สำลัก น้ำคร่ำ ผลจากการคลอดช้ากว่ากำหนด
โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอายุครรค์ประมาณ 40 สัปดาห์ (280 วัน) นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนวันสุดท้าย แต่หากหลังวันกำหนดคลอด 2 สัปดาห์แล้ว ลูกน้อยยังไม่คลอด จะอยู่ในภาวะครรภ์เกินกำหนด เด็กทารกที่มีภาวะครรภ์เกินกำหนด มีความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำ ติดเชื้อทางเดินหายใจ และเสียชีวิตในครรภ์ได้
สาเหตุที่ทำให้ตั้งครรภ์เกินกำหนดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เกินกำหนด ดังนี้
- คุณแม่จำประวัติประจำเดือนไม่แม่นยำ จึงทำให้คำนวณอายุครรภ์ผิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
- คุณแม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติ
- คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ซึ่งจะพบได้มากกว่าครรภ์หลัง
- คุณแม่ที่ดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนการตั้งครรภ์ ≥ 25
- ทารกในครรภ์มีความพิการ ไม่มีสมองและกะโหลกศีรษะ ภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ ไม่มีต่อมใต้สมอง
- การขาดฮอร์โมน Placental sulfates deficiency
- การตั้งครรภ์ในช่องท้อง
- ไม่ทราบสาเหตุ
ผลของภาวะครรภ์เกินกำหนด
1.ในกรณีที่รกยังทำงานปกติ ทารกเจริญเติบโตขึ้น ทำให้ตัวโต และคลอดยาก
2.หากรกเสื่อมสภาพ เด็กจะขาดออกซิเจนเรื้อรัง เลือดส่งไปยังสมองลดลง หัวใจเต้นผิดปกติ
3.การเจริญเติบโตในครรภ์ผิดปกติ ผิวหนังแห้ง แตก เหี่ยวย่น หลุดลอก เกิดจากการสูญเสียไขมันใต้ผิวหนัง มีขี้เทาเคลือบติดตามตัว รูปร่างผอม และมีลักษณะขาดสารอาหาร
4.หากมีภาวะน้ำคร่ำน้อย จะทำให้สายสะดือถูกกดทับ หรืออาจเกิดความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำ หรือขี้เทาในน้ำคร่ำที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ทารกติดเชื้อทางเดินหายใจ
5.ทารกเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงตกเลือดหลังคลอด