ราวกับปาฏิหาริย์ ทารกรอดชีวิตมาได้ทั้งที่ สายสะดือพันคอทารกในครรภ์ 6 รอบ แม้แต่คุณหมอยังแปลกใจ เพิ่งเคยเจอครั้งแรกตั้งแต่ทำงานมา 23 ปี
สายสะดือพันคอทารกในครรภ์ 6 รอบ แต่ก็รอดมาได้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองอี้ชาง มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทารกน้อยเพศชาย ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยน้ำหนักแรกเกิดกว่า 3 กิโลกรัม แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจ คือสายสะดือที่พันคอทารกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พันรอบคอมากถึง 6 รอบ
แม้แต่แพทย์ผู้ทำคลอดยังต้องแปลกใจ เพราะแม้ว่าสายสะดือพันคอจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทารกในครรภ์ แต่มีโอกาสแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น และไม่เคยเห็นทารกคนไหนถูกสายสะดือพันคอมากถึง 6 รอบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกตลอดชีวิตการทำงาน 23 ปี ที่คุณหมอได้เจอ
คุณหมอผู้ทำคลอดทารกน้อยในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังบอกด้วยว่า 2 สัปดาห์ก่อนคลอด แม่ของเด็กได้มาตรวจร่างกาย คุณหมอจึงพบว่า สายสะดือพันคอทารกน้อยอยู่ 1 รอบ จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ต่อมา สายสะดือก็พันคอทารกเพิ่มเป็น 2 รอบ แต่ทุกอย่างยังปกติ ไม่เป็นอันตรายจึงไม่ได้ผ่าคลอดฉุกเฉิน เมื่อถึงกำหนดคลอดก็พบว่า ขณะนี้สายสะดือพันคอทารกในครรภ์ 6 รอบแล้ว
ในวันคลอด ชีพจรของแม่ผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ยังเป็นปกติดี คุณหมอจึงให้คลอดธรรมชาติ ซึ่งทารกน้อยเพศชายก็คลอดออกมาได้แข็งแรง ปลอดภัย ส่วนสายสะดือที่พันคอถึง 6 รอบนั้นมีความยาวถึง 90 ซม. ถือว่ายาวกว่าสายสะดือปกติ ขณะนี้พร้อมที่จะกลับบ้านแล้ว
ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่และทารกน้อยที่รอดชีวิตมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ และขอให้สุขภาพของทั้งคู่แข็งแรงขึ้นเร็ว ๆ นะคะ
ความยาวของสายสะดือส่งผลต่อความปลอดภัยทารกในครรภ์
บางคนเรียกว่ารกพันคอ บางคนเรียกว่าสายสะดือพันคอ แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่พันคอทารกในครรภ์คือสายสะดือ ที่มีด้านหนึ่งติดกับรก ส่วนอีกด้านติดกับสะดือของทารก โดยปกติแล้วสายสะดือจะมีความยาวราว ๆ 55 ซม. หากสายสะดือยาวเกินหรือสั้นไปก็อาจเป็นปัญหาได้
- สายสะดือสั้น มีปัญหาการเคลื่อนไหวของทารก อาจเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนด อาจเกิดปัญหาในการคลอดปกติ
- สายสะดือยาว ทำให้เกิดปัญหาสายสะดือพันกันจนเป็นปม ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดอุดตัน ทารกจึงขาดเลือด สายสะดือยาวยังพันรอบตัวหรืออวัยวะทารกในครรภ์ หรือพันรอบคอทารก จนเกิดอันตรายได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทําไมสายสะดือถึงพันคอทารก
สาเหตุที่ทำให้เกิดสายสะดือพันคอทารก เนื่องจากปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือทารกเคลื่อนไหวมากไป หรือในช่วงลูกดิ้น ส่งผลให้สายสะดือพันคอทารกได้ หากดิ้นแล้วสายสะดือพันยิ่งแน่น เลือดก็ไม่ไหลเวียน
ในเมืองไทย พบสภาวะสายสะดือพันคอทารกได้ร้อยละ 25-35 ของการคลอด เมื่อสายสะดือพันคอทารกอาจทำให้เกิดภาวะทารกขาดออกซิเจน หากสายสะดือพันคอแน่นมาก ทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม หากแพทย์พิจารณาแล้วว่า มีโอกาสเกิดอันตรายได้ ก็อาจเปลี่ยนวิธีการคลอด จากการคลอดธรรมชาติเป็นการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในท้อง
ความสำคัญของการนับลูกดิ้น
เนื่องจากการพันของสายสะดือนั้น แม่ท้องมักจะไม่รู้ตัวว่าทารกในครรภ์มีสายสะดือพันอยู่รอบคอบ กว่าจะรู้ตัวอีกทีคือลูกไม่ดิ้นแล้ว การนับลูกดิ้นเป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคุณแม่ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว อาจรู้สึกถึงลูกดิ้นได้ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นคุณแม่มือใหม่เพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของลูกดิ้นตอนอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ สำหรับวิธีนับลูกดิ้นมีอยู่หลายวิธี เช่น
บันทึกลูกดิ้นทุกครั้งหลังทานอาหาร เพราะน้ำตาลในเลือดจะสูง ลูกได้รับพลังงานไปเต็ม ๆ ซึ่งวิธีนับลูกดิ้นหลังมื้ออาหาร ใน 1 ชั่วโมง ลูกควรดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 1 วัน ลูกควรดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง นับต่ออีกชั่วโมง ถ้ายังน้อยกว่า 3 ครั้ง ควรพบแพทย์ หรือใช้วิธีนับลูกดิ้น 4 ครั้งต่อมื้อ หากลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้งในมื้อใดมื้อหนึ่ง ให้นับต่อจน 6 ชั่วโมง หากยังน้อยกว่า 4 ครั้งใน 6 ชั่วโมง ทั้งวันน้อยกว่า 12 ครั้งก็ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ ยังสามารถนับลูกดิ้นได้ตลอดทั้งวัน ถ้าคุณแม่สะดวก ซึ่งในแต่ละวันลูกควรดิ้นรวมกัน 10-12 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าอยู่ในช่วง 36-40 สัปดาห์ ลูกอาจจะดิ้นน้อยลงได้ เพราะลูกตัวใหญ่ขึ้น
หากคุณแม่หมั่นนับลูกดิ้นเป็นประจำ พบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ก็จะลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์จึงต้องรีบฝากครรภ์ ดูแลตัวเองด้วยอาหารสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอันตรายที่ไปเพิ่มความเสี่ยงแก่ร่างกายของแม่ท้องและทารกในครรภ์
ข้อมูลอ้างอิง : amarintv.com, mahidol และ RAMA CHANNEL
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แจก ตารางจดบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น เพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง
อุทาหรณ์แม่ท้อง! สายสะดือบิดเป็นเกลียว ต้องคลอดลูกที่ไม่มีลมหายใจ [เรื่องจริงจากหมอสูติฯ]