ปฐมวัยเปลี่ยนโลก

School Visit “ปฐมวัย” เปลี่ยนโลก

Alternative Textaccount_circle
event
ปฐมวัยเปลี่ยนโลก
ปฐมวัยเปลี่ยนโลก

คุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ปฐมวัย การดูแลเด็กในช่วงวัยนี้อย่างเหมาะสมจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและถือเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าที่สุด ฉบับนี้เราจะพาไปรู้จักโครงการ RIECE Thailand อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งทีมงานมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมถึงที่ จึงขอเก็นภาพและเรื่องราวมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

 

โครงการ RIECE Thailand

            หรือโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ริเริ่มโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยเงินทุนสนับสนุนหลักจากนักธุรกิจผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 24 แห่ง ในเขตจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นภาพสะท้อนที่ดีที่สุดของชนบทในประเทศไทย

เนื่องจากจังหวัดมหาสารคามไม่ใช่เมืองใหญ่หรือจังหวัดห่างไกล แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า เด็กจำนวนมากถึง 42.17% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือเรียกว่า “ภาวะพ่อแม่ห่างลูก” ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 30% ภาวะพ่อแม่ห่างลูกนี้ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก โครงการฯจึงเข้ามาเพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 49 แห่ง ครอบคลุมเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 2-4 ปี จำนวนประมาณ 2,000 คน ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลเด็กแลเยาวชนในช่วงปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการใช้หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2558

 

            ทำไมต้อง “ไฮสโคป”

จากงานวิจัยของ เจมส์ เฮ็กแมน (James J. Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ทำการติดตามเด็กปฐมวัย 2 กลุ่มเป็นเวลา 27 ปี พบว่าเด็กที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการสมวัยด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคปมีผลกระทบเชิงบวก เช่นเรียนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือการศึกษาสายอาชีพหรือระดับมหาวิทยาลัยมีงานทำมากกว่า และมีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น ถูกจับกุมเป็นอาชญากรและภาระสังคมน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัย เป็นต้น เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าในเชิงของการลงทุน ผลของงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การลงทุนใน 1 บาทจะได้ผลประโยชน์คืนกลับต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมประมาณ 7-12 บาท

“ทำไมถึงเลือกไฮสโคป เพราะผมเลือกจากประสิทธิผลสูงสุดเมื่อเทียบกับต้นทุนการลงทุน ผมจะไม่บอกว่าไฮสโคปคือวิ่งที่ดีที่สุด ไฮสโคปเด่นเรื่องทักษะการเข้าสังคม  ซึ่งเฮ็กแมนพบว่า ไอคิวไม่ได้ต่างกันมาก แต่ทักษะทางสังคมเป็นสิ่งที่สร้างยาก และในเมื่อการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปลงทุนน้อยแต่ให้ตอบแทนสูงสุด ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการฯ กล่าว

 

            การเรียนรู้แบบไฮสโคป

หัวใจของไฮสโคปเน้น 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ วางแผน (Plan) โดยการเปิดโอกาสให้เด็กไว้วางแผนและเลือกทำในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ซึ่งทักษะที่เด็กได้จากการวางแผนคือ เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และถูกกระตุ้นให้คิดและตอบคำถาม ลงมือปฏิบัติ (Do) ในห้องเรียนไฮสโคป เด็กจะทำกิจกรรมในมุมที่เลือกไว้เป็นเวลา 30-45 นาที การเล่นและลงมือปฏิบัติจะฝึกให้เด็กได้สำรวจ ทดลอง ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ เลียนแบบ รู้จักเข้าสังคมและทำงานเป็นกลุ่ม และสุดท้าย การทบทวน (Review) หลังจากจบกิจกรรม เด็กๆกลับเข้ากลุ่มในตำแหน่งของตัวเอง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการทบทวน โดยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ครูจะเปิดโอกาสให้เพื่อนตั้งคำถาม และผู้นำเสนอจะตอบคำถามเพื่อน ซึ่งเป็นการฝึกการสื่อสารด้วยการเล่าประสบการณ์ของตัวเองต่อหน้าผู้อื่น เด็กจะกล้าแสดงออก รู้จักคิดตั้งคำถาม และเป็นผู้ฟังที่ดี

 

ครู” กุญแจสำคัญต่อความสำเร็จ

การสอนแบบไฮสโคปหัวใจสำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ “ครู” เพราะครูคือผู้ฝึกทักษะการเรียนรู้และเอาใจใส่ต่อพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูในโครงการฯ จึงต้องจบการศึกษาด้านปฐมวัยโดยตรง และผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง เพื่อให้ครูได้เรียนรู้และเข้าใจทักษะกระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง จนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับมีระบบนิเทศ โดยทีมวิชาการจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็น “ที่ปรึกษา (coaching)” แก่ครูที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

 

กิจกรรม “พานิทานกลับบ้าน”

โดยโครงการฯ จะจัดหาหนังสือเด็ก ที่คัดเลือกโดยนักวิชาการด้านปฐมวัย เพื่อมอบให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ และส่งเสริมให้เด็กๆ ขอยืมหนังสือกลับบ้าน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟัง ซึ่งเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กๆ และส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยผู้ปกครองจะบันทึกพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กขณะอยู่ที่บ้าน เพื่อให้ครูและโครงการฯ ได้ติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ

 

กิจกรรมเยี่ยมบ้าน เก็บข้อมูลเชิงลึก

ทีมนักวิจัยในโครงการยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของเด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในโครงการ โดยเก็บข้อมูลเด็กในทุกปี จำนวน 3 รุ่น เพื่อเปรียบเทียบและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต ทั้งปัจจัยในครอบครัว เช่น การใช้เวลาของผู้ปกครอง ตลอดจนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คุณภาพการสอนของครู รวมถึงการพัฒนาครู เพื่อนำมาต่อยอดและปรับปรุงหลักสูตรต่อไป

 

สุดท้าย ผศ.ดร.วีระชาติ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ผลของการทำงานพอจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า แม้แต่พื้นที่ที่ใครๆ คิดว่าไม่พร้อมและยากต่อการพัฒนาอย่างศูนย์เด็กเล็กในต่างจังหวัดก็สามารถพัฒนาเด็กให้ดีขึ้น หากใช้กระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่สำคัญและคุ้มค่า ช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

 

Teacher’s Voices

“ตอนแรกกังวลว่าเด็กอายุเท่านี้จะทำได้หรอ แต่ผลที่ได้เกินกว่าคาด เด็กเล่นแล้วสามารถเก็บของเข้าที่เดิมได้ รู้จักรอคอย รู้จักตั้งคำถามต่อยอดไปเรื่อยๆ เช่น รถพ่วง เพื่อนก็จะถามว่า “เติมน้ำมันที่ไหน” คนต่อไปก็ถามว่า “เติมกี่บาท” “ไปไหน” เมื่อเพื่อนตอบว่าไปส่งของ ก็จะมีคำถามตามมาว่า “ไปส่งอะไร” “ได้เงินกี่บาท” และมีอีกตัวอย่างคือน้องทับทิม จากเดิมที่ไม่พูด ไม่สบตา ไม่เล่นกับเพื่อน เวลาครูถามจะเดินหนี แต่เมื่อปรับกิจกรรมโดยใช้หลักไฮสโคปแล้ว ปรากฎว่าน้องกล้าเล่นกับเพื่อน กล้าตั้งคำถามมากขึ้น นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยค่ะ” ยุภาพร วิเศษชู ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์

 

Information

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ตู้ปณ. 34 ปณฝ.สนามเป้า กรุงเทพฯ 10406

ติดตามรายละเอียดโครงการฯเพิ่มเติมได้ที่ www.riece.org Facebook: RIECE Thailand

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up