เหาเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ แต่ไม่น่ารัก อาศัยและวางไข่อยู่บนเส้นผม บริเวณใกล้โคนผมหรือหนังศีรษะของคน และดูดเลือดเป็นอาหาร (ถ้าไม่ได้ดูดเลือด มันจะตายภายใน 2 สัปดาห์) เป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ง่ายๆ หากเอาศีรษะมาชิดกัน นอนบนหมอนหรือที่นอนเดียวกัน ใช้หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หรือหมวกร่วมกัน และแม้กระทั่งกอดหรือเล่นตุ๊กตาตัวเดียวกัน มักระบาดตามโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก
เด็กที่เป็นเหาส่วนใหญ่มักมีอาการคัน แต่บางคนอาจไม่คันเลยก็ได้ การป้องกันไม่ให้ลูกติดเหาจากเพื่อน ทำได้โดยการไม่ให้เด็กๆ ใช้สิ่งของดังกล่าวร่วมกัน ส่วนการรักษาทำได้โดยการใช้ยาฆ่าเหาทาให้ทั่วหนังศีรษะก่อนนอน แล้วล้างออกในตอนเช้า ระวังอย่าให้เข้าตาลูก แล้วใช้หวีซี่เล็กๆ ที่เรียกว่าหวีเสนียดสางเอาไข่ที่ยังเกาะติดให้หลุดออกไปให้มากที่สุด (ยาฆ่าได้เฉพาะตัวเหาค่ะ) แล้วทำซ้ำอีกครั้งในอีกหนึ่ง สัปดาห์ (รอให้ไข่ฟักออกมาเป็นตัว)
หลังการรักษา ต้องตรวจดูทุกวันต่อไปอีก 2 สัปดาห์ว่ายังมีเหาหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ เพราะถ้ามีจะได้รีบรักษาซ้ำก่อนที่จะแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก อย่าลืมกำจัดตัวเหาและไข่ที่ตกอยู่ตามที่ต่างๆด้วย เพราะอาจกลับมาติดใหม่ได้ โดยการซักในน้ำร้อนหรือใช้ความร้อนอบแห้ง
ถ้าเป็นของที่ซักไม่ได้ก็เช็ดให้แห้ง แล้วเก็บใส่ถุงซิปที่ล็อกปิดสนิทเพื่อกันไม่ให้อากาศเข้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับพรมหรือเบาะโซฟาที่อาจมีเหาหล่นอยู่ ให้ใช้ เครื่องดูดฝุ่นดูดออกให้มากที่สุด
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด
ภาพ : shutterstock