เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลมาได้อย่างไร?
นพ.กำธร มาลาธรรม ระบุว่า เชื้อดื้อยาพบมากขึ้นในระยะหลัง คือ มีคนไข้มีเชื้อดื้อยาติดตัวมาแล้วจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง และมากเกินไป เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ยาฆ่าเชื้อมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น เช่น เมื่อรับประทานยาฆ่าเชื้อมาก่อนแล้วเกิดดื้อยา ต้องรับประทานยาที่แรงขึ้น ทำให้บางครั้งยาที่ใช้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และไม่มียาอื่นมารักษาต่อ จนทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด
อาการดื้อยากับ 7 โรคเสี่ยง
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคได้อีกต่อไป ใน 114 ประเทศทั่วโลก ดร.เคอิจิ ฟุกุดะ (Keiji Fukuda) ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การติดเชื้อและอันตรายอื่นๆ ที่เคยรักษาได้มานานหลายทศวรรษนั้นสามารถกลับมาฆ่าเราได้อีกครั้ง การดื้อยา ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะแบคทีเรียทั่วไป 7 ชนิด เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) โรคท้องร่วง (Diarrhea) โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections) และโรคหนองใน (Gonorrhoea)
วิธีสู้กับการดื้อยา
1.ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น
2.ใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
3.ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับผู้อื่นหรือใช้ยาปฏิชีวนะที่เหลือจากการสั่งยาครั้งก่อน
เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ไทยพับลิก้า