จะห้ามลูกออนไลน์เลยคงเป็นไปไม่ได้ ทางที่ดี มาจับเข่าคุยหาข้อตกลงในการใช้อินเทอร์เน็ตกันดีกว่า
5 ข้อห้าม พึงจำใส่ใจ
1.อย่า ใส่ข้อมูลส่วนตัวลงในหน้าเว็บไซต์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อ – นามสกุลของตัวเองหรือของผู้ปกครอง ที่อยู่ โรงเรียน เบอร์โทรศัพท์ หรือเลขบัญชีธนาคาร เพราะข้อมูลเหล่านั้นอาจไปตกอยู่ในมือของพวกมิจฉาชีพ ถ้าหากบางเว็บไซต์ที่เปิดรับสมัครสมาชิกมีการขอให้ใส่ชื่อและที่อยู่ บอกลูกว่าให้ใส่เพียงคร่าวๆ (เช่น ชื่อเล่นและจังหวัด) แต่ต้องไม่ใส่บ้านเลขที่หรือเบอร์โทรศัพท์อย่างเด็ดขาด
2.อย่า ให้ข้อมูลส่วนตัวแก่ใครที่ไม่รู้จัก เราไม่มีทางรู้หรอกว่า คนที่นั่งอยู่หน้าจออีกฝั่งหนึ่งเป็นคนดีหรือคนร้าย
3.อย่า ตอบตกลงพบเพื่อนทางอินเทอร์เน็ตแบบสองต่อสอง ถ้าอยากพบเพื่อนจริงๆ ให้ปรึกษาพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้เพื่อให้ผู้ใหญ่เป็นคนพาไป (การพาเพื่อนวัยเดียวกันไปเป็นเพื่อนให้ผลเท่ากับการเพิ่มเหยื่อเป็น 2 ราย) และควรพบกันในสถานที่สาธารณะซึ่งปลอดภัย ในเวลาอันเหมาะสม
4.อย่า ปิดบังพ่อแม่หากเกิดปัญหาใดๆ จากการเล่นอินเทอร์เน็ต และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำให้ลูกมั่นใจว่า คุณจะเป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุด ไม่ใช่เป็นตำรวจซึ่งจะคอยจับผิดหรือซ้ำเติมยามเขาทำผิดพลาด
5.อย่า ลืมว่า ตัวจริงของคนที่พูดคุยในอินเทอร์เน็ตอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เขากล่าวอ้าง
3 ข้อควรปฏิบัติ
1.หลีกเลี่ยงเว็บไซต์รวมไปถึงเว็บบอร์ด และแชตรูมที่ไม่เหมาะสม เว็บไซต์เหล่านั้นนอกจากจะมีข้อมูลที่ไม่ดีและทำให้ลูกเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงแล้ว ยังมักมีไวรัสคอมพิวเตอร์หรือสปายแวร์ แอบแฝงอยู่มากมาย เพียงแค่คลิก เครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกก็ติดไวรัสไปเรียบร้อย
2.ไม่ตอบหรือติดต่อฝ่ายตรงข้ามเมื่อได้รับข้อความที่อันตราย เช่น หากลูกถูกคนไม่รู้จักเข้ามาทักตอนล็อกอินเข้าไปในโปรแกรมสนทนาออนไลน์ ให้ตัดบทสนทนาทันที หรือถ้ามีฟอร์เวิร์ดเมล์ภาพลามกหรือภาพน่ากลัวต่างๆ รวมไปถึงอีเมลลูกโซ่ ก็ควรลบเมลนั้นทิ้งโดยไม่ต้องเสียเวลาอ่าน และไม่จำเป็นต้องส่งต่อ
3.พูดคุยกับพ่อแม่เกี่ยวกับสังคมไซเบอร์ที่เข้าไปมีส่วนร่วม ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเอาใจใส่ไต่ถาม (แต่ไม่ใช่การสอบสวน) สร้างบรรยากาศของการพูดคุยภายในบ้าน เพื่อให้ลูกกล้าที่จะพูดถึงสิ่งที่พบเจอในอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องปิดบัง เพื่อให้พ่อแม่สามารถคัดกรองและให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง