3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จ.กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2402 แต่เดิมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้าซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง
ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีพื้นที่พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้งส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและถาวร ที่รวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งการพาเด็ก ๆ หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองเข้ามาชม ก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น พร้อมทั้งได้ชมความงดงามของพระที่นั่งต่าง ๆ อีกทั้งศิลปวัตถุ โบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก และผ้าโบราณ ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง อาทิ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน อาคารมหาสุรสิงหนาท โรงราชรถ เก๋งนุกิจราชบริหาร พระตำหนักแดง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นต้น ทั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสื่อสารเนื้อหาจากตัววัตถุแก่ผู้ชม ทั้งทัชสกรีน วีดิทัศน์ และ แอพพลิเคชั่น QR-Code / AR-Code เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ที่ตั้ง : ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด : วันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
โทรศัพท์ : 0 2224 1370
ค่าเข้าชม : คนไทย 30 บาท ยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.virtualmuseum.finearts.go.th,
4.หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.อยุธยา
หมู่บ้านญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ที่ได้จารึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปัจจุบันสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ได้ปรับปรุงบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่มีความจงรักภักดีต่อราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิมด้วย
ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น มีนิทรรศการและมัลติมีเดีย “ยามาดะ นางามาซะ ออกญาเสนาภิมุข และท้าวทองกีบม้า” บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในราชสำนักอยุธยา” มีเรื่องราวและหุ่นขี้ผึ้งของ ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ซึ่งเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ได้สมรสกับคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งในช่วงปลายของชีวิตได้เข้ารับราชการจน ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า และนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในกรุงสยาม เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง
ส่วนด้านในแบ่งออกเป็นอาคาร 9 ส่วน ได้แก่
- ห้องวีดีทัศน์นำเสนอภาพรวมของพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทั้งไทยและญี่ปุ่น
- แผนที่เดินเรือมายังกรุงศรีอยุธยาแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศแสดงความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา จากอดีตสู่ปัจจุบัน
- ห้องจัดแสดงใต้ท้องเรือจำลองการขนสินค้านำเข้าและส่งออกในสมัยอยุธยา
- ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา
- ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุธยานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเข้ามาของคนญี่ปุ่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ ศาสนา รวมทั้งการลดจำนวนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งสืบเนื่องจากการปิดประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบของแอนิเมชั่น
- ลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นแสดงด้วยตารางลำดับเหตุการณ์เปรียบเทียบเหตุการณ์โลก ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 คราวตั้งอาณาจักรอยุธยาถึงปัจจุบัน
- ห้อง e-book
- เรือโบราณจำลองจัดแสดงแบบจำลองเรือโบราณที่มีหลักฐานว่าเข้ามาติดต่อกับพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ยังมีสวนและศาลาญี่ปุ่น ให้นั่งพักผ่อนสบาย ๆ ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ เรียกว่าพาเด็ก ๆ มากระตุ้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ รู้จักท้าวทองกีบมาจากละครดังเพิ่มขึ้น เดินดูสนุก ได้สาระประโยชน์เพียบ แถมยังมีมุมถ่ายรูปสวย ๆ ด้วยนะคะ
หมู่บ้านญี่ปุ่น
ที่ตั้ง : หมู่บ้านญี่ปุ่น ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 50 บาท / นักเรียน 20 บาท
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.mthai.com
อ่านต่อ 5 แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ พาลูกย้อนรอยอดีต เดินดูสนุก คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่