ความเชื่อผิดอย่างที่ 4
“การตี ทำให้เด็กเป็นคนว่านอนสอนง่าย”
ความจริงก็คือ เราควรสอนเด็กด้วยการกระตุ้นให้เด็กสำรวจค้นคว้า หาความรู้ด้วยตัวเอง ตั้งคำถามและเรียนรู้ถึงความสนุกเพลิดเพลินในการค้นหาคำตอบเป็นส่วนใหญ่ของกระบวนการเรียนรู้และการลงโทษด้วยความรุนแรงทำให้เด็กไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ และไปให้ถึงเป้าหมายของตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะเป็นในการที่จะประสบความสำเร็จในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว แข่งขัน และต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
การบังคับให้เด็กเชื่อฟังอย่างไม่ลืมหู ลืมตา โดยใช้ความรุนแรงคุกคาม ย่อมเป็นการสกัดกั้นความริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งจะมีผลไปถึงวัยผู้ใหญ่อย่างแน่นอน
ความเชื่อผิดอย่างที่ 5
“ฉันใช้การตีเป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ”
ความจริงก็คือ การกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นความพยายามที่จะหาเหตุมาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก เท่านั้นเอง สามีควรจะทุบตีภรรยา เมื่อไม่มีวิธีอื่นๆ ที่จะพูดให้เข้าใจกันได้แล้วหรือไม่? หากไม่สมควร การทำเช่นนี้กับเด็กก็ไม่น่าจะยอมรับได้ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพบบ่อยๆ ว่า พ่อแม่และครูมักจะใช้การลงโทษด้วยความรุนแรงเมื่อเด็กทำผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นด้วย
ความเชื่อผิดอย่างที่ 6
“การเฆี่ยนตีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา”
บางคนมักถือว่า การเฆี่ยนตีหรือลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา และความคิดที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ในการสร้างวินัยเด็กเป็นการยัดเยียด “วิธีคิดแบบตะวันตก” หรือแบบฝรั่งเข้ามาในวัฒนธรรมไทย ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในบ้านเรา
ซึ่งที่จริงการลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตีเคยมีอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูเด็กที่มีประสิทธิภาพ แล้วพบว่า การลงโทษเด็กด้วยการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงก่อผลเสียมากกว่าผลดี แต่ความจริงแล้วมีค่านิยมหลักอยู่สองประการในสังคมเอเชียคือ การรักษาความสามัคคีและปรองดองกันในสังคม และการใช้ความสามารถทางจิตใจเพื่อควบคุมหรือสร้างวินัยให้ร่างกาย การใช้ความรุนแรงนั้นขัดแย้งกับค่านิยมทั้งสองอย่างนี้ และยังทลายความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมด้วย