ข้อควรระวังและป้องกันของ "แผลผ่าคลอด" - amarinbabyandkids
แผลผ่าคลอด

ข้อควรระวังและป้องกันของ “แผลผ่าคลอด”

Alternative Textaccount_circle
event
แผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอด

แผลผ่าคลอด ความสุขที่มาพร้อมกับความเจ็บปวด ต้องระวังและดูแลเป็นพิเศษ มิเช่นนั้น อักเสบแน่ ๆ

 

กว่าจะขยับ กว่าจะลุกขึ้นเดินได้ ช่างทรมานเหลือเกิน กับแผลที่ได้รับมาหลังผ่าตัดคลอดลูก … แต่ก็เอาน่า ถือเสียว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม  เพราะได้เจอหน้าเจ้าตัวน้อยที่ตั้งตารอมานานถึง 9 เดือน แต่มันจะไม่คุ้มก็ตรง ความกลัวความกังวลว่าแผลที่ผ่ามานั้นจะอักเสบนี่สิ!

แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปหรอกนะคะ เพราะถ้าหากเรารู้วิธีการที่จะมาช่วยสังเกตอาการของตัวเองพร้อมกับวิธีการดูแลรักษาแผลผ่าคลอดละก็ เราจะได้ปฏิบัติตัวและดูแลได้ถูกและก็ไม่ต้องกังวลอย่างไรละคะ…ว่าแล้ววันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้นำเรื่องราวนี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกกันค่ะ

 

หลังจากที่ผ่าคลอดลูกและได้กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน สิ่งที่คุณแม่ส่วนใหญ่กังวลก็คงจะหนีไม่พ้นแผลผ่าคลอดกันใช่ไหมละคะ ต่างก็พากันกลัวและกังวลว่า แผลที่ผ่ามานั้นจะอักเสบ … ไม่ต้องกลัวค่ะไม่ต้องกลัว เพราะวันนี้ท่ีมงานได้นำข้อมูลดี ๆ มีประโยชน์มาฝากกันค่ะ

6 อาการ แผลผ่าคลอด ที่แม่ต้องเฝ้าระวัง

แผลผ่าคลอด

  • มีไข้ ภายหลังจากที่คุณแม่ผ่าคลอดแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองครั่นเนื้อครั่นตัว และมีไข้ละก็ อย่ารอช้าค่ะ รีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า ร่างกายของเรานั้นไม่ปกติ ซึ่งอาการอาจเริ่มตั้งแต่เมื่อยเนื้อตัว ปวดตัว มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งหากมีอาการไม่มาก จะสามารถหายเองใน 1-2 วัน แต่หากอวัยวะภายในหลายส่วนเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องหลายวัน จนเกิดภาวะแทรกซ้อน และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • มีอาการเจ็บแผลผ่าตัดมากขึ้น พร้อมกับแผลมีรอยแดง บวม ผิดกับตอนแรกที่ที่แผลผ่าตัดจากเดิมที่ไม่เคยมี อีกทั้งยังพบว่ามีเลือดซึมจากแผลผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย แบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติแล้วค่ะ รีบไปให้คุณหมอดูน่าจะดีกว่า จะได้รู้ว่าแผลที่ผ่ามานั้น ฉีก หรือว่าติดเชื้ออะไรหรือไม่ เป็นต้น
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น หรือมีสีแดงเข้มขึ้นจากที่เคยจางลงแล้ว เพราะบางทีเลือดที่ไหลออกมา อาจจะไม่ใช่น้ำคาวปลาก็ได้ หากพบว่าเป็นเช่นนี้ละก็ รีบไปพบแพทย์กันเถอะค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณแม่กำลังตกเลือดอยู่ก็เป็นได้
  • ขาบวม หากคุณแม่พบว่า ขาของคุณแม่บวมมากขึ้น อาการนี้อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่จะทำให้คุณแม่ได้ทราบด้วยเช่นกันค่ะว่า แผลผ่าคลอดของคุณแม่ อาจจะได้รับการติดเชื้อ จนส่งผลให้เท้าบวม และอักเสบได้
  • ปัสสาวะติดขัด ปัญหานี้สามารถพบได้ค่ะ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากการถ่ายปัสสาวะไม่ออก อาการที่มักพบได้คือ ปัสสาวะแสบขัด ไข้หนาวสั่น ปวดบริเวณบั้นเอว หากมีอาการดังกล่าวคุณแม่ควรรีบบอกหมอแต่เนิ่น ๆ นะคะ เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อระบบปัสสาวะเรื้อรัง เป็นต้น
  • ริดสีดวงทวาร อาการนี้อาจพบได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์และละค่ะ และอาจพบได้มากขึ้นภายหลังการคลอดใหม่ ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีการเบ่งคลอดบุตรหรือคลอดธรรมชาติและมีการเบ่งคลอด ที่ยาวนาน ส่วนในกรณีสำหรับคุณแม่ผ่า คลอด ก็อาจจะรู้สึกกลัวว่า แผลที่ผ่าไว้จะหลุด จนอั้นเอาไว้ด้วยก็เป็นได้

นอกเสียจากนี้ เมื่อไรก็ตามที่พบว่า แผลที่ผ่ามานั้น มีกลิ่นเหม็นอย่ารอช้านะคะ รีบไปพบแพทย์โดยทันที

แผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอดแนวตั้ง

8 วิธีดูแลแผลผ่าคลอดที่ถูกต้อง

เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดอาการอักเสบ คุณแม่ที่ผ่าคลอดทั้งหลายควรที่จะดูแลตัวเองตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. เมื่อคุณแม่แข็งแรงพอที่จะลุกหรือยืนได้แล้ว อาการเจ็บแผลผ่าตัดจะสามารถบรรเทาลงได้ ด้วยการใช้ผ้ายางยืดแผลผ่าตัดไม่ให้ถูกดึงรั้งจากผนังหน้าท้องที่ยังหย่อนยาน เวลาที่คุณแม่จะเปลี่ยนอิริยาบถก็ค่อย ๆ ทำโดยการงอเข่าเข้าหาตัวก่อนที่จะลุกหรือยืนเพื่อลดความตึงของหน้าท้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดตึงแผลจะค่อย ๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง อาการปวดแผลสามารถทุเลาลงได้ เพียงทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลเท่านั้นนะคะ
  2. หากมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นลงบันไดละก็ ให้คุณพ่อช่วยประคองตัวของคุณแม่เอาไว้ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะสามารถขึ้นลงบันไดได้ค่อนข้างปกติแล้วละค่ะ
  3. ให้คุณแม่อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกค่ะ เพราะอากาศที่ร้อนจะทำให้เหงื่อออกมากและเกิดการอับชื้นบริเวณแผลที่ผ่าได้
  4. คุณแม่ไม่ควรยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่เป็นการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะอาจจะทำให้เจ็บแผลได้ รวมถึงการหลีกเลี่ยงท่าบริหารที่อาจเป็นอันตรายกับแผลและไม่ฝึกท่ายืดกล้ามเนื้อจนกว่าแผลจะหายสนิท มิเช่นนั้นละก็ แผลที่ผ่ามาอาจจะปริหรือฉีกขาดได้
  5. ให้สวมใส่สวมเสื้อผ้าหลวมที่ใส่สบาย ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน ๆ เท่านั้น
  6. เวลานอนคุณแม่ควรปรับหัวเตียงให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้แผลตรงหน้าท้องหย่อนไม่ตึง จะได้ไม่เจ็บแผลมาก ส่วนเวลาจะลุกจะนั่งจากเตียงก็ให้ใช้วิธีตะแคงข้างก่อน แล้วค่อย ๆ ใช้มือยันตัวลุกขึ้นในท่าตะแคงค่ะ
  7. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจจะส่งผลให้แผลฉีกขาดได้ ดังนั้น อดใจรอไปก่อนนะคะ
  8. รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ

หากคุณแม่าสามารถปฏิบัติตามได้ครบทั้งแปดข้อที่กล่าวไปแล้วละก็ รับรองเลยค่ะว่า นอกจากแผลจะไม่อักเสบ ไม่ปริขาดแล้ว ยังจะช่วยทำให้หายไวอีกด้วยละค่ะ

ขอบคุณที่มา: Momjunction, Haarmor และ Medthai

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up