ตอนตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นเท่าไร?
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ บางท่านคิดว่าต้องกินเยอะๆเผื่อลูกในท้องไว้ก่อน เพราะความเชื่อว่ากลัวลูกจะขาดสารอาหาร รวมถึงของฝากของบำรุงต่างๆจากครอบครัวและคนรอบข้าง อาจจะทำให้คุณแม่ท้องแฮปปี้กับการรับประทานเกินไปหน่อย จนทำให้รู้ตัวอีกทีก็น้ำหนักพุ่งซะแล้ว ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มมานี้ อาจกลายเป็นน้ำหนักส่วนเกินของคุณแม่ที่ยังคงอยู่หลังคลอดได้ค่ะ ดังนั้น ในแต่ละเดือน น้ำหนักคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นประมาณเท่าไรจึงจะพอดี มาดูกันค่ะ
ไตรมาสแรก : น้ำหนักควรเพิ่ม 1 – 2 กิโลกรัม
สำหรับคุณแม่ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ ส่วนใหญ่คุณแม่มักจะมีอาการแพ้ท้องค่ะ เช่น เบื่ออาหารได้ หรือบางคนอาจไม่แพ้อาหารเลย ซึ่งการอาการแพ้ท้องเหล่านี้ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักของคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้น หรือบางครั้งอาจลดลงอีกได้ เนื่องจากรับประทานได้น้อย ซึ่งทารกในครรภ์ช่วงนี้ยังไม่ได้ต้องการอาหารในปริมาณมาก เพียงแต่คุณค่าของอาหารนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น ในช่วงที่คุณแม่แพ้ท้อง ไม่อยากอาหาร ควรจะเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน หรือกินอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายแทน แบ่งกินมื้อย่อยๆ และไม่บังคับตัวเองว่าควรกินปริมาณมาก-น้อยเพียงใด เพราะจะยิ่งทำให้เครียดได้
ไตรมาสที่สอง : น้ำหนักควรเพิ่ม 4 – 5 กิโลกรัม (เพิ่มเดือนละ 1 – 1.5 กิโลกรัม)
ในช่วงการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่สองนี้ อาการแพ้ท้องของคุณแม่มักจะเริ่มบรรเทาลงแล้วค่ะ จึงทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น ประกอบกับทารกเริ่มโตเร็วขึ้นด้วย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณแม่ท้องต้องระมัดระวังการกินจุบจิบ และการกินอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะกลายเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวที่มากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่ายค่ะ
ไตรมาสที่สาม : น้ำหนักควรเพิ่ม 5 – 6 กิโลกรัม (เพิ่มเดือนละ 2 กิโลกรัม)
สำหรับในไตรมาสนี้ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวคุณแม่ มีผลต่อการคลอด และน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารกด้วยค่ะ ซึ่งถ้าน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป หรืออ้วนเกินไป อาจจะทำให้การคลอดยากขึ้น เสี่ยงทำให้หายใจลำบากขณะเบ่งคลอด รวมถึงทารกตัวใหญ่กว่าช่องเชิงกรานทำให้คลอดยากได้ แต่ถ้าหากน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในไตรมาสนี้ ก็อาจทำให้ทารกขาดสารอาหารและไม่แข็งแรงได้ค่ะ
♦♦♦ คุณแม่ๆจะเห็นว่าในแต่ละไตรมาสนั้น มีช่วงน้ำหนักตามเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป หรือเพิ่มน้อยเกินไปจากเกณฑ์ค่อนข้างมาก ก็ย่อมไม่เป็นผลดีทั้งสิ้นค่ะ เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ในขณะตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ที่สำคัญ ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรควบคุมน้ำหนักด้วยการอดอาหารอย่างยิ่ง เพราะถ้าน้ำหนักตัวของแม่เพิ่มน้อย อาจทำให้ทารกมีปัญหาการเจริญเติบโตช้า ส่วนถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าปกติ อาจทำให้น้ำตาลหรือไขมันในเลือดของแม่สูงกว่าปกติ เกิดเบาหวานหรือภาวะครรภ์เป็นพิษในขณะตั้งครรภ์ได้ รวมถึงเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและเหนื่อยง่าย มือบวม เท้าบวม อีกทั้งอาจทำให้การลดน้ำหนักหลังคลอดลูกก็ทำได้ยากด้วยเช่นกันค่ะ
5 วิธี ควบคุมน้ำหนักตอนท้อง ทำได้อย่างไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่