เรียนโฮมสคูลอย่างไรให้ได้วุฒิการศึกษาไทย
การเรียนโฮมสคูลสามารถขอวุฒิการศึกษาได้เช่นเดียวกับการเรียนในระบบ เพื่อนำไปยื่นสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยผู้ปกครองจะต้องทำเรื่องขอเปิดบ้านเป็นสถานที่ศึกษาหรือโฮมสคูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยหลักๆ แล้วจะสามารถติดต่อประสานงานยื่นเอกสารได้ที่ 4 หน่วยงานนี้ด้วยกัน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ในการเรียน Homeschooling หากต้องการวุฒิการศึกษาผู้ปกครองจำเป็นต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามเขตพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ และการยื่นเรื่องกับทางสำนักงานเขตนั้น ผู้ปกครองจะได้รับเงินสนับสนุนแต่ละเทอมอีกด้วย เช่น ค่าศึกษา ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น โดยการยื่นเรื่องสามารถแบ่งตามระดับชั้นได้ ดังนี้
- ระดับอนุบาล
ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ซึ่งการยื่นเอกสารในระดับอนุบาลนี้อาจจะต้องขอคำปรึกษาเจ้าหน้าที่อีกครั้ง เพราะบางเขตการศึกษาก็แจ้งว่าอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นเอกสาร ดังนั้น ก่อนเข้าไปทำเรื่องควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่ก่อน - ระดับประถม
การเรียน Homeschooling ในระดับประถมสามารถยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือ สพป. ตามพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยในการขอทำเรื่องผู้ปกครองจะต้องนำเอกสารต่างๆ ไปยื่น ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญ เช่น ทะเบียนบ้าน วุฒิการศึกษาและสำเนาบัตรประชาชนของผู้จัดการศึกษา ทั้งนี้ ยังมีเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกสารการออกแบบการเรียบการสอนโดยอ้างอิงจากหลักสูตรแกนกลาง เอกสารแสดงความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาโดยครอบครัว รูปถ่ายของผู้เรียน เอกสารยื่นความประสงค์ขอจัดทำแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ร่วมกับสพป. หรือสพม. เป็นต้น - ระดับมัธยม
ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือ สพม. ตามพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยในระดับชั้นนี้แบ่งออกเป็น มัธยมตอนต้น (ม.1-3) และมัธยมตอนปลาย (ม.4-6) สำหรับการยื่นเอกสารก็จะมีขั้นตอนเช่นเดียวกับในระดับประถมที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องนำหลักสูตรที่ได้ออกแบบไว้ไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ แต่ทั้งนี้ การออกแบบหลักสูตรระดับมัธยมปลายอาจจะมีความยุ่งยากเล็กน้อย เพราะเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างเข้มข้นและมีความเฉพาะทาง ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ คนเลือกที่จะไปลงทะเบียนเรียนกับโรงเรียนที่เปิดรับเด็กโฮมสคูลและนำหลักสูตรที่ได้มาทำการเรียนการสอนเองจากที่บ้าน
ลงทะเบียนเรียนกับ กศน.
สมัครเข้าเรียนในระบบของ กศน. ซึ่งย่อมาจาก การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในการลงทะเบียนกับ กศน. จำเป็นที่จะต้องเรียนด้วยหลักสูตรของ กศน. เอง และเมื่อเรียนครบตามวิชาหรือระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ก็สามารถทำการสอบเพื่อขอวุฒิการศึกษาได้ ทั้งนี้ จะเปิดรับเฉพาะระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย
เรียนการศึกษาทางไกล
ผู้ที่เรียน Homeschooling ยังสามารถสมัครเรียนด้วยระบบการศึกษาทางไกล เมื่อสมัครเรียนแล้วจะได้รับเอกสารการเรียน และหนังสือการเรียน ซึ่งสามารถกลับมาเรียนรู้หรือศึกษาเองได้จากที่บ้าน โดยจะใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปี ก็สามารถสอบและได้วุฒิการศึกษา ซึ่งจะคล้ายกับการเรียน กศน. ที่จะเปิดรับเฉพาะมัธยมต้นและมัธยมปลายเช่นกัน การสมัครเรียนการศึกษาทางไกลจะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดเวลาในการทำเอกสารยื่นเรื่องกับทางสำนักงานเขตได้เยอะทีเดียว
ขอลงเรียนกับสถานที่ที่รับเด็กโฮมสคูล
ตัวเลือกถัดมานี้จะเป็นการตัดสินใจลงเรียนกับสถานที่ที่เปิดรับเด็กโฮมสคูล ซึ่งในการสมัครเรียน ผู้ปกครองจำเป็นต้องจ่ายค่าเทอมตามปกติ แต่มีความแตกต่างจากการเรียนในระบบ คือ ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปเรียน โดยสามารถเรียนจากที่บ้านตามหลักสูตรที่ได้รับมา สำหรับข้อดีของการลงเรียนกับสถานที่แห่งนี้คือ เมื่อเรียนจบ สอบผ่านแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาที่ออกในนามสถานที่นั้นๆ อย่างในกรุงเทพฯ เองก็จะมี รร.รุ่งอรุณ ที่เปิดรับ
เด็กโฮมสคูล ฝากข้อคิด !!
การเรียนรูปแบบโฮมสคูล ไม่ใช่การไม่ไปโรงเรียน แต่หมายถึงการเรียนแบบลงมือทำ ออกไปผจญภัย ออกไปเรียนรู้พบเจอผู้คนหลากหลาย เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และสนใจ แต่การเรียนโฮมสคูลนั้นไม่ใช่ว่าจะง่ายกับทุกครอบครัว และทุกคน เพราะการเรียนโฮมสคูลนั้น ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเพื่อให้ไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของพ่อแม่ และเด็กเอง วิถีชีวิตของแต่ละคน แนวคิด และสถานภาพของครอบครัวด้วยว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน
หลักสูตรการเรียนแบบโฮมสคูล ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจัดหลักสูตรตามความพอใจของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว ต้องดูว่าการจัดวิชาให้ลูกเรียนนั้นตรงกับความต้องการของลูกหรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ต่างไปจากการเรียนในโรงเรียนที่เรียนแบบเป็นหลักสูตรบังคับ ไม่ตรงตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคล หากทำเช่นนั้นก็เสมือนแค่เปลี่ยนสถานที่จากโรงเรียนมาเป็นที่บ้านแทนเท่านั้น ไม่ได้ตรงตามวัตถุประสงค์แท้จริงของโฮมสคูล
เด็กโฮมสคูลฝากข้อคิด ไว้ว่าการตั้งใจเข้าสู่ระบบโฮมสคูลนั้น พ่อแม่ควรต้องตกลงยินยอมพร้อมใจไปกับลูก และอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงแนวทางไปด้วยเช่นกัน เพราะหากลูกไม่ได้มีความพร้อม หรือความตั้งใจจริงในการเรียนโฮมสคูลเขาก็ไม่สามารถตอบคำถามทั้งในใจตนเอง และสังคมภายนอก ต่อความแตกต่างของการเรียนแบบไม่เข้าโรงเรียนได้ การไม่ไปโรงเรียนอาจทำให้เด็กเข้าใจไปว่าเราไม่เหมือนคนอื่น เพื่อน กิจกรรมที่แตกต่าง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กโฮมสคูลต้องเผชิญกับคำถาม
“นิยามคำว่าเพื่อนสำหรับเราไม่มีความหมายตายตัว เเละไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนวัยเดียวกัน เเต่เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนที่ต่าง สำหรับเราเพื่อนก็คือมนุษย์ที่สัมพันธ์กันเเละเห็นใจกัน” หนึ่งในความคิดเห็นของ ‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ หนึ่งในนักเรียนโฮมสคูลตั้งเเต่อนุบาลจนเรียนจบม.6 ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ mappalearning.co
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การเรียนในรูปแบบโฮมสคูลนั้น นอกจากพ่อแม่จะต้องดูถึงความพร้อมของตัวเองแล้ว ยังต้องประเมินถึงความพร้อมของลูก ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อการเรียนในแนวใหม่ว่าเขาพร้อม และเข้าใจในหลักการนั้นด้วยหรือไม่ หากเขาพร้อมปัญหาใด ๆ ก็ย่อมไม่กระทบต่อจิตใจลูก เขาจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ดั่งเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนของโฮมสคูล
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://generali.co.th/https://www.starfishlabz.com/https://www.longtunmom.com/https://interpass.in.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
มาทำความรู้จัก โฮมสคูล ทางเลือกสอนลูกของพ่อแม่ยุคใหม่กันเถอะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่