ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนสองภาษา vs โรงเรียนนานาชาติ
พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนอาจจะสงสัยว่า โรงเรียนสองภาษานั้นมีความแตกต่างจากโรงเรียนนานาชาติอย่างไร หรือบางคนอาจเข้าใจว่าโรงเรียนทั้งสองประเภทก็คือประเภทเดียวกัน มีการเรียนการสอนแบบเดียวกัน ซึ่งข้อแตกต่างของโรงเรียนทั้งสองหลักสูตรมีความแตกต่างกัน คือ
โรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนอินเตอร์นั้น เป็นโรงเรียนที่อ้างอิงหลักสูตรจากต่างประเทศ เช่น อเมริกัน อังกฤษ หรือออสเตรเลีย มีการเรียนการสอนที่อ้างอิงหลักสูตรและการสอนมาจากต่างประเทศ โดยเหมือนประเทศเจ้าของหลักสูตร แต่มีการปรับรายละเอียดเนื้อหารายวิชาใหม่ หรือหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเอง โดยไม่อิงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน แต่ยังคงให้มีวิชาภาษาไทยมาเป็นวิชาบังคับรวมทั้งกิจกรรมและสื่อการสอน ก็มักจะอิงวันหยุดและวันสำคัญทางศาสนา (คริสต์) มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรเป็นหลัก
ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนนานาชาติ จะเป็นครูต่างชาติที่ได้รับคุณวุฒิอาจารย์และมีประสบการณ์สอน มีการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากระบบหลักสูตรไทย และนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนมาจากหลากหลายเชื้อชาติ
จุดแข็งของการให้ลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติคือ เด็กจะได้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับทุกคนภายในโรงเรียน และได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมในระดับสากลนั่นเอง
หลักสูตรโรงเรียนสองภาษา ภายใต้กำกับของกระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการได้ให้นิยามของโรงเรียนสองภาษาทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนว่า เป็นโรงเรียนที่มีแนวทางการสอนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ความสามารถและทักษะทางภาษาของผู้เรียน และในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องคำนึงถึงการใช้ภาษาที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันดีงาม ตลอดจนการเรียนการสอนในบริบทของความเป็นผสมผสานกับความเป็นสากล
ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนสองภาษาภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการหลายแห่งทั่วประเทศที่จัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตร EP (English Program) โดยวิชาเกือบทั้งหมดจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ เด็กจะต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ยกเว้นบางรายวิชาที่สอนเป็นภาษาไทย คือวิชาสังคมศึกษาและวิชาภาษาไทย เน้นการสอนที่ใช้สื่อสารได้ มีครูชาวไทยและมีครูภาษาอังกฤษอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ห้องเรียน
- หลักสูตร MEP (Mini English Program) จะมีการจัดการเรียนการสอนเหมือนกับหลักสูตร EP (English Program) แต่ความแตกต่างของหลักสูตร MEP จะมีการสอนในแต่ละวิชาที่เป็นภาษาอังกฤษไม่ถึง 50% ของการเรียนทั้งหมด นั่นหมายความว่าจะมีบางวิชานอกเหนือจาก ภาษาไทยและสังคมศึกษา ที่ไม่ได้เรียนเป็นภาษาอังกฤษ
- หลักสูตร IEP (Intensive English Program) จะแบ่งการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและไทย โดยมีอาจารย์ชาวไทยและต่างประเทศสอนควบคู่กันไป โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2* สามารถสื่อสารเรียนรู้และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้
เห็นได้ว่าการเลือกโรงเรียนสองภาษานั้นเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาทักษะทางภาษาของลูกไม่น้อย แต่เนื่องจากโรงเรียนประเภทนี้มีสองวัฒนธรรมที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดความสับสน สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจเลือกโรงเรียนแนวนี้นอกจากฝึกฝนการใช้ภาษาอย่างสม่ำเสมอทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ควรจำเป็นต้องช่วยเสริมทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนไทย เช่น มารยาท การใช้คำพูด เพื่อให้ลูกได้ปรับตัวและสามารถอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และได้รับทักษะทางภาษาติดตัวซึ่งดีสำหรับลูกในอนาคตด้วย.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.moe.go.th, www.gesthailand.com, www.tutorferry.com
หมายเหตุ *ภาษาอังกฤษระดับ B2 คือภาษาอังกฤษระดับที่ 4 ตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
ให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษที่ไหนดี 5 สถาบันสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็ก
4 ข้อได้เปรียบของการเป็น เด็กสองภาษา
ทำความรู้จัก 7 หลักสูตรอนุบาล เลือกยังไงให้เหมาะกับลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่