพื่อไม่ให้รู้สึกแน่นท้องหรือท้องอืด เพราะอาหารไม่ย่อย
- ปวดเสียดท้องน้อย เกิดจากการที่มดลูกของคุณแม่มีอาการหดเกร็ง เพราะคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถในทันทีทันใด เช่น ลุกนั่งเร็วๆ หรือยืนทันที ทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดเสียดบริเวณท้องน้อย
- ผิวคล้ำ มีเส้นดำกลางท้อง ผิวพรรณของคุณแม่ท้องช่วงนี้อาจจะมีสีคล้ำขึ้น ใบหน้าดูคล้ำขึ้น หรือมีฝ้า กระขึ้น มีรอยดำตามข้อพับ รักแร้ และเริ่มเห็นเส้นดำกลางท้องที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเส้นดำใต้สะดือลงไป
อ่านต่อ >> อาการของคนท้องไตรมาสสุดท้าย
(7-9 เดือน) พร้อมวิธีรับมือ คลิกดูหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่