โฮมสคูล คือ อะไร กับการกลับมาเป็นที่สนใจหลังโควิด19 เมื่อพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเสี่ยงติดเชื้อ แต่โฮมสคูลเป็นแค่นั้นจริงหรือ มารู้ให้ครบจบละเอียดได้ที่นี่เลย
โฮมสคูล คือ ยังไงมามุงจบครบทุกเรื่องที่ควรรู้ในคลิกเดียว
เป็นคำที่คุ้นหูกันไม่น้อยเลยทีเดียวกับ โฮมสคูลหรือ ที่หลายคนเข้าใจว่า คือ การเรียนที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่ใจความสำคัญของการเรียนรู้แบบโฮมสคูลนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียนที่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นใครคิดจะให้ลูกเปลี่ยนมาเรียนแบบโฮมสคูลเพียงเพราะแค่ไม่อยากให้ลูกออกจากบ้าน ไปรับเชื้อเสี่ยงโรคเท่านั้น คงต้องกลับมาคิดกันใหม่ ลองศึกษาดูว่าโฮมสคูลที่แท้จริงเป็นเช่นไร และยังคงตรงกับความต้องการของครอบครัวเราหรือไม่
นิยามคำว่า “โฮมสคูล” กันหน่อย
Homeschool หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า “บ้านเรียน” คืออีกหนึ่งระบบการศึกษา ที่เด็ก ๆ จะเรียนอยู่ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้จัดการเรียนการสอน และออกแบบรูปแบบการศึกษาโดยเน้นที่ความสนใจของตัวเด็กเป็นสำคัญ
คุณ ณฐพงษ์ เลิศศรี หนึ่งในผู้ปกครองโฮมสคูลได้พูดถึงโฮมสคูลไว้ว่า…
“โฮมสคูลหรือ บ้านเรียน ไม่ใช่การเรียนอยู่แต่ในบ้าน พ่อแม่ไม่ได้เป็นครู มายืนสอนลูก (แต่จะสอนเองในวิชาที่ถนัดก็ทำได้) แต่พ่อแม่จะเรียนรู้ ค้นหาบางอย่างไปพร้อม ๆ กับลูก พ่อแม่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ พ่อแม่ไม่ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้ แต่ต้องสามารถแนะนำ ส่งเสริม จัดหาให้ลูกได้”
ดังนั้น คีย์เวิร์ดสำคัญของ โฮมสคูล คือ การศึกษาทางเลือกที่ทำการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ทำขึ้นเพื่อเน้นที่ความสนใจของตัวเด็กเป็นสำคัญ โดยมีแนวความคิดว่า เด็กแต่ละคนมีความสนใจ และความต้องการเรียนรู้แตกต่างกันไป สำรับการเรียนแบบปกติที่สอนในรูปแบบเดียวกันหมด จึงไม่ตอบโจทย์สำหรับบางครอบครัว มิใช่เพียงแค่การเรียนที่บ้านเท่านั้น
รูปแบบการทำโฮมสคูลในประเทศไทย
ระบบการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลได้รับรองให้เป็นการศึกษาทางเลือกที่ถูกกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โฮมสคูลในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่นักวิชาการโฮมสคูลได้บอกว่า จำนวนเด็กนักเรียนโฮมสคูลในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
รูปแบบการทำโฮมสคูล นั้นสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่บริบทของแต่ละครอบครัว ตัวอย่างเช่น
- การจัดการศึกษาแบบครอบครัวเดี่ยว ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนของลูก ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
- การจัดการศึกษาแบบกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มของครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูล โดยจะมีการจัดการศึกษาแยกจากกันอย่างอิสระของแต่ละบ้าน และมีการนัดรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในบางโอกาส
- การจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ คือการรวมตัวกันของครอบครัวโฮมสคูล จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนครอบครัวเดี่ยว หรือศูนย์การเรียนกลุ่มครอบครัว โดยที่มีคณะครอบครัวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดูแลบริหารจัดการ “ในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร”
- การจัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน โดยที่การจัดหลักสูตรการสอน จะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ในส่วนของการประเมินผลนั้น ผู้ปกครองจะร่วมประเมินกับทางโรงเรียน ทางโรงเรียนจะมีการออกใบรับรอง สนับสนุนสื่อการเรียน การใช้สถานที่ในการทำกิจกรรม หรือให้เด็กโฮมสคูลเข้าร่วมกิจกรรมกับนักเรียนในโรงเรียนในบางกิจกรรม เช่น ทัศนศึกษา เป็นต้น
- การเรียนออนไลน์ โดยใช้หลักสูตรโฮมสคูลของต่างประเทศ
โดยครอบครัวไหนที่ต้องการทำโฮมสคูลให้ลูกในกรณีที่เราต้องการได้รับวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปสอบเข้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในระบบได้นั้น ก็มีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
- การจดลงทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวเราอาศัยอยู่
- การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
- จดทะเบียนกับโรงเรียนที่เปิดรับเด็กโฮมสคูล
- ลงเรียน หรือ สอบเทียบหลักสูตรของต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกกลับเข้าเรียนโรงเรียนในระบบ สามารถขอใบรับรองวุฒิการศึกษาจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ลงทะเบียนไว้ได้ หรือแม้แต่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการทำโฮมสคูลก็ได้เช่นกัน
การจดทะเบียนกับสำนักเขตพื้นที่การศึกษา
1. สำหรับระดับปฐมวัย (อนุบาล)
สามารถจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านได้เมื่อเด็กมีอายุ 3 ขวบ ซึ่งในระดับอนุบาลคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการจะจดทะเบียนไปยื่นคำอนุญาตจดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาได้เลย การจดทะเบียนระดับอนุบาลนั้นไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ จะจดหรือไม่ก็ได้ หรือรอลูกอายุครบ 7 ปี (ระดับประถม 1) ก็สามารถเริ่มจดทะเบียนตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับตอน 7 ปีได้เลย
2. ระดับประถมศึกษา
ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา (ตามภูมิลำเนา) เจ้าหน้าที่ที่ดูแลจะเป็นฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ซึ่งพ่อแม่สามารถปรึกษาหรือขอเอกสารก่อนล่วงหน้าได้ (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
3. ระดับมัธยมศึกษา
ครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษาที่
- สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
- ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
- ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล
ขั้นตอนการยื่นคำขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา
- ยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่
- จัดทำแผนการศึกษา ครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องร่วมกันกำหนดตามความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาตามกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
- ดำเนินการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว
- ดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการวัดผล และประเมินผลของหลักสูตร การศึกษาขึ้นพื้นฐาน
- จัดทำรายงานการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนและสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- ปรับปรุงผลการเรียนของผู้เรียน ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอแนะ
แผนการศึกษาแบบโฮมสคูลนั้นจะมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
- องค์ความรู้ ขอบเขตเนื้อหาทางวิชาการ ไม่แตกต่างจากหลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป
- กระบวนการ วิธีการเรียนรู้ จะยืดยุ่นแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
- มีการสร้างเสริมประสบการณ์จากกิจกรรมนอกห้องเรียน
- มีการเข้าร่วมกลุ่ม Home School หรือค่ายกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาสกิลเข้าสังคม
การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
การสอบเทียบจบ ม.3 หรือจบ ม.6 นั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว กศน.มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 3 รูปแบบ คือ
- การศึกษาวิธีเรียนพบกลุ่ม เน้นหนักการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก มีการพบกลุ่มเพื่อนำสิ่งที่ได้ไปศึกษาค้นคว้า แล้วมานำเสมอ อภิปราย และสรุปร่วมกันในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
- การศึกษาวิธีเรียนทางไกล เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการศึกษาทางไกล ได้แก่ ชุดการเรียนทางไกล CD VCD รายการทางวิทยุ และโทรทัศน์ อินเตอร์เนต เป็นต้น
- การประเมินเทียบระดับการศึกษา เป็นการประเมินจากความรู้ ทักษะ ผลงาน ประสบการณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน โครงงาน การสอบ ปฎิบัติ สัมภาษณ์ และทำกิจกรรมเข้าค่ายหรือ กิจกรรม กพช. (กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต)
โรงเรียนที่เปิดรับเด็กโฮมสคูล
โรงเรียนที่เปิดรับให้เด็กที่เรียนแบบโฮมสคูลนั้น เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นต้น หรืออาจลองติดต่อโรงเรียนใกล้บ้านก็ได้ การจัดการเรียนการสอนโดยร่วมกับโรงเรียนอาจต่างกันไปตามแต่ว่าจะมีการตกลงร่วมกับโรงเรียนอย่างไร อาจจะทางบ้านจัดการเรียนการสอนเองหมดแล้วส่งร่องรอยการเรียนรู้ให้โรงเรียนเพื่อเทียบประเมินการเลื่อนชั้น, เข้าร่วมเรียนบางวิชาหรือร่วมทำกิจกรรมบางอย่างกับทางโรงเรียนควบคู่ไปด้วย เป็นต้น
ลงเรียน หรือ สอบเทียบหลักสูตรของต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE
General Education Development (GED) เป็นระบบของอเมริกา โดยมีข้อกำหนดคร่าว ๆ คือ ผู้สอบต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป โดยต้องสอบให้ผ่านทั้งหมด 5 วิชา ได้แก่
- Language Arts: Writing
- Social Studies
- Science
- Language Arts: Reading
- Mathematics
ผู้ที่สอบผ่าน GED จะได้รับใบแจ้งผลการเรียน (Transcript) และประกาศนียบัตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของ GED (Diploma) ซึ่งสามารถนำไปเทียบวุฒิมัธยมปลายได้
Internation General Certificate of Secondary Education (IGCSE) เป็นระบบของอังกฤษ สอบเพื่อเทียบจบ ม. ปลายเช่นเดียวกับ GED แต่มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน เช่น IGCSE ไม่จำกัดอายุ และคุณวุฒิของผู้สอบ และมีวิชาให้เลือกสอบมากถึง 50 วิชา โดยเราสามารถเลือกสอบวิชาใดก็ได้ ให้ผ่านครบ 5 วิชา ก็จะสามารถนำใบรับรองผลสอบจากมหาวิทยาลัย Cambridge เพื่อขอเทียบเท่าวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยในประเทศไทยสามารถติดต่อขอสอบได้ที่ British Council โดยมีเปิดให้สอบปีละ 2 ช่วง คือ เดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และ อีกช่วงหนึ่งประมาณ เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
การสนับสนุนจากรัฐ
สำหรับนักเรียนโฮมสคูลที่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพฐ. หรือ สพป.) แล้ว จะได้รับ “เงินอุดหนุนการศึกษา” ซึ่งจัดสรรให้นักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ไปจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เหมือนกับนักเรียนทั่วไปที่เรียนในระบบโรงเรียนของรัฐ โดยเงินอุดหนุนการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 5 หมวดดังต่อไปนี้
- ค่าจัดการเรียนการสอน
- ค่าหนังสือเรียน
- ค่าอุปกรณ์การเรียน
- ค่าเครื่องแบบนักเรียน
- ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
โดยที่นักเรียนในแต่ละระดับชั้นเรียนก็จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนไม่เท่ากัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ
กลุ่มเครือข่ายโฮมสคูล
การที่เรามีกลุ่มเครือข่ายนั้น จะช่วยให้พ่อแม่ได้รับความรู้ แนวทางในการจัดกิจกรรม การหาแหล่งสื่อการเรียนการสอน หรือแนวคิดดี ๆ ในการจัดรูปแบบการสอนลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มเครือข่ายที่รวมตัวกัน ช่วยเหลือ ร่วมแชร์ และนัดพบปะเรียนรู้ทำกิจกรรมไปด้วยกันเพื่อช่วยเพิ่มทักษะด้านสังคม อยู่มากมาย ได้แก่
ทาง Facebook Group เช่น Homeschool Thailand, Homeschool Network
ทางเว็บไซต์ เช่น Homeschoolnetwork.org, Homeschoolno50.com, Homeschool.in.th
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก www.homeschoolnetwork.org/www.twinkl.co.th/owlcampus.com/www.scientia.in.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่