นับตั้งแต่เริ่มมีคอมพิวเตอร์ก็มีผลวิจัยพบว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะในสมัยก่อนเด็กมักเล่นนอกบ้าน จึงใช้สายตามองไกล แต่ปัจจุบันเด็กเล่นนอกบ้านน้อยลง อยู่แต่ในบ้าน ดูทีวี เล่นเกมกด หรือใช้คอมพิวเตอร์ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการใช้สายตามองใกล้ เลนส์ตาจึงปรับตัวให้ชินกับการมองใกล้ เมื่อมองไกลจึงไม่ชัด
นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ยังทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาทำงานหนักตลอดเวลา เพราะต้องคอยเพ่งจ้องหน้าจอ จนเกิดความผิดปกติที่เรียกว่ากลุ่มอาการสายตาผิดปกติจากคอมพิวเตอร์ (computer vision syndrome) ทำให้ปวดตา เจ็บเคืองตา ตาพร่ามัว ปวดหัว ปวดคอ
ปวดไหล่ ซึ่งในเด็กมักเป็นได้บ่อยเนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้
– เด็กยังไม่รู้ว่าควรหยุดพักเมื่อใด เมื่อเพ่งนานเกินไปจะลืมกะพริบตา ทำให้ตาแห้ง เกิดอาการตาพร่ามัว ปวดตา
– แม้จะมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เด็กก็ยังไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่อาการยังไม่มาก จนกระทั่งเป็นมากขึ้น ผู้ใหญ่จึงเริ่มสังเกตเห็น
– เด็กมีขนาดร่างกายเล็ก ขณะที่หน้าจอคอมพิวเตอร์และแป้นคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ โต๊ะและเก้าอี้ก็ไม่เหมาะกับขนาดร่างกายและระดับสายตาของเด็ก เด็กวางเท้าไม่ถึงพื้นเลยทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยที่คอและไหล่
การป้องกัน
– พาลูกไปพบหมอตาเพื่อตรวจสายตาเป็นประจำ
– ใช้เก้าอี้แบบปรับระดับได้ และปรับหน้าจอให้ก้มลงประมาณ 15 องศา จะได้ไม่ต้องแหงนคอมาก
– จัดระยะหน้าจอไม่ให้อยู่ใกล้เกินไป โดยควรห่างจากตาประมาณ 18 – 28 นิ้ว
– คุณครูและพ่อแม่ควรทราบถึงอาการที่ควรพาลูกไปตรวจสายตาว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น ชอบขยี้ตา ชอบมองเอียงๆ บ่นปวดหัวปวดตา
– ลดแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้แสงจ้าเกินไป โดยติดแผ่นกรองแสงวางคอมพิวเตอร์ไว้ข้างๆ หน้าต่าง (ไม่ใช่มีหน้าต่างอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง) เพื่อลดแสงแยงตาหรือแสงสะท้อน และลดความสว่างของแสงแวดล้อมโดยติดตั้งไฟที่สว่างน้อยลงหรือทาผนังห้องในโทนสีที่ไม่สว่างเกินไป
– จำกัดเวลาใช้ไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านั้น ต้องหยุดพัก 10 นาที ทุกชั่วโมง
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด