ในช่วงโควิด-19 ระบาด เด็กๆ ทุกระดับต้องหยุดไปโรงเรียน แล้วเปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ที่บ้าน ล่าสุด รมว.ศึกษาธิการ เล็งเห็นว่า ควร เปิดเทอม เด็กอนุบาล-ประถม’ ก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน
รมว.ศึกษา เตรียมชง เปิดเทอม เด็กอนุบาล-ประถม 1 ก.พ. นี้
ในภาวะสถานการณ์โรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลได้ออกมาตรการปิดสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งหลายแห่งก็ปรับตัวมาจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน หลังจากทดลองเรียนออนไลน์ไปสักพัก ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครู ต่างก็ประสบปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ดูจะไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์เท่าไหร่นัก
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เตรียมจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค.ชุดเล็ก ให้เปิดการเรียนการสอน ระดับ อนุบาล- ประถม ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เพราะเล็งเห็นว่า เด็กกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เปิดเผยถึงการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการปิดสถานศึกษาในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ว่าเข้าใจดีว่าการเรียนในช่วงโควิด-19 มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะนักเรียนก็มีทั้งความพร้อมและไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ในการเรียน อีกทั้งการเรียนออนไลน์อาจส่งผลให้เด็กมีเวลาว่างมากจนเกินไป
ดังนั้นได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าจะมีวิธีการจัดสอบปลายภาคเรียนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งรวมไปถึงการที่ตนได้เซ็นประกาศยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับป.6 และม.3 เนื่องจากการเรียนของเด็กในห้องเรียนไม่เต็มที่อย่างแน่นอนจึงไม่สามารถวัดผลอะไรได้ ทั้งนี้ ตนเข้าใจดีว่าการเรียนการสอนในช่วงโควิดจะต้องมีความยืดหยุ่น
“ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ดีพอสมควร เพราะมีการติดเชื้อโควิดวันละ 150-200 ราย ส่วนใหญ่เป็นการแพร่ระบาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งสามารถสอบสวนโรคได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการเปิดเรียนเฉพาะเด็กระดับปฐมวัยไปจนถึงประถมศึกษาก่อน เนื่องจากเด็กเล็กกลุ่มนี้มีความ” จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน และไม่สะดวกในการเรียนออนไลน์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งผมเตรียมจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ชุดเล็ก) ให้เปิดเรียนเฉพาะเด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าวก่อน โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกับ ศธ.ในการตัดสินใจด้วย แต่ขณะนี้ยังยืนยันที่จะเปิดเรียนตามกำหนดเดิมคือวันที่ 1 ก.พ.แต่ทั้งนี้จะต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านก่อน เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียน อย่างไรก็ตามเมื่อสามารถเปิดเรียนในสถานศึกษาตามปกติได้ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งปฎิบัติการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การสลับวันมาเรียน การติดตั้งเจลล้างมือ” รมว.ศธ.กล่าว.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์
Must Read >> 13 ทักษะที่ลูกควรมีก่อนเข้า โรงเรียนอนุบาล
การเรียนออนไลน์กับปัญหาหนักใจที่ต้องเจอ
หลังจากหลายๆ โรงเรียนได้นำระบบการเรียนออนไลน์ มาใช้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิ -19 ก็เกิดเสียงร้องเรียนมาจากหลายพื้นที่ ซึ่ง นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงกรณีนี้ ซึ่งสามารถรวบรวมเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
1.ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต โทรทัศน์
2.ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ในบางพื้นที่ ไม่สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ และไม่มีจานดาวเทียม หรือจานดาวเทียมรับสัญญาณไม่ได้
3.สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่สมบูรณ์ บางพื้นที่ในก็เกิดสภาพสัญญาณล่ม และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ต้องจ้างช่างมาปรับจูนสัญญาณใหม่
4.นักเรียนขาดความพร้อมในการเรียนทางออนไลน์ ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่สามารถเรียนด้วยตนเองได้ ขาดแรงจูงใจ เพราะไม่มีครูคอยกระตุ้นเตือนเหมือนในห้องเรียน
5.จำนวนสมาชิกครอบครัวมีมากเกินอุปกรณ์การเรียน แต่มีโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ครบทุกคน
6.ความเหลื่อมล้ำในการเรียน เกิดปัญหาปมด้อยของนักเรียน มีการเปรียบกับเพื่อนๆที่มีอุปกรณ์ในการเรียนที่ดีกว่า ทันสมัยกว่า มีความพร้อมมากกว่า
7.ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ และการเรียนผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกในยามที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นนี้
8.ผู้ปกครองไม่มีเวลา ในการเรียนออนไลน์ยังต้องมีผู้ใหญ่ หรือผู้ปกคองเป็นพี่เลี้ยง คอยควบคุมและจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ให้ลูกนั่งเรียนผ่านออนไลน์ ทำให้เสียเวลาในการทำงาน หรือประกอบอาชีพในการทำมาหากินของแต่ละวันได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก posttoday
Must Read >> ให้ลูกเรียนออนไลน์ อย่างไร? ถ้าแม่ต้องไปทำงาน?
ซึ่งมีการวิจัยในช่วงแรกของการสอนออนไลน์ ในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย พบว่า การเรียนออนไลน์ ทำให้นักเรียนขาด ความจำเชิงอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) ในโรงเรียน อันเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะชี้นำให้การเรียนรู้ประสบความสำเร็จ
Autobiographical Memory ความจำเชิงอัตชีวประวัติ หมายถึงอะไร?
ความจำเชิงอัตชีวประวัติ (Autobiographical Memory) คือ บันทึกของสมองเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา สิ่งที่เราทำ วีธีที่การที่เราใช้ นอกจากนี้ยังรวมถึงความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ และแรงจูงใจของเราในเหตุการณ์นั้นๆ เราใช้ความทรงจำนี้อย่างต่อเนื่องในชีวิตของเรา เช่น ใช้คาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไปที่ใหม่เป็นครั้งแรก การวิธีรับมือกับเครื่องใช้ในบ้านที่พัง และวิธีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น
นักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนจะมี ความทรงจำแบบอัตชีวประวัติ ของเหตุการณ์เกิดขึ้นในห้องเรียน รวมไปถึงการโต้ตอบกับเพื่อนการ ตอบสนองต่อคำแนะนำจากครูของพวกเขาในกิจกรรมการเรียนรู้ การปฏิบัติตามกิจวัตรและตารางเวลา และการปฏิบัติตนนอกเวลาเรียน ประสบการณ์ต่างๆ นี้ยังรวมไปถึงการเรียนรู้การโต้ตอบต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภาษากาย การสบตา และน้ำเสียงที่ครูและเพื่อนใช้ รวมถึงบรรยากาศในห้องเรียนโดยรวม
ประสบการณ์เหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำตอนอัตชีวประวัติของนักเรียน และจะถูกเรียกคืนขึ้นมาตลอดหากนักเรียนอยู่ในบริบทของห้องเรียน หรือกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งกระบวนการนี้พวกเขาจะพัฒนาเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสอนเชิงเนื้อหา ซึ่งในช่วงของการเรียนออนไลน์ นักเรียนส่วนใหญ่ขาดความทรงจำร่วมต่างๆ เหล่านี้ น้อยคนที่จะมีประสบการณ์ที่ดีกับการเรียนออนไลน์
Must Read >> เรียนออนไลน์ เตรียมตัวอย่างไรได้ผลดี ลูกแฮปปี้ ไม่เครียดเกินไป
9 เคล็ดลับ เปลี่ยนการเรียนออนไลน์ให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ
ถึงแม้ว่าการเรียนออนไลน์จะไม่เหมาะกับเด็กเล็ก แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่ยังไม่อาจไว้วางใจได้ คงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป และประเมินว่าควรให้เด็กไปรร.แล้วหรือยัง ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่พร้อมจะเปิดเรียน การเรียนออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นเรามาปรับตัวให้เด็กๆ เรียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 9 วิธีนี้
1. จำกัดสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ไขว้เขว
เพื่อให้ความสนใจของเด็กๆ จดจ่อกับการเรียนออนไลน์ คุณแม่ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ มีสมาธิ เก็บอุปกรณ์ของเล่น หรือสิ่งของต่างๆ ที่ดึงความสนใจของลูกออกจากการเรียน เช่น หุ่นยนต์ รถบังคับ ตุ๊กตาตัวโปรด โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยเก็บเอาไว้จนกว่าจะเรียนและทำการบ้านเสร็จเรียบร้อย คุณแม่อาจจะมีเวลาพักเบรก เพื่อผ่อนคลายระยะสั้นๆ ให้ลูกได้เล่นบ้าง แต่ต้องจำกัดเวลาในการเล่น เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียน
2. สร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้
กำหนดขอบเขต พื้นที่ สำหรับการเรียนออนไลน์ที่ชัดเจน ควรเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ และเตรียมสิ่งที่เอื้อต่อการเรียนของเด็กๆ เช่น โต๊ะเรียนหนังสือ โคมไฟ อุปกรณ์การเรียน พื้นที่เรียนควรห่างไกลจากเสียงดังรบกวน จัดข้าวของต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จะทำให้เด็ก ๆ มีสมาธิจดจ่อกับการเรียน และที่สำคัญควรเป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากที่เคยเล่นเกม หรือดูโทรทัศน์ด้วย
3. มีการแบ่งเวลาที่ชัดเจน
กิจวัตรและตารางเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่โรงเรียน ดังนั้นเมื่อเรียนออนไลน์ที่บ้าน การจัดเวลาเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีที่สุด หากคุณแม่รักษากิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับกับตอนที่ลูกอยู่ที่โรงเรียนตามปกติ มีการเริ่มเรียนที่ตรงเวลา พักเบรกเป็นช่วงที่แน่นอน และมีเวลาในการพักที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เด็กรู้หน้าที่ของตนในแต่ละวัน ฝึกวินัยในตัวเองไปพร้อมๆ กัน
4. อนุญาตให้เด็กๆ ได้คุยกับเพื่อน ๆ ผ่านสื่อโซเชียลบ้าง
ส่วนมากเวลาเด็กๆ ไปโรงเรียนจะมีการเล่นกับเพื่อน คุยกับเพื่อนเป็นปกติ บางคนมีเพื่อนสนิทหลายคนอีกด้วย แต่เมื่อปรับมาเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กๆ อดได้คุยเล่นกับเพื่อนเหมือนอย่างเคย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเหงามากไป คุณแม่ควรอนุญาตให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ตามปกติ ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยการส่งข้อความหรือวิดีโอแชทบ้าง ในเวลาที่เหมาะสม
5. ปรับเปลี่ยนการเรียนผ่านหน้าจอเป็นอย่างอื่นบ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับเด็กๆ การใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไปไม่ดีนัก เพราะมีผลเสียต่อสมองและสายตาของเด็กได้ ดังนั้นในการเรียนออนไลน์ คุณแม่ควรมีการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้หลากหลาย เช่น มีเวลาให้เด็กพักสายตา หากิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ทำแบบฝึกหัดลงบนสมุดแทนการทำบนจอคอมเท่าที่จะสามารถทำได้
6. ติดต่อกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ
เนื่องจากการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ของทุกบ้าน เราจึงต้องเรียนรู้พร้อมปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการที่ผู้ปกครองได้พูดคุยกัน เป็นการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิค และวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ในการเรียนออนไลน์ รวมถึงคำแนะนำที่จะทำให้ลูกของเราและเพื่อนร่วมห้อง เรียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
7. ตารางเรียน ตารางเวลา สำคัญเสมอ
การเรียนจากที่บ้านอาจจะเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้ปกครองหลาย ๆ คน ดังนั้นการกำหนดตารางที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเป็นตารางที่ไม่เพียงแต่ใช้ในเวลาเรียนรู้เท่านั้น แต่รวมไปถึงเวลาของกิจวัตรประจำวันด้วย เช่น เวลากิน เวลาอาบน้ำ เวลานอน โดยพยายามทำให้ตารางเวลานนั้นมีความคล้ายกับตอนที่ลูกไปโรงเรียนตามปกติมากที่สุด วิธีการนี้จะช่วยทำให้เด็ก ไม่รู้สึกว่าตัวอยู่บ้านไปวัน ๆ แบบไร้ความหมาย พวกเขามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าคุณแม่ควรจะสร้างเป้าหมาย และกำหนดเวลาเหมือนผู้ใหญ่ เพื่อที่เวลาเด็ก ๆ บรรลุเป้าหมายพวกเขาจะได้มีความภูมิใจตัวเอง
8. อย่าปล่อยให้ลูก ๆ คิดว่าเป็นวันหยุดพักผ่อน
เวลานี้ที่บ้านอาจรู้สึกเหมือนเป็นวันหยุดพักผ่อนสำหรับลูก แต่สิ่งสำคัญคือต้องเตือนพวกเขาว่า การหยุดอยู่บ้านกรณีพิเศษนี้ไม่ใช่การหยุดเทอมปกติ แต่ลูกยังมีหน้าที่ต้องเรียนเช่นเดิม เพราะการวัดผล การสอบ ไม่ได้หยุดตามไปด้วย แค่ปรับเปลี่ยนการเรียนจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือในยามที่ลูกต้องการ หรือในยามที่ลูกไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียน พยายามอย่าปล่อยให้ลูก ต้องเรียนรู้เพียงลำพัง เพราะเด็กจะขาดสมาธิทำให้การเรียนไม่เกิดประสิทธิภาพ
9. อย่าลืมกำหนดเวลาเพื่อความสนุกสนาน
แม้ว่าการหยุดเรียนช่วงนี้จะไม่ใช่การหยุดพักผ่อน มีการเรียน การบ้าน ให้ลูกๆ ได้ทำเหมือนไปโรงเรียน แต่คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมสนุกๆ มาผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และการกักตัวอยู่บ้านบ้าง ถือโอกาสที่ลูกหยุดเรียน คุณพ่อคุณแม่บางครอบครัว Work From Home ได้ใช้เวลาในการเรียนออนไลน์ และทำกิจกรรมต่างๆ รวมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของคุณกับลูกๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก bestreview.asia
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก
รวมสื่อ บทเรียนออนไลน์ ป.1-ป.6 เสริมความรู้ให้ลูกในช่วงปิดเทอมยาวๆ
หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่