ประโยชน์ของการอัลตร้าซาวด์
การอัลตราซาวด์ในช่วงตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นการตรวจที่ปลอดภัย มีประโยชน์ อย่างน้อย ๆ ก็มี 10 ประการ ดังนี้
1.ดูเพศของทารก
2.ใช้ดูว่ามีครรภ์แฝดหรือไม่
3.ทำให้ทราบอายุครรภ์ที่แท้จริง ซึ่งจะมีความแม่นยำสูงเมื่อทำในช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับคุณแม่ที่จำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ
4.ดูว่าการตั้งครรภ์อยู่ภายในโพรงมดลูกหรือไม่ มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่
5.ประเมินน้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
6.กรณีมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การอัลตราซาวด์จะทำให้รู้ว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยการใช้อัลตราซาวด์ดูว่า หัวใจของเด็กยังเต้นอยู่หรือไม่ ซึ่งสามารถดูได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
7.ใช้ตรวจความผิดปกติของตัวเด็ก วินิจฉัยความพิการทางร่างกายแต่กำเนิดของทารก ประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ โดยการดูการเคลื่อนไหว การหายใจของทารก วินิจฉัยภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
8.ใช้ดูปริมาณน้ำคร่ำว่ามีน้ำคร่ำน้อยเกินไปหรือมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ภาวะนี้มีอันตรายแก่ทารกทั้งคู่
9.ใช้ดูตำแหน่งของรกว่ารกเกาะต่ำหรือไม่ ถ้ารกเกาะต่ำ เช่น เกาะตรงปากมดลูก เวลาคลอดปากมดลูกจะเปิดทำให้มีการตกเลือดได้ ถ้ารกเกาะต่ำมากอาจต้องคลอดโดยการผ่าตัด
10.ประเมินความยาวของปากมดลูกในกรณีที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ประเมินส่วนนำในการคลอดของทารก เช่น ท่าหัว ท่าก้น เป็นต้น
อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ อันตรายหรือไม่
เรื่องนี้ทางการแพทย์ยืนยันว่า การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจากการอัลตร้าซาวด์นั้น ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี และยังไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเกิดความผิดปกติใดๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเลือกอัลตร้าซาวด์กี่มิตินั้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์อยู่ เพื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการอัลตร้าซาวด์ โดยในทางการแพทย์ การวินิจฉัยความผิดปกติหลักของโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้อัลตร้าซาวด์แบบ 2 มิติเป็นหลัก เพราะอัลตร้าซาวด์แบบ 3 และ 4 มิติ ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่เหนือกว่าก็คือการทำให้มารดาได้เห็นทารกในครรภ์ได้ชัดเจน เหมือนการถ่ายวิดีโอให้ดูทารกได้ทั้งตัวที่มีรูปร่างเหมือนทารกจริงๆ ไม่ใช่ภาพที่ตัดในแนว 2 มิติดังที่เห็นกันทั่วไป
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : ultrasoundlink
ขอบคุณข้อมูลจาก: www.si.mahidol.ac.th