วิธีป้องกันไม่ให้เด็กตกอยู่ในสภาวะกลัวสอบตกที่ดีที่สุด คือคุณพ่อ คุณแม่ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ผลการเรียนของลูก โดยการเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น การกำหนดเป้าหมายในการเรียน ควรเน้นไปที่ความพยายามในการเรียน มากกว่า ผลการเรียน เช่น คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ลูกฝึกฝนทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดเป้าหมายว่าต้องทำวันละกี่ข้อ อ่านหนังสือวันละกี่หน้า และวันละกี่นาที
สอนให้ลูกฝึกทำบันทึกสั้นๆ เอาไว้เตือนความจำก่อนสอบ เพื่อให้ลูกมีวินัยในการเตรียมตัวสอบล่วงหน้า มากกว่าการมาคาดคั้น กดดันว่าลูกต้องสอบได้คะแนนเท่านี้ ต้องได้อันดับที่ 1 พ่อแม่ควรชื่นชมลูกที่ได้พยายาม มีวินัยในการเตรียมสอบ และฝึกฝนด้วยตัวเอง นั่นคือสิ่งสำคัญมากกว่าการได้ผลการเรียนสูงๆ แล้วอยากเอาชนะคนอื่น นอกจากนี้ต้องปลูกฝังให้ลูกมีน้ำใจในการเรียน เมื่อลูกเรียนเข้าใจแล้ว ก็ควรช่วยเหลือเพื่อนๆ โดยการอธิบายให้เพื่อนที่ยังไม่เข้าใจ เป็นการทบทวนการเรียน และทำให้เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะการอธิบายเพื่อน หรือช่วยติวให้เพื่อนจะทำให้ลูกแยกแยะได้ชัดเจนว่าอะไรคือสาระสำคัญ และจดจำได้อย่างแม่นยำ
จุดคิดลบของเด็กที่ไม่แบ่งปันความรู้ ไม่ยอมบอกเพื่อน เพราะกลัวว่าเพื่อนที่สอนให้แล้วจะมีคะแนนดีกว่า คุณพ่อ คุณแม่ควรสอนลูกให้มีมุมมองเชิงบวก ไม่ให้คะแนนสอบมาทำร้ายจิตใจลูก โดยดูว่าคะแนนที่ได้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่สอนเพื่อนมักได้คะแนนดีอยู่แล้ว เพียงแต่น้อยใจเพื่อนที่ลูกสอนกลับได้คะแนนดีกว่า ให้ลูกมองโลกในแง่บวกว่า ลูกอธิบายเพื่อนเรื่องเนื้อหาในการเรียนจนเพื่อนเกิดความเข้าใจ เพื่อนจึงทำคะแนนได้ดี ลูกควรภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อน
เด็กที่เรียนเก่ง ได้ที่ 1 ด้วยความกดดัน จะทำให้เขาไม่สามารถใช้ความเก่งได้อย่างสนุกสนาน ไม่สามารถค้นหาความถนัด และตัวตนของตัวเอง เพราะเขาจะเรียนเพื่อเอาชนะคนอื่น หรือต้องการให้คนอื่นยกย่อง โดยไม่สนใจความต้องการของตัวเองว่าต้องการอะไรกันแน่ ถ้าเด็กสนุกกับการเรียนรู้ กับเรื่องที่ชอบ พ่อแม่ก็จะสามารถเติมทักษะนั้นให้ลูกได้อย่างตรงจุด เช่นเรื่องบัญชี หรือการเงิน เขาก็จะโตไปประกอบอาชีพได้อย่างประสบความสำเร็จ หรือถ้าลูกชอบดนตรี ก็ส่งเสริมลูกให้เรียนด้านดนตรี เพราะทุกอาชีพสามารถสร้างรายได้ และทำให้เขามีความสุขกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และกระทำไปได้ตลอดชีวิต
อ่านเพิ่มเติม คลิก!! ยัดเยียดการเรียนให้ลูกมากเกินไป จนลูกน้อยสติขาด
เครดิต: facebook.com/EducationFacet ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร