“ในช่องคลอดแม่มีแบคทีเรียที่ดีอยู่ คอยควบคุมไม่ให้แบคทีเรียไม่ดีเข้ามาแทรกแซง เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดจะได้สัมผัสกับแบคทีเรียนี้ เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดตามปกติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดถึง 3 เท่า”
ในส่วนผลกระทบต่อลูก ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน
1. การคลอดตามปกติที่เด็กผ่านช่องคลอดออกมา ปอดของเด็กจะถูกรีด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Squeeze ผ่านช่องคลอดของแม่ ทำให้มูก เสมหะ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในลำคอเด็กถูกขับออกมา เลยมีโอกาสที่จะหายใจเป็นปกติได้ดีกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดซึ่งไม่ผ่านกระบวนการนี้ ดังนั้นเด็กที่ผ่าท้องคลอดจะมีโอกาสต้องช่วยหายใจ และมีโอกาสขาดออกซิเจนได้มากกว่า
2. ช่วงหลังมานี้มีอีกทฤษฎีที่มีข้อมูลรองรับมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในช่องคลอดแม่มีแบคทีเรียที่ดีอยู่ คอยควบคุมไม่ให้แบคทีเรียไม่ดีเข้ามาแทรกแซง เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดจะได้สัมผัสกับแบคทีเรียนี้ เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่คลอดตามปกติมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดถึง 3 เท่า
3. ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเต็ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูก ทำให้โอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตและติดเชื้อน้อยลง เกิดความใกล้ชิดผูกพันระหว่างแม่กับลูก ถ้าคลอดแบบปกติ หลังคลอดเรานำลูกมาให้แม่อุ้มได้ทันทีตั้งแต่นาทีแรก ความผูกพันก็เกิด แล้วให้ดูดนมได้เลย
จุดครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดมีความสำคัญมาก ต้องรีบให้ลูกได้ดูดนมแม่ การให้ลูกดูดนมจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมน โปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมามากขึ้น ยิ่งดูดช้าฮอร์โมนก็หลั่งช้า แม่ที่คลอดลูกแบบปกติจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า เพราะในการผ่าท้องคลอด แม่ต้องดมยาสลบ อาจไม่สามารถอุ้มและให้นมลูกได้ทันที
“อัตราผ่าท้องคลอดในประเทศไทยสูงเกิน 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เดี๋ยวนี้มีการผ่าท้องคลอดกันมาก ถึงขนาดมีคลินิกเฉพาะสำหรับฝากท้องคลอดแบบผ่าคลอดเลยอย่างเดียว บางโรงพยาบาลในไทยตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70%”
ทิศทางการผ่าท้องคลอดทั่วโลก
ภาพรวมการผ่าท้องคลอดขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศด้วย ประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีก็จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง เพราะมีทรัพยากรทางการแพทย์ที่ดี ทั้งหมอ ยา อุปกรณ์ และบุคลากรต่างๆ ฉะนั้น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งเอเชีย จะมีอัตราการผ่าท้องคลอดมากกว่าในแถบแอฟริกา
ตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 15-20% ถ้าดูจากแผนที่แสดงอัตราการผ่าท้องคลอดของโลกปี 2016 จะเห็นว่า พวกที่มีอัตราสูงๆ ก็จะมีอเมริกาเหนือ เอเชีย อเมริกาใต้นี่หนักกว่าเพื่อน ส่วนแอฟริกาจะน้อยที่สุด บราซิลเป็นแชมป์ มีอัตราการผ่าท้องคลอดประมาณ 70-80
แต่จากภาพ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อังกฤษ มาเลเซีย และที่น่าสนใจมากคือ ญี่ปุ่น มีอัตราการผ่าท้องคลอดไม่สูง ในกลุ่มสแกนดิเนเวียและญี่ปุ่นมีอัตราไม่ถึง 20% แต่ความปลอดภัยของแม่และลูกก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นที่มีอัตราการผ่าคลอดสูงเลย
เมื่อปี 1985 องค์การอนามัยโลกได้ออก WHO Statement บอกว่าอัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกิน 15% โดยอัตรานี้คิดมาจากความจำเป็นในการผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิตแม่และลูก การผ่าท้องคลอดในอัตราเกิน 15% ไม่ได้ช่วยให้แม่และลูกมีชีวิตรอดมากขึ้น
ผ่านมา 30 ปีเต็ม จนถึงปี 2015 องค์การอนามัยโลกเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาประชุมกันอีกครั้ง รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหลายพบว่า อัตราการผ่าท้องคลอดที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 10% น้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อมาดูสภาพที่เป็นอยู่ เราจึงมีการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก
“โดยทั่วไปหมอได้เงินมากกว่าเวลาผ่าท้องคลอด เพราะถือว่าเป็นหัตถการที่ทำยากกว่าคลอดปกติ ในมุมของผู้ให้บริการ รายได้ที่มากกว่าก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หมออยากผ่าคลอด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน”
ทิศทางการผ่าท้องคลอดในประเทศไทย
ประเทศไทยก็เลียนแบบประเทศตะวันตก เราผ่าท้องคลอดกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ 5% เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน จนปัจจุบัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า อัตราผ่าท้องคลอดในประเทศไทยสูงเกิน 30% นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
เดี๋ยวนี้มีการผ่าท้องคลอดกันมาก ถึงขนาดมีคลินิกเฉพาะสำหรับฝากท้องคลอดแบบผ่าคลอดเลยอย่างเดียว บางโรงพยาบาลในไทยตอนนี้อัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70%
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
1. “ความไม่รู้” นี่เป็นสาเหตุที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ประชาชนทั่วไปรวมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุขบางส่วนด้วยซ้ำคิดว่าการผ่าท้องคลอดปลอดภัย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น สังคมไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็กในระยะยาว
2. “ความสะดวก” ผ่าท้องคลอดสะดวกกว่า นัดวันนัดเวลาได้ เอาตามฤกษ์ก็ได้ด้วย สะดวกทั้งหมอทั้งคนไข้ ถ้าคลอดตามปกติรอให้เจ็บท้องคลอดเองก็ไม่รู้จะเจ็บเมื่อไหร่ ผ่าท้องคลอดไม่ต้องมารอให้เจ็บท้อง สภาพสังคมหลายอย่างตอนนี้ก็ยิ่งผลักดันให้เลือกเอาตามสะดวก อย่างในกรุงเทพฯ บางทีหมอรถติด ถ้ารอเจ็บท้องคลอดเอง หมออาจจะมาทำคลอดไม่ทัน การผ่าท้องคลอดช่วยให้ทั้งหมอและแม่บริหารจัดการเวลาได้แน่นอนขึ้น
รู้ไหมว่าในปัจจุบันเด็กเกิดวันอะไรมากที่สุด คำตอบคือวันศุกร์ … เพื่อให้จัดการเวลาได้ ส่วนใหญ่หมอจะให้ผ่ากันวันศุกร์เลย จะได้ไม่ต้องติดเสาร์-อาทิตย์
3. “กลัวเจ็บ” เจ็บท้องคลอดแบบปกติ มันเจ็บจริงๆ แต่อย่าลืมว่าผ่าตัดก็เจ็บเหมือนกัน ปวดแผล จริงๆ อาจปวดมากกว่าด้วยซ้ำไป
4. “แรงจูงใจด้านรายได้และการจัดการของโรงพยาบาล” โดยทั่วไปหมอได้เงินมากกว่าเวลาผ่าท้องคลอด เพราะถือว่าเป็นหัตถการที่ทำยากกว่าคลอดปกติ ในมุมของผู้ให้บริการ รายได้ที่มากกว่าก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หมออยากผ่าคลอด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน มิหนำซ้ำยังควบคุมจัดการเวลาได้ดีกว่าด้วย แต่ตอนนี้ก็มีบางโรงพยาบาลที่เริ่มเห็นความสำคัญของการคลอดตามธรรมชาติแล้ว ก็จะให้ค่าหมอไม่ต่างกัน
5. “สิทธิการรักษาพยาบาลและการประกันสุขภาพ” ประเด็นนี้ก็ส่งผลสำคัญ ในบางประเทศสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคมจะไม่รวมการผ่าท้องคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แต่ของไทยยังรวมหมดเลย ไม่ได้แยก ทั้งในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนในกรณีของการเบิกค่ารักษาพยาบาลของระบบราชการ ยิ่งเห็นได้ชัด แต่เดิมข้าราชการที่คลอดโรงพยาบาลเอกชนสามารถเบิกค่ารักษาจากการผ่าท้องคลอดได้ส่วนหนึ่ง กลายเป็นว่าข้าราชการไปผ่าท้องคลอดกันตั้ง 80% เมื่อกรมบัญชีกลางมาตรวจสอบ เลยเปลี่ยนใหม่ให้เบิกได้เฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น
“การผ่าท้องคลอดเป็นสิ่งที่ดี อาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี แต่ในกรณีที่ผ่าโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ขอให้คิดให้ดีๆ ก่อนที่จะเลือกผ่าท้องคลอด”
ทางออกของประเทศไทย
มาตรการหลายอย่างอาจทำได้ยากในประเทศไทย เช่นเรื่อง group practice หรือ second opinion แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากเรื่องแรกคือ ต้องให้ความรู้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปถึงข้อดีข้อเสียของการผ่าท้องคลอด ข้อดีมีอยู่ มีประโยชน์มากเพราะช่วยชีวิตแม่และลูกได้ในกรณีที่จำเป็น แต่ควรทำเฉพาะรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
นอกจากนั้น การดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์และในกระบวนการคลอด กับการลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็นลง เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอยู่ เรื่อง companionship และการเตรียมตัวแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าจะสามารถลดการผ่าท้องคลอดลงได้มาก
สำหรับประเทศไทย ตอนนี้เรามีโครงการ “โรงเรียนพ่อแม่” เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้าร่วมได้สองครั้ง ครั้งแรกตอนฝากครรภ์ เพื่อเป็นการเตรียมตัว เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ว่าต้องทำอะไรบ้าง และครั้งที่สอง เป็นการเตรียมตัวก่อนการคลอด แนะนำว่าการเข้าห้องคลอดจะเป็นอย่างไร จะเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งจะมีการเชิญสามีหรือญาติเข้ามาด้วย ให้รู้ว่าถ้าเขาเข้าไปจะช่วยอะไรได้บ้าง
นอกจากนั้น ยังมีโครงการของคุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เรียกว่า “โครงการจิตประภัสสร” ช่วยเตรียมจิตใจของแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ให้ดีขึ้น เตรียมตัวแม่ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ รวมทั้งทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น
โครงการทำนองนี้ยังต้องขยายไปอีกมาก เพราะยังจำกัดอยู่กับแค่คนบางกลุ่ม และในทางปฏิบัติผมไม่แน่ใจว่าจะมีการลงมือทำกันจริงมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงระบบ อาจต้องมีวิธีการต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ญาติเข้าไปในห้องคลอดด้วย การกำกับด้านการเงินโดยการลดงบประมาณของโรงพยาบาลที่มีอัตราการผ่าท้องคลอดสูง
อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถลดอัตราการผ่าท้องคลอดลงได้ทันทีทันใดจนเหลือ 10% ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่น่าจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยังต้องทำงานกันอีกมาก
สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ผมอยากให้มองว่า กระบวนการคลอดไม่ใช่แค่เรื่องการเกิด แต่เป็นเรื่องของชีวิต เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทั้งแม่และลูก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกที่คุณรักในอนาคตด้วย การผ่าท้องคลอดเป็นสิ่งที่ดี อาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี แต่ในกรณีที่ผ่าโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ขอให้คิดให้ดีๆ ก่อนที่จะเลือกผ่าท้องคลอด
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ผ่าคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ แบบไหนดีกว่ากัน?
- ดูแลแผลผ่าคลอด 11 วิธี สำหรับคุณแม่มือใหม่
- แผลผ่าคลอด แนวนอนกับแนวตั้งต่างกันอย่างไร และแบบไหนดีกว่ากัน!
- แพ็คเกจค่าคลอด โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 2560
ขอบคุณข้อมูลจาก : ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง/กนกวรรณ ศรีสุวัฒน์ ภาพ www.the101.world