ตรวจร่างกายหลังคลอด ทั้งแม่และลูกอย่าลืมไปตามนัด - Amarin Baby & Kids
ตรวจร่างกายหลังคลอด

ตรวจร่างกายหลังคลอด สำคัญมาก! ทั้งแม่และลูกอย่าลืมไปตามนัด

Alternative Textaccount_circle
event
ตรวจร่างกายหลังคลอด
ตรวจร่างกายหลังคลอด

ตรวจร่างกายหลังคลอด สำคัญแค่ไหน ทำไมแม่ไม่ควรละเลยวันนัดหมอ

ตรวจร่างกายหลังคลอด เรื่องจำเป็นที่แม่ห้ามลืม

หลังจากคลอดลูกแล้ว คุณแม่มักจะพะวักพะวงเป็นห่วงลูกน้อยตลอดเวลา จนหลงลืมไปว่า ร่างกายของแม่นั้นก็สำคัญนะ เพราะตัวแม่เองจะต้องฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้น้ำนมแม่มีประโยชน์มากที่สุดหรับทารกน้อย เมื่อแม่แข็งแรง ลูกย่อมแข็งแรง เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างแน่นอน

การตรวจหลังคลอดของหมอจะนัดตรวจคุณแม่ในช่วง 4-6 สัปดาห์ ภายหลังจากให้กำเนิดเจ้าตัวน้อยออกมา ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด แต่หากการคลอดครั้งที่ผ่านมามีปัญหา มีการคลอดที่ผิดปกติ หรือตัวคุณแม่เองมีโรคประจำตัวบางอย่าง คุณหมออาจจะนัดมาตรวจเร็วกว่าปกติ โดยสิ่งที่คุณหมออยากจะเช็คดูก็คือร่างกายของแม่ที่ผ่านการตั้งครรภ์มาจวบจนคลอดลูกแล้วนั้นฟื้นฟูไปแค่ไหนแล้ว อวัยวะต่าง ๆ ของคุณแม่เองทำงานได้ปกติหรือไม่ หรือมีโรคแทรกซ้อนใดที่ต้องกังวลหรือเปล่า หากพบว่ามีโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะคลอดหรือหลังคลอด คุณหมอก็จะตรวจเช็คอาการว่าหายดีแล้วหรือยัง

ตรวจร่างกายหลังคลอด
ตรวจร่างกายหลังคลอด

คุณแม่ต้องตรวจร่างกายอะไรบ้างหลังคลอด

  1. ตรวจน้ำหนักหลังคลอด ช่วงหลังคลอด 6 สัปดาห์ น้ำหนักควรลดลง 8-12 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักเกินกว่าก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัม หากคุณแม่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานก็ต้องปรับอาหารการกินและออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
  2. วัดความดันโลหิต ระดับปกติของความดันโลหิตอยู่ที่ 80/120 มิลลิเมตรปรอท หากมีความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์หรือตอนคลอด ภายหลังจากที่คลอดแล้ว ควรกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าแม่ยังมีความดันโลหิตสูง คุณหมออาจจะต้องตรวจละเอียดอีกครั้ง
  3. ดูเต้านม คุณหมอจะตรวจเต้านมเพื่อดูความผิดปกติ เช่น มีน้ำนมไหลดีหรือไม่ เต้านมอักเสบหรือเปล่า มีปัญหาเรื่องหัวนมบอดหรือหัวนมแตกซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการให้นมลูกหรือไม่ พร้อมทั้งแนะนำเรื่องการให้นมลูกอย่างถูกท่า ถูกวิธี นอกจากนี้ คุณหมอยังต้องตรวจมะเร็งเต้านมหรือก้อนน้ำเหลืองให้กับคุณแม่ด้วยวิธีคลำหาก้อนบริเวณหน้าอก
  4. เช็คหน้าท้อง หลังคลอดคุณหมอจะตรวจหน้าท้องเพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช็คดูว่าผนังหน้าท้องยังหย่อนอยู่หรือไม่ ส่วนคุณแม่ผ่าคลอดก็จะตรวจดูแผลผ่าคลอดว่าปกติไหม แผลหายดีแล้วหรือยัง พร้อมกันนั้นยังแนะนำเรื่องการบริหารร่างกายหลังคลอดเพื่อให้แม่แข็งแรงขึ้น ช่วยให้หน้าท้องกลับมาเรียบแบนดังเดิม
  5. ตรวจภายใน คุณหมอจะดูแผลฝีเย็บ ตรวจดูผนังช่องคลอด เพื่อเช็คแผลว่าเรียบร้อยดีไหม อักเสบบริเวณช่องคลอดหรือเปล่า ตรวจตกขาว รวมถึงปากมดลูกว่าปิดหรือไม่ สำหรับแผลหลังคลอดมักจะดีขึ้นและหายได้ใน 1 สัปดาห์หลังคลอด เช่นเดียวกับแผลผ่าตัดที่ควรติดสนิทใน 1 สัปดาห์ แต่กว่าแผลจะหายดีก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน สิ่งสำคัญที่คุณหมอจะเช็คดูคือ มดลูกเข้าอู่แล้วหรือยัง สืบเนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ที่มดลูกขยายตัว แต่หลังจากคลอดลูกได้ 4-6 สัปดาห์ มดลูกจะเข้าอู่แล้ว โดยคุณหมอจะตรวจด้วยการใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอด และใช้อีกมือคลำบริเวณหน้าท้อง หากพบก้อนที่หน้าท้องแสดงว่ามดลูกเข้าอู่ช้า

ตรวจร่างกายหลังคลอด

    ตรวจร่างกายหลังคลอด

นอกจากนี้ คุณหมอยังเช็คอาการไข้ แผลอักเสบ ปวดท้อง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ทั้งยังดูระบบขับถ่าย เพราะอาการท้องผูกอาจทำให้แม่เจ็บแผลได้  เช็คโรคอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์หรือการคลอด และโรคประจำตัว ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคปอดและโรคหัวใจ รวมทั้งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่คุณหมอจะตรวจให้คุณแม่หลังคลอดหรือในกรณีแท้งบุตร

9 โรคร้าย ภาวะอันตราย รู้เร็วรักษาได้ทันใจ! ถ้าแม่ไปตรวจหลังคลอด

ความสำคัญของการตรวจหลังคลอดคือ ถ้าเจอเร็วช่วยลดอันตราย ยิ่งตรวจพบไวก็รักษาได้ทัน คุณแม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และไปตรวจหลังคลอดตามที่คุณหมอนัด โดยโรคร้ายและภาวะอันตราย มีดังนี้

1.ภาวะติดเชื้อหลังคลอด

คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว แต่คิดเองว่า ไม่เป็นอะไรมาก ซึ่งอาการติดเชื้อกว่าจะแสดงอาการ อาจติดเชื้อรุนแรงไปเสียแล้ว คุณแม่จึงไม่ควรรอให้ไข้สูง ควรสังเกตอาการตัวเอง หรือถ้าไม่มีไข้ ก็ต้องไปตรวจหลังคลอดตามที่หมอนัด เพื่อเช็คอย่างละเอียด สำหรับภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกอักเสบ

2.ฝีเย็บอักเสบ

การติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บ มักเกิดอาการบวม แผลบวมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ไหมที่เย็บอาจหลุดจนทำให้แผลที่เคยเย็บแยกออกมาได้ อาจเกิดเป็นหนองตามมา โดยปกติการติดเชื้อจะเป็นเฉพาะที่ แต่อาจทำให้เกิดท่อน้ำเหลืองอักเสบได้ จนติดเชื้อเข้ากระแสเลือดได้

3.รกค้าง

รกค้างในมดลูกหลังคลอด หากไม่คลอดรอออกมาทั้งอัน รกจะขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก จนเลือดออกจากมดลูกเพราะแผลที่เป็นรอยเกาะ เรียกว่า ตกเลือดหลังคลอด กลายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แม่เสียชีวิตได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าแม่ไม่ได้มีอาการผิดปกติแสดงออกมามากนัก เป็นไปได้ว่า เศษรกอาจตกค้างอยู่ในมดลูกบางส่วนเท่านั้น แต่ถ้าไม่มาตรวจหลังคลอด เศษรกที่ค้างอาจทำให้ติดเชื้อและทำให้เลือดออกทางช่องคลอดได้

4.ริดสีดวงทวาร

อาการริดสีดวงทวาร มักจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งต้องดูเรื่องการขับถ่ายควบคู่กันไปด้วย เพราะถ้าท้องผูก เป็นริดสีดวงอีก จะยิ่งเจ็บแผล ส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของแม่หลังคลอดได้ หลังจากคลอดลูกแล้ว แม่ต้องดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ทั้งผลไม้ ผักสด และธัญพืช แต่ไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเอง เพราะอาจมีผลต่อน้ำนมแม่ หากอาการริดสีดวงทวารหนัก ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของริดสีดวงทวารได้ ถ้ายังไม่หาย แพทย์อาจใช้การผ่าตัดรักษา

5.ความดันโลหิตสูง

สืบเนื่องจาก ครรภ์เป็นพิษ โรคที่มักเกิดช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาการมักจะหายไปใน 2-4 สัปดาห์หลังคลอด แต่คุณหมอจะทำการเช็คจากความดันโลหิตว่าสูงอยู่หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะหรือไม่ รวมถึงการทำงานของไต เพราะภาวะครรภ์เป็นพิษทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี หากตรวจหลังคลอดพบว่ายังมีอาการของความดันโลหิตสูง อาจต้องกินยาลดความดันโลหิตเพื่อควบคุมความดัน แต่ถ้าอาการความดันโลหิตสูงรุนแรง คุณหมออาจจำเป็นต้องฉีดยาลดความดันโลหิต

6.เบาหวาน

เบาหวานแยกเป็น 2 ชนิด โรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์และโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดปกติจะอยู่ที่ต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อ 100 ซี.ซี. แม่หลังคลอดบางคนน้ำตาลในเลือดก็ยังคงสูงต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ในท้องต่อไป จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดหลังคลอด เพื่อหาแนวทางรักษาเบาหวาน

7.มะเร็งปากมดลูก

หลังคลอดจะมีการตรวจมะเร็งปากมดลูก จากนั้นควรตรวจเป็นประจำทุก ๆ 1-3 ปี เพราะอาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่เมื่อมะเร็งลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง อาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด มะเร็งปากมดลูกถ้าพบในระยะก่อนลุกลามก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที

8.มะเร็งเต้านม

การตรวจที่สำคัญอีกอย่างคือการตรวจมะเร็งเต้านม ซึ่งเกิดจากเซลล์บนผิวของต่อมเต้านมได้รับผลกระทบจากสารก่อมะเร็ง อัตราการเกิดรองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก อันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงที่มะเร็งจะลุกลาม หากตรวจพบได้ไวก็สามารถผ่าตัดแบบรักษาเต้านมเอาไว้ได้ คุณแม่จึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายหลังคลอด เมื่อพบสิ่งผิดปกติจะได้รีบรักษา

9.ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะจิตใจของแม่หลังคลอด ก็ต้องตรวจเช่นกัน ด้วยฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เครียด ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึมเศร้าหลังคลอดมักเป็นช่วง 3-6 เดือน หลังคลอด อาการสำคัญคือ อารมณ์แปรปรวน สับสน เบื่อหน่าย ท้อแท้ นอนไม่หลับ สาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในร่างกาย ความเครียดและความกังวลใจของหน้าที่แม่ แต่ที่อันตรายคือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่มีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และอาการที่ร้ายแรงที่สุดคือ โรคจิตหลังคลอด ที่ทวีความรุนแรง มีอาการฉุนเฉียว หูแว่ว ประสาทหลอน จนถึงได้ยินเสียงสั่งให้ฆ่าลูก การเข้ารับการตรวจสภาพจิตใจหลังคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญของแม่ทุกคนที่ไม่ควรละเลย

อาการอันตรายไม่ต้องรอหมอนัด ให้รีบไปโรงพยาบาล

  • แม่มีอาการไข้สูง เป็นสาเหตุของการติดเชื้อบางอย่างได้ เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือแม้แต่คัดเต้านม หากไข้ไม่ลด แม่ควรรีบไปโรงพยาบาล
  • ฝีเย็บบวมแดง ปวดแผลฝีเย็บ กดแล้วเจ็บ อาจมีอาการอักเสบบริเวณฝีเย็บ
  • น้ำคาวปลาหลังคลอด ใน 3-4 วันแรก จะเป็นเลือดสด ๆ หลังจากนั้นช่วงวันที่ 10-14 จะออกน้ำตาลดำ ๆ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีใสจางลงเรื่อย ๆ และน้ำคาวปลาควรหยุดไหลใน 1 เดือน แต่ถ้าน้ำคาวปลาสีผิดปกติ ยังเป็นเลือดสดอยู่ เป็นสัญญาณอันตรายของรกค้าง หรือเป็นการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูกได้

การไปตรวจร่างกาย คุณหมอจะแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรด้วยวิธีการทำหมัน เพื่อไม่ให้แม่ตั้งครรภ์อีกครั้งเร็วเกินไป จะได้มีเวลาฟื้นฟูร่างกาย และดูแลลูกได้อย่างเต็มที่

ตรวจร่างกายทารกหลังคลอด

การนัดตรวจร่างกายทารกก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยคุณหมอจะนัดตรวจร่างกายทารกน้อยตั้งแต่ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยมักจะตรวจเช็คร่างกาย ตรวจสุขภาพทั่วไป ดูเรื่องการเจริญเติบโต และประเมินพัฒนาการของทารกให้เติบโตอย่างสมวัย

  1. ตรวจตัวเหลือง ปกติทารกหลังคลอดจะมีสารสีเหลืองชื่อบิลิรูบิน ส่งผลให้ตัวเหลือง 3-5 วัน แต่ถ้ามาตรวจแล้วค่าบิลิรูบินสูงเกิน 10 จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยวิธีส่องไฟ หรือเปลี่ยนถ่ายเลือดในกรณีที่มีค่าบิลิรูบินสูงกว่า 20
  2. ชั่งน้ำหนัก คุณหมอจะตรวจดูทารกว่าน้ำหนักขึ้นอย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสัมพันธ์กับสุขภาพ และอาหารของทารกนั่นก็คือน้ำนมแม่
  3. วัดส่วนสูง วัดเส้นรอบศีรษะ
  4. ประเมินพัฒนาการทารกว่าทารกน้อยมีพัฒนาการเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่
  5. เมื่อถึงช่วงวัยที่ต้องรับวัคซีน คุณหมอก็จะฉีดวัคซีนให้ด้วย
ตรวจร่างกายหลังคลอด
ตรวจร่างกายหลังคลอด

สำหรับทารกมักจะพบกับภาวะตัวเหลือง ซึ่งดูเหมือนอาการไม่รุนแรง แต่แท้ที่จริงแล้ว หากลูกมีความผิดปกติรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ภาวะตัวเหลือง โรคร้ายแรงของทารกหลังคลอด

ภาวะตัวเหลืองมีทั้งแบบปกติและผิดปกติ ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) เกิดจากมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่า เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกสลายจะเปลี่ยนเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติ การทำงานของตับที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพจึงทำให้กำจัดออกไปไม่ได้ แต่ถ้าทารกมีภาวะตัวเหลืองผิดปกติ (Pathologic Jaundice) จะเกิดได้จากหลายสาเหตุ

  • ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือแม่มีหมู่เลือด Rh ลบ แต่ลูก Rh บวก
  • ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
  • ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ เกิดได้จากแม่ที่เป็นเบาหวาน
  • ตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการกินนมแม่ ทารกอาจได้รับนมไม่เพียงพอ หรือ ลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติดดูดนมแม่ได้ไม่ดี
  • สาเหตุอื่น เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งทารกจะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

ความรุนแรงของตัวเหลือง ถ้าระดับบิลิรูบินมากเกินไปจะจับที่เนื้อสมอง ทำให้สมองผิดปกติ ในระยะแรกหากได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยเร็ว ก็จะสามารถรักษาไม่ให้สมองถูกทำลาย ลดความรุนแรงของความพิการทางสมองได้ แต่ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที อาจเกิดอาการรุนแรง หยุดหายใจ โคมา จนเสียชีวิตได้

การตรวจร่างกายของแม่หลังคลอด และการตรวจร่างกายของทารกหลังคลอด จึงมีความจำเป็นมาก ๆ สำหรับตัวคุณแม่เองต้องคอยสังเกตอาการให้ดี หากรู้สึกผิดปกติควรพบแพทย์ และควรอ่านสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หรือสมุดวัคซีน เพื่อคอยตรวจดูสุขภาพให้แข็งแรงในทุก ๆ วัน

อ้างอิงข้อมูล : bangkokhospital, si.mahidol.ac.thหมอชญานิศสูตินรีเวชคลินิก และ med.swu.ac.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม่ต้องรู้เท่าทัน!

10 วิธี รักษาแผลผ่าคลอด ไม่ให้เป็นคีลอยด์

ผมร่วงหลังคลอด แม่มือใหม่รับได้มั้ย 6 เคล็ดลับป้องกันผมร่วงให้ลูกจำหน้าแม่ได้แบบสวยๆ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up