คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม แม่ท้องทำงานดึก ทำงานหนัก - Amarin Baby & Kids
คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม

คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม อันตรายแค่ไหนถ้าแม่ท้องทำงานดึก ทำงานหนัก

Alternative Textaccount_circle
event
คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม
คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม

คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม หญิงตั้งครรภ์ ทำงานดึก ทำงานหนัก ส่งผลอะไรได้บ้าง

ไขข้อข้องใจ คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม

แม่ ๆ หลายคน แม้จะรู้ตัวแล้วว่าตั้งครรภ์ แต่ด้วยภาระหน้าที่และการทำงาน ทำให้หลีกเลี่ยงการทำงานเป็นกะได้ยาก แต่ใจลึก ๆ ก็เป็นห่วงเจ้าตัวน้อยในท้องอยู่ดีว่า ลูกจะปลอดภัยหรือไม่ และการทำงานเป็นกะจะส่งผลกระทบต่อแม่ตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง

ในด้านกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้ระบุถึงการใช้แรงงานหญิงมีครรภ์ว่า

1.ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิง ที่มีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00น.-06.00น. ทำงานล่วงเวลาทำงานในวันหยุดหรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขาเว้นแต่ลักษณะของงาน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือ ร่างกายของลูกจ้างหญิงนั้น
  • งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
  • งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
  • งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
  • งานที่ทำในเรือ
  • งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงานหรือชั่วโมงทำงาน ของลูกจ้างหญิงที่ทำงานในระหว่างเวลา 24.00 น.- 06.00 น. ได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างหญิงนั้น

2.ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิขอ ให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการ ชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ กรณีที่มีใบรับรองแพทย์ แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้

3.ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

หากพบปัญหาสามารถร้องเรียน โดยกรอกเอกสารคร. 7 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน

สำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องทำงานเป็นกะ จำเป็นที่จะต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในระหว่างการทำงานเป็นสำคัญ

หญิงตั้งครรภ์ทำงานเป็นกะ อันตรายแค่ไหน

เพจพบหมอเต้ ได้มาไขข้อข้องใจ เรื่องการทำงานเป็นกะ ส่งผลอย่างไรกับการตั้งครรภ์ ว่า จากการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานเป็นกะอยู่หลายต่อหลายท่าน และด้วย Common Sense คนทำงานเป็นกะไม่ได้นอนกลางคืน ต้องมีการทำงานในช่วงที่ควรพัก ก็มักจะมีมดลูกบีบตัวก่อนกำหนด

ผลวิจัยชี้ทำงานเป็นกะ ทำงานหนัก เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Obstetrics and Gynecology; AJOG เดือนธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา เรื่อง The impact of occupational shift work and working hours during pregnancy on health outcomes: a systematic review and meta-analysis หรือการทำงานเป็นกะเมื่อเทียบกับการทำงานช่วงกลางวันเท่านั้น มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร

คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม

จากการรวบรวม 62 งานวิจัย หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมศึกษา 196,989 คน โดยเปรียบเทียบ 2 กลุ่มคือ

  1. คนทำงานกะเช้าบ้างกลางคืนบ้าง หรือเฉพาะกลางคืน ช่วงเวลา 5 ทุ่ม ถึง 11 โมงเช้า หรือ ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  2. ทำงานเฉพาะช่วงกลางวัน เวลา 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น หรือ ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าทำงานกลางคืนอย่างเดียว หรือทำงานสลับไปมา หรือทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระหว่างตั้งครรภ์ ล้วนแล้วแต่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดทั้งสิ้น

ในคนที่ทำงานมากกว่า 55.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด 10%

แม่ท้องไม่ได้นอน ฮอร์โมนความเครียดหลั่ง

เหตุผลก็คือ เมื่อไม่ได้นอน Circadian Rhythm เปลี่ยนหรือวงจรของเราเปลี่ยน มีผลต่อร่างกาย ดังนี้

  • คอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดหลั่งมากขึ้น
  • ลดการสร้างเมลาโทนิน
  • การทำงานของการสร้างฮอร์โมนจากรกเปลี่ยนไป ทำให้มีการสร้างสารอักเสบเพิ่มขึ้น ก็ไปกระตุ้นให้รกเสื่อมเร็ว กระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของมดลูก

หากแม่ท้องจำเป็นต้องทำงานเป็นกะจะดูแลตัวเองอย่างไร

คุณหมอยังฝากแม่ท้องที่จำเป็นต้องทำงานเป็นกะด้วยว่า ในเมื่อยังต้องทำงานเป็นกะ สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ

  1. ลดภาวะเครียด
  2. พยายามพักระหว่างงานบ้าง หรือถ้าพักก็ให้พักจริง ๆ
  3. ทานอาหารและน้ำให้เพียงพอ
  4. ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะลดความเสี่ยงลงได้

คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม

วิธีดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ทำงาน

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ที่ยังต้องทำงาน ดังนี้

  • งานที่แม่ท้องควรทำ ไม่ควรเป็นงานหนักหรือต้องใช้แรงมากนัก สำคัญคือห้ามยกของหนัก หากมีความจำเป็นต้องยกของให้ใช้วิธีงอเข่าหลังเหยียดตรง ปล่อยน้ำหนักไว้ที่ต้นขา ท่านี้จะช่วยลดอาการปวดหลังของคนท้องได้
  • ไม่ควรเดินบ่อย นั่งยาว หรือยืนนาน ๆ ควรหาเวลาพักระหว่างการทำงาน ให้ได้ยืดเหยียดหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
  • ถ้าต้องนั่งทำงานควรมีพนักพิงที่เอียงประมาณ 110-120 องศา อาจเสริมเบาะสำหรับพิง นั่งให้ก้นชิดพนักพิง
  • การแต่งตัวควรใส่ชุดคลุมท้องที่เบาสบาย เนื้อผ้าถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่รัดรูปเกินไป
  • สวมใส่รองเท้าเพื่อสุขภาพ ลดการใส่ส้นสูง ระหว่างเดินไปมาควรระวังการลื่นล้ม
  • ออกกำลังกายพอประมาณ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพราะคุณแม่บางคนอาจมีความเสี่ยง ไม่ควรออกแรงมาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดสูบบุหรี่
  • กินวิตามินหรือยาบำรุงตามแพทย์สั่ง
  • เสริมสร้างโภชนาการที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ เลือกอาหารที่มีสารอาหารสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง แร่ธาตุเหล็กพบมากในตับ ไอโอดีนจากอาหารทะเล วิตามินโฟเลทจากผักใบเขียว เช่น กุ่ยช่าย หน่อไม้ฝรั่ง อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย

นอกจากการดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว การเลือกรับประทานอาหารตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ห้ามละเลย ที่สำคัญ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องทำงานเป็นกะ ทำงานไม่เป็นเวลา หรือทำงานหนัก จนนอนดึก นอนน้อย ควรหาเวลาพักระหว่างวันและดูแลตัวเองให้มาก ๆ ก่อนจะทำอะไร คิดถึงลูกในท้องทุกครั้ง จะได้ระมัดระวังตัวให้มากที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : mol.go.thfacebook.com/meetdoctae และ komchadluek

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ต้องยุติตั้งครรภ์ ซ้ำยังเสี่ยงมะเร็ง

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร ประสบการณ์ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์

ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์ วิธีปั้นลูก 3 ฉลาด พื้นฐานสู่ความสำเร็จ

5โรคติดเชื้อที่ คนท้อง ห้ามละเลย..อาจทำให้ลูกพิการได้!!

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up