ความรัก ความลำเอียง และความเป็นกลาง
นักวิจัยอเมริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า 70% ของพ่อแม่มักมี “ลูกรัก” ที่รักมากกว่าลูกคนอื่นๆ นักวิชาการเชื่อว่าพ่อแม่มีความรัก 2 มาตรฐาน เช่นเดียวกับนักวิชาการอังกฤษจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ที่พบว่าพ่อแม่จะรักลูกคนโตมากกว่าคนเล็ก ลูกคนแรกจะได้รับการเอาใจใส่มากกว่า ได้รับการเลี้ยงดูดีกว่า ได้รับของขวัญที่มีค่ากว่า ส่งผลให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีไอคิวสูง เนื่องจากได้รับการเอาใจใส่
งานวิจัยนี้ยังยืนยันว่า ตามธรรมชาตินั้น พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ทุกคนมี 2 มาตรฐาน แต่เป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะกล้ายอมรับ ว่ารักลูกไม่เท่ากัน แต่การแสดงออกจะเป็นสิ่งที่ “ลูกชัง” รู้สึกถึงความลำเอียงนั้นได้ไม่ยาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ ตามมาในอนาคต ทั้งต่อตัวลูก พ่อแม่ และสังคม
“ลูกรัก” ของพ่อ และแม่ อาจไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป บางครั้งพ่ออาจจะรักลูกคนโตมากกว่า ส่วนแม่อาจจะเอนเอียงไปทางลูกคนเล็ก บางครั้งอาจเป็นลูกสาว หรือลูกชายที่เป็น “ลูกรัก” ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ เช่น ลูกคนไหนเหมือนพ่อแม่มากกว่ากัน ลูกคนไหนเข้าใจพ่อแม่ได้ดีกว่า ลูกคนไหนประสบความสำเร็จ เจริญรอยตาม หรือชดเชยในสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่สำเร็จ ใครเข้มแข็งหรืออ่อนแอกว่ากัน ใครได้ดังใจ หรือทำให้พ่อแม่ปลื้มมากกว่ากัน เป็นต้น
กล้ายอมรับหรือไม่? ว่ารักลูกไม่เท่ากัน
“พี่น้องต้องรักกัน” เป็นประโยคที่พ่อแม่ทุกบ้านคอยปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเล็ก แต่ไม่มีพ่อแม่คนไหนยอมรับว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกทะเลาะกัน มาจากพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ไม่มีใครกล้าขุดคุ้ยให้เกิดรอยร้าวในครอบครัว ทั้งที่รู้กันอยู่แก่ใจว่า นั่นคือก้นบึ้งในจิตใจของพ่อแม่
นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน เจฟฟรีย์ คลูเกอร์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส และนักเขียนอาวุโสนิตยสารไทม์ ใช้เวลาค้นคว้าศึกษานานหลายปี และเขียนหนังสือ “THE SIBLING EFFECT” ระบุว่า 95% ของพ่อแม่ทั่วโลกรักลูกไม่เท่ากัน และโอ๋ลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขณะที่อีก 5% เป็นพวกโกหกตัวเอง พยายามห้ามไม่ให้ตัวเองแสดงออกว่าลำเอียง
จากผลการศึกษาแบบเจาะลึก ทำให้พบว่าลูกชายคนโต มักจะเป็นลูกคนโปรดของแม่โดยธรรมชาติ ขณะที่ลูกสาวคนเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มขี้อ้อน มักจะเป็นลูกคนโปรดของพ่อ สำหรับลูกคนกลาง มักจะรู้สึกน้อยใจ ไม่ได้รับความรัก ความสนใจของพ่อแม่ มีผลวิจัยยืนยันว่า “ลูกคนกลางไม่มีวันได้เป็นลูกรัก”
ความเข้าใจของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อ คุณแม่ เอ็นดูลูกต่างกันได้ แต่ต้องรักลูกให้เท่ากัน พูดให้ลูกเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อ คุณแม่ต้องใส่ใจลูกอีกคนมากกว่า และไม่แสดงความลำเอียงให้ลูกเห็น จนน้อยใจ
เครดิต: LIEKR, กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ 15 สิ่ง เพื่อให้ลูกรู้ว่า “พ่อแม่รักลูก”
เลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” คุณเองก็ทำได้!
หนูต้องซื้อปาฏิหาริย์ราคาเท่าไหร่ ให้น้องหายป่วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่