เด็กวัย 3-5 ขวบบางคนจะเริ่มสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพื่อให้เพื่อนในจินตนาการเป็นคนบอกในสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ความกลัวหรือสิ่งที่เขาอยากทำหรือไม่อยากทำแต่ไม่สามารถบอกได้ตรงๆ ในชีวิตจริง
ครูแป๋ม-คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด อธิบายว่า “การมีเพื่อนในจินตนาการ อาจเป็นเพราะเด็กรู้สึกไม่มั่นใจ หรือไม่ได้รับอิสระให้ทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง หมายรวมไปถึงทำอะไรก็มักจะถูกดุ จนรู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่เก่งพอ ทำอะไรก็ผิด ไม่ดี ไม่สำเร็จจึงต้องสร้างตัวแทนขึ้นมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ใส่ใจปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
“เด็กๆ หลายคนมีศักยภาพในตัวเองสูง แต่ในสายตาพ่อแม่ เขากลับทำได้ยังไม่ดีพอเท่าที่พ่อแม่ต้องการ ความกดดันจะมารวมอยู่ที่เขาทันที รู้แบบนี้แล้วพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดความคาดหวังให้เหมาะสมกับวัยลูกก็จะดีค่ะ
คุณพ่อคุณแม่คนไหน กำลังเจอะเจอเพื่อนในจินตนาการของลูกอยู่ ไม่ต้องกังวล ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่านี่ก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการของลูก พ่อแม่ควรส่งเสริมด้วยการพูดคุยกับเขาอย่างใจเย็น เปิดโอกาสให้ลูกและเพื่อนในจินตนาการของเขาได้พูดหรือบอกเล่า
“เพื่อนเขาเป็นยังไง แม่มองเห็นได้ไหม เขามีจริงหรือเปล่า ลูกมีอะไรเล่าให้แม่ฟังได้ไหม แม่พร้อมจะฟังและเข้าใจนะ” หรือ “เพื่อนในจินตนาการของลูก มีอะไรอยากบอกแม่หรือเปล่า แม่ยินดีฟังนะ” เราก็จะเข้าใจโลกของเขามากขึ้น เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกได้ว่าเขาสามารถบอกพ่อกับแม่ได้ เมื่อนั้นเพื่อนในจินตนาการก็เริ่มหายไปเอง
จากคอลัมน์ Ages 3-5 นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด (Play Therapist) โรงพยาบาลมนารมย์ | Facebook fanpage: Play Story by Pam
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock