คุณพ่อ คุณแม่อาจมีความกังวลว่าถ้าลูกโตขึ้นจะดูถูกคนอื่นหรือไม่ เมื่อพบว่าลูกชอบเปรียบเทียบว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่เคยชม หรือให้ท้าย จึงอยากหา วิธีสอนลูกโตไปไม่ดูถูกคนอื่น ตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กหลงตัวเอง
การดูถูกคนอื่น ไม่ใช่นิสัยของคนดี ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน พูดจาถากถาง ดูแคลนคนที่ด้อยกว่า เพียงเพราะความสนุกสนาน เมื่อบ่อยเข้าอาจกลายเป็นนิสัยและติดตัวไปจนโต คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนลูกน้อยว่าการแสดงอาการแบบนี้จะทำให้คนอื่นไม่ชอบ มองเราไม่ดี ไม่น่าคบ และอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม พื้นฐานทางจิตใจ การอบบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม และการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะขัดเกลาจิตใจของลูกน้อยให้ใสสะอาด
การที่ลูกแสดงอาการดูถูกคนอื่น อาจจะเป็นเพราะว่าต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่ชมบ้าง การชื่นชมลูกที่ทำดี กับการยกยอลูกแตกต่างกัน การชื่นชมลูกเมื่อลูกทำดี จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจในทางบวก ผลักดันให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกน้อยด้วย เมื่อลูกโตขึ้น เขาจะมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง

ถ้าหากคุณพ่อ คุณแม่ได้ยินลูกน้อยแสดงอาการดูถูกคนอื่น ทั้งความคิด คำพูด หรือการกระทำ ให้ค่อยๆ แนะนำเขา และสอนเขาว่า คนแต่ละคนมีความสามารถ หรือความเก่งแตกต่างกัน บางอย่างที่เราไม่ถนัด คนอื่นเขาอาจจะทำได้ดีกว่า เพราะคนเราไม่สามารถที่จะเก่งได้ทุกด้าน ลองชวนลูกพูดคุย และสอนให้เขารู้จักช่วยเหลือคนอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากคนที่เก่งกว่า เขาจะรู้จักยอมรับความสามารถคนอื่นได้
ปล่อยให้ลูกน้อยเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านการถาม และตอบด้วยเหตุผล ซึ่งในเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบยังไม่เข้าใจในนามธรรม เช่น การดูถูกคนอื่น การเหยียดหยามคนอื่น ในวัยนี้ การชม หรือการลงโทษจะทำให้เขาเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วดี และสิ่งในทำแล้วไม่ดี เมื่อลูกน้อยโตขึ้น ประสบการณ์ทุกอย่างที่เขาได้สะสมมาจะช่วยให้เขาเรียนรู้ และพัฒนาพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น
1.ชื่นชมเมื่อลูกทำความดี และไม่ควรชื่นชมลูกพร่ำเพรื่อ
2.ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ
3.อย่าใช้คำว่า “เก่ง” ให้พูดว่าสิ่งที่ลูกทำนั้น “ดี” แล้ว เช่น ถ้าลูกช่วยล้างจาน ให้ขอบคุณลูก ดีใจที่ลูกช่วย
หนังสือ พ่อสอนลูก ของ ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ น.44-46 กล่าวไว้ว่า ไม่อวดดี ถือตัว หรือเย่อหยิ่ง จองหอง ดูถูก เหยียดหยามคนอื่น แต่จะต้องรู้จักเจียมตัว ไม่ทำตัวให้สูงเกินกว่าฐานะที่เป็นจริง