สอนลูกให้พอเพียง นั้นไม่ยาก เริ่มต้นจากพ่อแม่ ยกตัวอย่างที่ง่าย เปรียบเทียบชัดเจน ผ่านสถานการณ์ที่เด็กๆ คุ้นเคย และที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
สำหรับเด็กเล็กๆ แล้ว การจะสอนสิ่งใดไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะสมองของเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ จัดเป็นวัยทองที่พร้อมจะรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ ทว่าสิ่งสำคัญของการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักอย่างมากก็คือ “การยกตัวอย่าง” เปรียบเทียบให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องราวและเห็นภาพต่างๆ ที่กำลังเรียนรู้อย่างชัดเจน ผ่านการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงกับตัวอย่างที่ผู้ใหญ่ยกมาเปรียบเทียบให้ดูให้ฟัง ยิ่งหากเป็นเรื่องเชิงนามธรรม ผู้ใหญ่ยิ่งต้องรู้จักยกตัวอย่างประกอบการอธิบายที่ง่าย ชัดเจน แต่สร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องราวได้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น
ปัจจุบันท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันสูงแทบทุกครอบครัวใช้ชีวิตตามกระแสวัตถุนิยม ใช้จ่ายเพื่อความทัดเทียมเกินกำลังความสามารถของตน จนหลายครอบครัวอยากกลับมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่กว่าที่ผู้คนจะเห็นความสำคัญของคำว่า “พอเพียง” อย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มักจะสายเกินไป บางครั้งครอบครัวอาจถึงขั้นล้มละลาย หรือบางครอบครัวอาจสร้างนิสัยฟุ้งเฟ้อให้เด็กๆ ไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กๆ ได้ซึมซับตัวอย่างการใช้ชีวิตจากพ่อแม่ไปแล้ว
นิทานคุณธรรมจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องและภาพโดยอาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ เป็นหนังสือภาพที่คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบยกนำมาอ่าน มาเล่า สอนลูกให้พอเพียง สร้างพื้นฐานได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพราะผู้เขียนได้นำแนวคิดจากพระราชดำรัสมาย่อยประเด็นให้ง่ายผ่านสถานการณ์ที่เด็กๆ คุ้นเคย คือ “การเล่น”
สอนลูกให้พอเพียง ผ่านหนังสือภาพ “ความพอเพียง”
หนังสือภาพ “ความพอเพียง” นำเสนอเรื่องราวผ่านเด็กชายมาดี ตัวละครเอกที่ชักชวนเพื่อนๆ มาเล่นด้วยกัน แต่กลับไปพบแผ่นพับโฆษณาของเล่นเสียก่อน ทำให้เด็กๆ อยากได้ของเล่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จึงรีบแยกย้ายกลับบ้านไปนำของเล่นเก่าที่ตัวเองมีมาเปรียบเทียบกับของเล่นใหม่ในแผ่นโฆษณา เพื่อจะได้ไปบอกคุณแม่ให้ซื้อเพิ่ม แต่เมื่อเด็กๆ นำของเล่นที่ตัวเองมีมารวมกันก็พบว่า ของเล่นของทุกคนรวมกันนั้นช่างมากมายเหลือเกิน แล้วก็แทบจะไม่ต่างจากของเล่นในแผ่นโฆษณาด้วย เด็กๆ จึงตัดสินใจไม่ซื้อของเล่นใหม่ แต่เรียนรู้ที่จะแบ่งและแลกเปลี่ยนของเล่นที่มีอยู่อย่างมากมายของทุกคนมาเล่นด้วยกันแทน…
ผู้เขียนนำแนวคิดเกี่ยวกับ “ความพอเพียง” มาบอกเล่าผ่าน “การเล่น” ซึ่งนับเป็นการยกตัวอย่างที่ชัดเจน เด็กๆ สามารถเข้าใจเรื่องของ “ความพอเพียง” ได้ไม่ยากว่า ความพอเพียง คือ การรู้จักพอประมาณ การไม่โลภมาก หากรู้จักคิดและปฏิบัติดังตัวอย่างในเรื่องก็จะทำให้เกิดความสุขกับสิ่งที่มีได้ง่ายๆ … เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นก้าวแรกๆ ของการปลูกฝังเรื่อง “ความพอเพียง” เพื่อเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของเด็กๆ ต่อไปได้
แต่ถึงอย่างไร ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ในชีวิตก็คือ “พ่อแม่” หากพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องการให้เด็กเติบโตมาเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตนเป็นตัวย่างให้เด็กๆ ด้วย เพราะพ่อแม่จัดเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กๆ มากกว่าบุคคลอื่นๆ ยิ่งหากพ่อแม่ท่านใดที่มาเวลาน้อย การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากการให้เวลาเด็กๆ เพียงวันละนิด เพื่อบอกเล่า พูดคุย หรือให้คำปรึกษา เด็กๆ จะได้รู้สึกอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยว และไปแสวงหาคำตอบที่ต้องการรู้กับบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ ที่ไกลตัว