เมื่อลูกชอบโกหกจนเป็นนิสัย โกหกทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ห้ามแล้ว ดุแล้ว ก็ยังโกหก แล้วจะแก้ไขนิสัยนี้ของลูกอย่างไรให้ได้ผล ไปดูกันค่ะว่า แท้จริงแล้ว เด็กที่ชอบโกหก เขามี “นิสัย” แบบนั้นจริงหรือ?
Q: รู้สึกกลุ้มใจกับการโกหกของลูกชายที่อยู่ชั้น ป.4 จังค่ะ เมื่อวันก่อน ลูกชายบอกว่า เพื่อนให้หนังสือกลยุทธพิชิตเกมมา แต่คุณแม่ของเพื่อนลูกชายโทรศัพท์มาบอกว่า ลูกชายไม่ยอมคืนหนังสือที่ให้ยืมไปค่ะ บางครั้ง ทำถ้วยแก้วแตกก็โทษน้องสาว 4 ขวบว่าเป็นคนทำ ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการโกหก ทุกครั้ง ดิฉันจะบอกว่า “พูดโกหกไม่ได้นะ” แต่ก็ยังทำอีก เป็นห่วงว่าหากปล่อยไว้แบบนี้แล้วจะกลายเป็นคนที่มีนิสัยชอบโกหกไป ควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ
A: เวลาที่รู้ว่าลูกโกหก มีการถามในเชิงตำหนิหรือไม่คะว่า “ทำไมถึงโกหกบ่อยอย่างนี้” “นี่คงโกหกอีกล่ะซิ” หากเป็นเช่นนี้ สัญชาตญาณในการป้องกันตัวเองของลูกจะเริ่มทำงาน ทำให้ลูกโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงแม้จะดุลูกว่า “อย่าพูดโกหก” ก็ไม่ช่วยทำให้ลูกหายได้นะคะ
วัยเด็กในทางจิตวิทยา กล่าวว่าเป็นช่วงวัยจินตนาการตามนิทาน ลูกชายของคุณแม่ตอนเด็กๆ เคยทำแบบนี้ไหมคะ เมื่อเขาอยากเจอกับสัตว์ประหลาด เขาก็บอกว่า “ผมไปเจอสัตว์ประหลาดมาแล้ว” หรือ เมื่อเขาคิดว่าเขาอยากเป็นยอดมนุษย์ เขาก็พูดอย่างจริงจังว่า “ผมเป็นยอดมนุษย์” ในเวลาเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจดุลูกว่า “ทำไมพูดแบบนี้ โกหกอยู่เรื่อยเลย” แต่ลูกไม่ได้ตั้งใจที่จะพูดโกหกเลยแม้แต่น้อยค่ะ ลูกพูดตามกระบวนการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของเขาเอง แต่หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ แล้วกล่าวตำหนิลูกว่า “อย่าโกหก” บ่อยๆ ถึงแม้จะโตเป็นเด็กประถมแล้วก็ตาม ลูกก็ยังคงพูดโกหกต่อไป
หากรู้ว่าสิ่งที่ลูกพูดออกมานั้นเป็นการโกหก สิ่งสำคัญคือต้องไม่ต่อว่าลูกทันที “ที่พูดมานี้ โกหกใช่ไหม บอกแล้วใช่ไหมว่าอย่าโกหก” แต่ควรถามลูกด้วยความใจเย็นว่า “มีอะไรหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้น” แล้วรับฟังความในใจของลูก การที่ลูกโกหกอาจเพราะต้องการความรักจากคุณแม่ก็เป็นได้ค่ะ