homeschool การสอนแนวใหม่ ออกแบบหลักสูตรได้เอง ทุกที่คือโรงเรียน แนวคิดที่พ่อแม่นำมาปรับใช้กับลูกได้ แม้ไม่ได้เรียนระบบ โฮมสคูล ก็ตาม
สอนลูกแบบ homeschool เรียนแนวใหม่ออกแบบเองไม่มีเบื่อ!!
การเรียนในปัจจุบัน เปิดกว้าง มีหลากหลายรูปแบบ อีกหนึ่งแนวคิดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เด็ก ๆ และผู้คนต้องระมัดระวังการรวมกลุ่ม ซึ่งนั่นหมายถึงว่า โรงเรียนในระบบที่ต้องเข้าเรียนกันเป็นกลุ่มใหญ่ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย การเรียนการสอนเองที่บ้าน หรือ homeschool จึงเริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกของพ่อแม่มากขึ้น แต่จะกล่าวไปแล้ว ระบบการเรียนการสอนแบบ homeschool ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจ และเริ่มรูปแบบ แนวทางการเรียนการสอนมาเป็นรูปเป็นร่างกันนานแล้ว และเด็กที่ได้เรียนในระบบดังกล่าวต่างก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กันกับระบบการเรียนการศึกษาแบบหลัก
โฮมสคูล คืออะไร และข้อดีของการเรียนการสอนแบบ homeschool มีอะไรบ้าง ที่พ่อแม่สามารถนำแนวคิดดี ๆ วิธีการสอนลูกแบบ homeschool มาศึกษาและปรับใช้กับการสอนลูก เรามาทำความรู้จักกัน
ความหมายของโฮมสคูล
Homeschooling คือ ระบบการศึกษาแนวใหม่ที่เรียนจากที่บ้าน และเป็นตัวผลักดันให้เด็กๆ ได้โชว์ศักยภาพ แสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่มีข้อจำกัด ด้วยการออกแบบหรือเลือกซื้อหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของเด็กๆ ช่วยเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
Homeschool มีข้อดีอะไรบ้าง??
- หลักสูตรที่เน้นความถนัดของลูก เป็นการสอนที่ครอบครัวสามารถเลือกหลักสูตรการศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยเลือกตามความต้องการและตามความถนัดของลูกได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนในหลักสูตรกลาง
- ได้มีเวลาศึกษาตัวตนของลูก และแนะแนวทางให้กับเขา เป็นทางเลือกหนึ่งที่พ่อแม่จะได้มีเวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุด และได้ดูพัฒนาการของลูกอย่างเต็มความสามารถ
- เป็นทางออกหากครอบครัวไหนที่ไม่สะดวกเดินทาง หรือสำหรับเด็กที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโรงเรียน เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง หรือสิ่งที่กดดันจากโรงเรียนมากมาย
- สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกลุ่ม ลดการติดโรคติดต่อหรือโรคระบาดจากที่โรงเรียนได้เป็นอย่างดี
- พ่อแม่สามารถจัดสรรงบประมาณการศึกษาได้ตามโครงสร้างของครอบครัวที่มี ไม่ต้องเครียดค่าเทอมอีกต่อไป
- พ่อแม่สามารถอบรมและเลี้ยงดูคู่กับการให้การศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพราะพ่อแม่จะได้อยู่กับลูกแบบใกล้ชิด ได้สอนลูก ได้บอกลูก เรียกได้ว่าอยู่ด้วยกันตลอดเวลานั่นเอง
- เด็กๆ ได้ค้นพบตัวเองโดยไม่มีข้อแม้ และไม่ต้องกังวลกับเรื่องเวลาอีกเลย พ่อแม่จะเป็นคนคอยสังเกต ส่งเสริม และให้คำปรึกษาแก่ลูกว่าเขาชอบอะไร ถนัดอะไร เพราะบางครั้งเด็กยังไม่เข้าใจตนเอง
- ดีต่อเด็กเล็ก การเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาล ซึ่งเป็นวัยที่ยังต้องการพ่อแม่อยู่อาจทำให้พัฒนาการลูกเกิดการสะดุดได้ และไม่เสี่ยงต่อการถูกพี่เลี้ยงใจร้ายคอยทุบตี ตามข่าวน่ากลัวที่เคยได้ยิน เพราะเราไม่รู้ว่าสถานเลี้ยงเด็กๆ แต่ละทีมีพี่เลี้ยงแย่ๆ แบบนี้อยู่หรือเปล่า
รูปแบบของโฮมสคูลในไทย!!
หากอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคุณพ่อคุณแม่เริ่มสนใจในรูปแบบการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลแล้วละก็ ลองมาศึกษาดูถึงรูปแบบที่ปัจจุบันในไทยมีอยู่ โดยรูปแบบของ Home School นั้น สามารถแบ่งหลัก ๆ ออกมาได้ดังนี้
- โฮมสคูลเต็มร้อย homeschool แบบที่ ผู้ปกครองวางหลักสูตรการสอนเอง และจัดการสอนด้วยตนเองที่บ้าน รูปแบบนี้ พ่อแม่ สามารถวางแผนการเรียนที่ออกแบบมาเฉพาะตามความสนใจของลูกเราได้เลย
- โรงเรียนที่มีการเรียนหลักสูตรแบบ Home School โดยที่พ่อแม่ให้ลูกไปเรียนในศูนย์การเรียน ศูนย์การเรียนก็จะเป็นเหมือน โรงเรียนขนาดย่อม ๆ มีนักเรียนไม่มาก และ มีหลักสูตรการสอนที่ค่อนข้างเฉพาะ แตกต่างกันไปตามแต่ละศูนย์การเรียน ตัวอย่างเช่น ศูนย์การเรียนรุ่งอรุณ ศูนย์การเรียน นวัตกรรมเพื่อความสุข เป็นต้น
- Home School ในรูปแบบที่ ผู้ปกครองให้ลูก ๆ เรียนตามหลักสูตรของ Online School ของต่างประเทศ การเรียน Online School ในรูปแบบนี้ มักจะใช้หลักสูตรการสอนคล้ายกับ โรงเรียนนานาชาติ เช่น British Curriculum หรือ American Curriculum ซึ่งได้รับ Accreditation เช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติ
- Distance Learning โฮมสคูลในรูปแบบของการเรียนทางไกล ซึ่งการเรียนในรูปแบบนี้ เด็ก ๆ ก็จะเรียนตามตำราของโรงเรียนทางไกลที่เราสมัคร และทำการประเมินตามเกณฑ์ของโรงเรียนนั้นๆ ซึ่ง Distance Learning นั้น มีทั้งของในประเทศและต่างประเทศ
วิถี New Normal ปรับใช้โฮมสคูลกับการเรียนในระบบอย่างไร??
เมื่อโรคระบาดยังคงอยู่ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป การที่เรายังคงต้องเรียนในระบบการศึกษาแบบรวมกลุ่ม แต่ยังมีความกังวล หรือการที่ต้องแยกกักตัวเมื่อมีอาการ ทำให้การเรียนอาจหยุดชะงัก การที่เรานำการเรียนที่บ้านมาปรับใช้เพื่อให้การเรียนของลูกไม่สะดุดก็จะช่วยให้เกิดความลงตัว ซึ่งมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
1. ค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่โรงเรียนของลูกๆสามารถให้การสนับสนุนได้
ตรวจสอบสิ่งที่โรงเรียนของลูกๆคุณจัดเตรียมไว้ให้เพื่อช่วยในการเรียนแบบโฮมสคูล (Homeschool) พวกเขาอาจออกแบบหลักสูตรที่ง่ายสำหรับผู้ปกครองหรือมีการเรียนการสอนผ่านทางกูเกิ้ลคลาสรูม (Google Classroom) หรือการใช้โปรแกรมประชุมทางไกลด้วย โปรแกรมซูม (Zoom) เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเข้ามาช่วยให้เราเรียนรู้ได้ทุกที่ ซึ่งสามารถเติมเต็มปัญหาของการต้องหยุดพักอยู่บ้านเมื่อป่วยได้
2. สร้างประสบการณ์ใหม่ในห้องเรียน
ทำบ้านให้เป็นโรงเรียน การเรียนของลูกไม่จำเป็นจะต้องฝากไว้ที่แค่ในโรงเรียน หรือคุณครู คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา เหมือนดั่งการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล พาเขาไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจตกใจว่า เป็นการเรียนรู้ที่ลูกจะให้ความสนใจมากเลยทีเดียว เนื่องจากว่าเขาได้เลือกสิ่งที่สนใจ เลือกเอง หรืออาจให้ลูก ๆ ได้มีส่วนร่วมกับการเรียนภายในบ้าน ลองหาอุปกรณ์ที่ช่วยในการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น โปสเตอร์ตัวอักษรและตัวเลขสำหรับเด็กเล็ก มีการทำตารางเวลาเรียนเพื่อให้มีความหลากหลาย และนำตารางเวลาเรียนมาใช้ในแต่ละวัน
3. ใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลออนไลน์
ค้นหาเครื่องมือและเนื้อหาในการศึกษาที่มีบริการทางออนไลน์สำหรับหลาย ๆ วิชาและช่วงอายุที่แตกต่างกัน สตรีมหนังสือนิทานที่มีภาพเคลื่อนไหวและแผนการสอนที่มีเนื้อหาหลากหลายแบบที่ไม่มีโฆษณาจากอเมซอน (Amazon) เด็กที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 18 ปี ยังสามารถติดตามการเรียนทางออนไลน์แบบสด ๆ ได้ทางยูทูป (YouTube)
4. ให้ความสำคัญกับเวลาพัก
การมีเวลาว่างก็มีความสำคัญพอ ๆ กับการเรียน ให้เวลาลูกได้พักผ่อน ได้มีเวลาส่วนตัว เวลาว่างของเขาบ้าง เพราะบางครั้งการเรียนรู้ตัวตน ก็มาจากการได้คุยกับตัวเองบ้าง ทำอะไรที่มันผ่อนคลาย ไร้สาระได้เช่นกัน การเรียนสามารถเป็นเรื่องที่มาจากความบันเทิงได้ ให้เด็ก ๆ ฟังหนังสือเสียงหรือพอดแคสต์ (Podcasts) ได้เรียนรู้โลกที่แตกต่าง โลกใหม่ ๆ บ้าง
5. ต้องติดต่อสื่อสารกัน
ติดต่อกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคิดเห็นและวิธีการต่าง ๆ แอปพลิเคชันในการรับส่งข้อความอย่าง WhatsApp นั้นยอดเยี่ยมในการแชร์ข้อมูลหรือคำแนะนำต่างๆได้ดี และส่งเสริมให้ลูกๆของคุณใช้กูเกิ้ล แฮงค์เอาท์ (Google Hangouts) เพื่อพูดคุยเรื่องการบ้านกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ พูดคุยกับลูกๆของคุณเช่นกัน ถามพวกเขาว่าโฮมสคูล (Homeschool) ในแบบที่พวกเขาต้องการเป็นอย่างไรและรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การส่งเสริม สนับสนุนและยินดีไปกับความก้าวหน้าของพวกเขา
อ่านต่อ>> เรียนโฮมสคูลอย่างไรให้ได้วุฒิการศึกษาไทย พร้อมข้อคิดจากเด็กโฮมสคูล คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่