การบ้านเยอะ การบ้านยาก ตัวการขัดขวางการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้ของลูก เมื่อเข้าสู่ยุคเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรรับมือกับการเรียนของลูกอย่างไร ให้ไม่เครียด
เรียนออนไลน์ การบ้านเยอะ งานลูกพ่อแม่เครียดรับมือยังไง??
ในยุคการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตโรคระบาดไวรัส Covid-19 ที่เด็กจำเป็นต้องปรับตัวจากการเรียนในโรงเรียน เข้าสู่การเรียนที่บ้านผ่านหน้าจอ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเครียดให้แก่เด็กแล้ว ปัจจุบันยังพบว่าพ่อแม่ก็ได้รับความเครียดจากการเรียนออนไลน์ของลูกไม่แพ้กัน ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวที่แชร์กันออกมาถึงการบ้านของลูกในวัยต่าง ๆ ที่พ่อแม่ต่างต้องอึ้ง และค้นพบว่าเด็กสมัยนี้ต้องเรียนด้วยเนื้อหายาก ๆ กันแบบนี้เลยเชียวหรือ
ล่าสุดเกิดเป็นดราม่า เมื่อผู้ปกครองแชร์การบ้านของเด็กๆ ซึ่งระบุว่า เป็นการบ้านของเด็ก ป.4 แต่เมื่ออ่านโจทย์แล้ว งานนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ถึงกับต้องเอามาแชร์ให้ชาวเน็ตช่วยด้วย เพราะยากมากจริงๆ โดยการบ้านดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษที่ถามว่า ส่วนประกอบใดที่เป็นแผ่นบางอยู่นอกกระดูกกระโหลกศีรษะ โดยมีคำตอบให้เลือก 3 ข้อ คือ 1.periosteum (เยื่อหุ้มกระดูก) 2.cancellous bone (กระดูกเนื้อโปร่ง) และ 3.compact bone (กระดูกส่วนแข็ง)
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองได้แชร์ภาพของการบ้านเด็กๆในยุคนี้และเนื้อหาการเรียนการสอนว่ามีความยากและเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าเด็กสมควรต้องเรียนยากขนาดนี้หรือไม่อย่างไรหรือเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.khaosod.co.th
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.brighttv.co.th
แม้การเรียนออนไลน์จะสร้างภาระ และปัญหาทั้งจากความไม่พร้อม จากการปรับตัวของบางครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราผู้ใหญ่ได้เพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับเด็กในยุคปัจจุบันขึ้นมาจากการเรียนออนไลน์ นั่นคือ การได้กลับมาทบทวนถึงหลักสูตร และเนื้อหาของการเรียนในปัจจุบันต่อเด็ก และลูกหลานของเราว่า การเน้นเนื้อหาความยากของหลักสูตรการศึกษาสมัยนี้ มากเกินความจำเป็นไปหรือไม่ ภาระงาน การบ้านเยอะ ของพวกเขาสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้จริงหรือ
การบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก
ได้มีการศึกษาที่เชื่อมโยงการบ้านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ควบคุมความแตกต่างของนักเรียน ในการศึกษาดังกล่าวได้ทำการศึกษาจาก 35 รายการ พบว่าประมาณ 77 เปอร์เซ็นต์จากรายการทั้งหมด พบความเชื่อมโยงระหว่างการบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นเป็นไปในทางบวก แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการบ้านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เด็กที่อายุน้อยในระดับก่อนวัยเรียน วัยอนุบาล หรือประถมวัยตอนต้น โดยธรรมชาติการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น เนื่องจากเด็กไม่สามารถขจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิ บังคับตนเองให้นั่งนาน ๆ ในการทำการบ้านได้ และยิ่งโดยเฉพาะการบ้านยาก หรือ การบ้านเยอะ เกินกว่าวัยของเด็กแล้วนั้น ยิ่งทำให้การเรียนรู้ของเขาเกิดขึ้นได้ยากขึ้นไปอีก จึงทำให้ความสัมพันธ์ของการบ้าน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษาจึงแสดงเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงไม่มีเลยในผลการศึกษาดังกล่าว
ทำความเข้าใจ!! กับจุดประสงค์ของการบ้าน
แม้ว่าความสัมพันธ์ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการบ้านในเด็กประถมวัย จะมีเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่มีเลย แต่จากการศึกษาก็จะพบว่า ยังมีผลความเชื่อมโยงกับทั้งสองเรื่องนั้น เป็นไปในทางบวก ถึง 77% นั่นหมายถึง การบ้านช่วยเพิ่มศักยภาพของเด็กได้จริง หากเราทำให้การบ้านนั้น เหมาะสมกับวัย และมีปริมาณที่เหมาะสม
จุดประสงค์ของการบ้าน
- การบ้านช่วยเพิ่มทักษะ พัฒนาความรู้ความสามารถของเด็ก ๆ โดยเด็กสามารถทบทวน และใช้เป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองต่อบทเรียนนั้น ๆ ว่าเข้าใจแค่ไหน เข้าใจหรือไม่อีกด้วย
- เพื่อฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และการควบคุมตนเอง หากลูกยอมมานั่งทำการบ้านของเขา ควบคุมตนเองให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น (ความสามารถในการรับผิดชอบตนเอง สามารถลำดับหน้าที่ความสำคัญได้) ก็นับว่าเขาได้รับประโยชน์จากการบ้านแล้ว
- หากเป็นงานกลุ่ม ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะการเข้าสังคมได้อีกด้วย
- ทำให้คุณครูสามารถประเมินการสอนว่า การสอนแบบนี้เด็กสามารถเข้าใจในบทเรียนมากแค่ไหน ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร
- การบ้านยังช่วยให้ผู้ปกครองได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ได้ประเมินลูกหลานว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่
การบ้านลูก ทำไมพ่อแม่เครียด??
แม้ว่าการศึกษาของไทย จะหลักสูตร เป้าหมายอย่างไรก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่า “การบ้าน” แล้ว นั่นก็คือ การได้รับมอบหมายภาระงานให้ทำที่บ้าน ดังนั้น ผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการ ดูแลลูกหลานไม่ให้เกิดความเครียด หรือผลเสียจากการทำการบ้านนั้น ก็คือ พ่อแม่นั่นเอง สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่เราต้องทำเพื่อให้ลูกได้รับประโยชน์จากการทำการบ้านได้อย่างเต็มที่ หรือ ไม่เครียดจนเกินไป ต้องอยู่ที่การปรับความเข้าใจในทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่เสียก่อนว่า “ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่สำคัญเท่าลูกได้เรียนรู้กระบวนการหาผลลัพธ์นั้น ๆ มากกว่า” หรือหากจะพูดให้ง่าย ๆ นั่นก็คือ อย่ามัวแต่สนใจผลงาน คะแนน ความถูกต้องของการบ้านนั้น มากกว่าการได้สอนให้ลูกได้คิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากการบ้านนั้น ๆ เอง หากคิดได้เช่นนี้เหตุการณ์ที่เราได้เห็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย นั่งทำการบ้านส่งแทนลูกหลาน หรือการทะเลาะกับลูกเวลาสอนการบ้านก็คงไม่มีให้เห็นกันอีกต่อไป
นอกจากกการปรับทัศนคติของตัวพ่อแม่เองแล้ว ยังมีปัจจัยที่จะช่วยให้ การบ้านสามารถเป็นตัวช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของเด็กให้ได้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากเหตุอีก 3 ปัจจัย ดังนี้
การบ้านเยอะ การบ้านมากเกินวัยไปหรือไม่??
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Duke ได้ทบทวนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบ้านมากกว่า 60 เรื่องระหว่างปี 2530 ถึง 2546 และสรุปว่าการบ้านส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
Harris Cooper (แฮร์ริส คูเปอร์ ) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา กล่าวว่า งานวิจัยที่เขานำแสดง แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกของการบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้น มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ผู้ที่อยู่ในเกรด 7 ถึง 12 มากกว่านักเรียนในโรงเรียนประถม
ในขณะที่ชัดเจนว่าการบ้านเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ คูเปอร์ยังกล่าวว่าการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าการบ้านเยอะ การบ้านมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อนักเรียนทุกระดับ
“แม้แต่นักเรียนมัธยม การบ้านมากเกินไปก็ไม่สัมพันธ์กับเกรดที่สูงขึ้น”
Harris Cooper เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาที่ Duke ซึ่งเขายังเป็นผู้กำกับโครงการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้เขียนเรื่อง
“The Battle over Homework: Common Ground for Administrators, Teachers, and Parents” (Corwin Press)
แล้วเด็กควรทำการบ้านมากแค่ไหน? Cooper กล่าวว่างานวิจัยนี้สอดคล้องกับ “กฎ 10 นาที” ที่เสนอการบ้านที่เหมาะสมที่สุดที่ครูควรมอบหมาย คูเปอร์กล่าวว่า “กฎ 10 นาที” เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยครูจะเพิ่มการบ้าน 10 นาทีในขณะที่นักเรียนก้าวหน้าไปหนึ่งเกรด
- เด็กในเกรด K-2 (เทียบเท่ากับเด็กประถม 1-2 ) การบ้านจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้เวลาทำการบ้านไม่เกิน 10-20 นาทีในแต่ละวัน
- เด็กโตในเกรด 3-6 (เทียบเท่ากับเด็กประถม 3-6) สามารถจัดการการบ้านได้ในเวลา 30-60 นาทีต่อวัน
- ในมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวนการบ้านจะแตกต่างกันไปตามวิชา แต่ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมง ต่อวัน
การบ้านยากเกินวัยของเด็กไปหรือไม่??
คำว่า “ยากเกินไป” อาจเป็นคำที่ประเมินยาก หรือหาคำนิยามร่วมกันได้ยากเสียหน่อย ดังนั้น พ่อแม่สามารถยึดหลักโดยดูจากลูกของเราเองว่า การบ้านของลูกนั้นเหมาะสมกับเขามากน้อยเพียงใด
- หากว่า ลูกทำการบ้านไม่ได้ หรืองอแงเนื่องมาจากการไม่เข้าใจในบทเรียน หากเราเข้มงวด หรือปล่อยผ่านไปอาจทำให้เขารู้สึกท้อ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองได้ พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วจึงตั้งโจทย์เพิ่มให้เขาลองทำด้วยตนเองอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือยัง ติดขัดตรงไหนบ้าง การลงมือทำพร้อมกันไปกับลูกทำให้พ่อแม่สามารถมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของลูกได้มากกว่าการปล่อยให้เขานั่งทำด้วยตนเอง หรือบอกคำตอบผ่านไปเพียงเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องส่งครู ก็จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ และไม่มีความภูมิใจในตนเอง อาจเลยเถิดไปถึงการไม่เห็นถึงคุณค่าในตนเองในอนาคตได้
- หากว่า การบ้านยาก เกินวัยของลูกไปมาก การดูว่าการบ้านที่ได้รับนั้น ยากเกินวัยของลูกไปหรือไม่ อาจทำได้โดยการปรึกษา พูดคุยกันเองระหว่างผู้ปกครอง สอบถามกันดูว่าส่วนใหญ่เด็กสามารถทำการบ้านนั้น ๆ ได้หรือไม่ ถ้าพบว่าการบ้านยากเกินวัยของลูก(ดังเช่นตัวอย่างข่าวข้างต้น) พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรกดดัน หรือบีบบังคับให้เด็กต้องพยายามต่อ การที่ลูกทำไม่ได้ไม่ได้ผิดปกติ หรือไม่เก่ง เพราะเรากำลังคาดหวังในสิ่งที่เกินความสามารถในวัยของลูก สิ่งที่ควรทำ คือ การพูดคุยกับคุณครูผู้สอน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน หรือหาวิธีที่สามารถทำให้ลงตัวได้ เช่น การปรับลดเนื้อหาลงให้เหมาะสมกับวัย หรือ แนะนำวิธีการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ควรปล่อยวางไม่ลงโทษ เข้มงวดในสิ่งที่เกินวัยของลูก มิเช่นนั้นอาจได้ผลเสียมากกว่าผลดี
การควบคุมตนเองของลูก (Self Control) ไม่ดีพอ
ในกรณีนี้ลูกคงต้องได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง โดยใช้วิธีการ Task Analysis เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษวิธีหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่สามารถวางแผนการสอนอย่างดีมีเป้าหมาย โดยแบ่งกิจกรรมหรือการบ้านที่ยาก และเยอะนั้น ๆ ให้เป็นขั้นตอนย่อย ๆ จากขั้นตอนแรกไปจนขั้นตอนสุดท้าย และสอนไปตามลำดับขั้นตอนทีละขั้นจนเด็กทำได้สำเร็จ เช่น หากการบ้านมีหลายหน้า อาจแบ่งทำเป็นช่วง ๆ จนครบ โดยแต่ละช่วงที่ลูกทำสำเร็จ พ่อแม่ต้องชื่นชม ให้กำลังใจ ให้ลูกรู้สึกว่า เขาทำได้ ทำสำเร็จ เห็นเส้นชัยแม้ว่า การบ้านเยอะ การบ้านยาก แต่เขาก็สามารถค่อย ๆ ทำจนสำเร็จได้ นอกจากลูกจะได้รับความภูมิใจในตนเองแล้ว เขายังได้เรียนรู้การแบ่งงาน วิธีการจัดการปัญหาเพื่อไปสู่เป้าหมายได้อีกด้วย
การบ้านลูก พ่อแม่ไม่เครียด และเข้าใจ ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ และได้รับประโยชน์จากการบ้านได้อย่างเต็มที่อย่างแน่นอน เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัว และฝากข้อคิดจากคุณหมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านมาเป็นอีกหนึ่งกำลังใจกัน
รักลูก… อย่ารบกับลูกเรื่องการบ้าน ด้วยการใช้วิธีวิธีบ่นว่าแบบเดิมๆนะคะ
“ไม่มีเด็กคนไหนจะทำอะไรได้ดี ในวันที่รู้สึกแย่ๆ”