ละครหุ่นเงา โรงเรียนทอสี ก้าวสุดท้ายของ "น้องอนุบาล" สู่การเป็น "พี่ประถม"
ละครหุ่นเงา ทอสี

ละครหุ่นเงา โรงเรียนทอสี ก้าวสุดท้ายของ “น้องอนุบาล” สู่การเป็น “พี่ประถม”

Alternative Textaccount_circle
event
ละครหุ่นเงา ทอสี
ละครหุ่นเงา ทอสี

โรงเรียนทอสี โรงเรียนเล็กๆ ใจกลางเมืองกรุง ที่คุณพ่อคุณแม่รู้จักในฐานะโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธ ที่นำเอาหลักพุทธปัญญา มาเป็นแกนหลักในการจัดเรียนการสอน เน้นสอนให้เด็กเป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม และวิชาชีวิตติดตัว ทีมแม่ ABK ได้ยินชื่อเสียงมานาน และเพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสด้วยตัวเอง โรงเรียนแห่งนี้มีกิจกรรมประจำปีที่ทำต่อเนื่องยาวนานหลายปี นั่นคือ “ละครหุ่นเงา” ซึ่งเป็นการแสดงผลงานชิ้นสุดท้ายของเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ก่อนจะก้าวไปเป็นพี่ประถม 1 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ละครหุ่นเงา เป็นกิจกรรมที่เด็กอนุบาลทอสีทุกคนต่างตื่นเต้นรอคอยที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของละครหุ่นเงาในตำนานของโรงเรียน เราได้พูดคุยกับครูแหม่ม อาภาภัทร  ไชยประสิทธิ์ (รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาชีวิตนักเรียน) และครูต้น ทัศน์เนตรดาว โสรัต (หัวหน้าฝ่ายอนุบาล) สองหัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรมนี้

ความเป็นมาเป็นไปของกิจกรรม ละครหุ่นเงา เป็นอย่างไร

ครูแหม่มเล่าว่า ละครหุ่นเงา ปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว จากกิจกรรมที่คุณครูและเด็กๆ ร่วมกันทำเพื่อเซอร์ไพรส์คุณพ่อคุณแม่ก่อนจบปีการศึกษา กลายเป็นความร่วมมือกันของทั้งครู ผู้ปกครองและเด็กๆ  คุณพ่อคุณแม่เองต่างก็ตื่นเต้นไม่แพ้ลูกๆ แม้จะได้มีส่วนช่วยในการเตรียมงานบางส่วน แต่เด็กๆ ยังคงเก็บเป็นความลับไม่ให้ผู้ปกครองรู้ว่าปีนี้พวกเขาจะแสดงอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ดู รู้เพียงว่า หุ่นเงาปีนี้ชื่อตอนว่า “Love จิ๊บจิ๊บ from the วิบวับ

หุ่นเงาทอสี

เด็กได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมนี้

ครูต้นอธิบายว่า เป็นกิจกรรมที่เกิดกระบวนการเรียนรู้มากมาย  ได้ทั้ง วิชาการและวิชาชีวิต   อย่างเช่น  เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ “กำเนิดเงา” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์   องค์ประกอบที่ทำให้เกิดเงา ได้เรียนรู้เงาจากแสงที่มนุษย์สร้าง เงาที่เกิดจากแสงธรรมชาติ  ได้สังเกตเงารอบตัวมีอยู่ที่ไหนบ้าง สังเกตเงาต้นไม้ ตึกเรียน  เงาในน้ำ หรือเงาของตัวเด็ก ๆ เอง  สังเกตว่าเงามีสีอะไร ถ้าเราจะทำให้เงามีสีเราจะทำอย่างไร  นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ “วิชาการ” จากการทำละคร

เบื้องหลัง ละครหุ่นเงา

เบื้องหน้าละครหุ่นเงา ที่สวยงาม

และอีกส่วนที่เราให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ “วิชาชีวิต”

เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดตัวละครหลัก  ในปีนี้เป็นเรื่องราวของ “ไก่”  เนื่องจากเด็กๆ กำลังอินกับการทำโครงงานในช่วงต้นเทอมเรื่องไก่  รวมถึงการออกแบบเรื่องราวเองว่าอยากให้มีอะไรในละครบ้าง  โดยครูพาเด็กระดมความคิดเห็นร่วมกันว่าตลอดปีนี้เราเรียนรู้เรื่องอะไร  มีข่าว เหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือมีเพลงอะไรที่เด็กๆ ชื่นชอบเป็นพิเศษ  จากนั้นก็แบ่งกลุ่มแต่งเนื้อเรื่องร่วมกัน โดยนำสิ่งที่ระดมความคิดเห็นมาเป็นฐานและให้ทุกคนได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ในกิจกรรม “นิทานวงกลม” สุดท้ายคุณครูก็ช่วยร้อยเรียงเรื่องราวของทุกกลุ่มมาเป็นบทละครของพวกเรา

เมื่อมีการคัดเลือกนักแสดง  เด็กๆ ได้เสนอตัวว่าอยากแสดงอะไร  โดยเข้าใจคุณสมบัติของแต่ละชุดการแสดงก่อนว่ามีอะไรบ้าง  อย่างเช่น หน้าที่ที่เป็นที่สนใจของเด็กๆ มากก็คือ “พิธีกร” ต้องพูดชัด  มีความมั่นใจ บุคลิกดี  เด็กที่สนใจได้ลองออกมาแสดงบทบาทเพื่อให้เพื่อนๆ ช่วยกันดู ช่วยกันโหวตว่าเหมาะไหม ถึงจะสนิทกันก็ไม่ได้เลือกเพราะรักเพื่อน ต้องนึกถึงความเหมาะสมด้วย เด็กได้เรียนรู้เรื่องความผิดหวัง ความสมหวัง เรียนรู้ว่า ไม่มีใครที่จะสมหวังทุกเรื่อง ผิดหวังบ้าง เสียใจได้ แต่ไม่จมอยู่กับอารมณ์เศร้าเสียใจ  เพราะมีทางใหม่ให้เด็กได้ลอง ให้เด็กยอมรับด้วยตัวเอง ถึงเราไม่ได้ตรงนี้ เรายังมีโอกาสแสดงบทบาทอื่นอยู่นะ เด็กบางคนกลับไปบอกที่บ้านว่า ได้เลือกสิ่งที่ตนไม่ถนัดไม่ชอบแต่ก็ลองดู เพราะอยากฝึกตน…สู้สิ่งยาก

พิธีกรเด็ก

การแสดงของน้องๆ ชั้นอ.3

ละครไวรัสโคโรน่า

ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง  คุณครูพยายามดึงเอาจุดเด่นของเด็กแต่ละคนออกมาให้เขารู้จักตนเอง ให้เขาภูมิใจ  เช่น บางคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น แต่ถนัดทางด้านวาดรูปก็ได้วาดตัวหุ่นมากหน่อย บางคนวาดรูปไม่ได้แต่พูดชัด เสียงไพเราะ เราให้พากย์เสียงที่ยากขึ้นที่ต้องใช้อารมณ์และคำควบกล้ำเยอะๆ บางคนไม่ถนัดวาด ออกเสียงไม่ชัดแต่จินตนาการกว้างไกลมากก็ขอให้มาช่วยครูต่อบทละครเพิ่มเติม เป็นต้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

หุ่นเงาเป็นกิจกรรมที่เด็กจะได้ฝึกในหลายๆ อย่าง ฝึกความพยายาม อดทนรอคอย สู้สิ่งยาก ฝึกการยับยั้งชั่งใจ ฝึกความซื่อสัตย์ เรามีสัญญาใจร่วมกันว่าจะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับให้คุณพ่อคุณแม่เซอร์ไพรส์ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ถาม เด็กๆ จะไม่โกหก แต่ให้ตอบด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่น่ารักว่า “ไม่บอก ไม่บอก เป็นความลับ (เพราะอยากเซอร์ไพรส์คุณพ่อคุณแม่)”

เด็กมีความสามารถทำอะไรสร้างสรรค์ได้หลายอย่าง ออกแบบหุ่นถ่ายทอดออกมาจากจินตนาการของเขาเอง ออกแบบการ์ดเชิญ ออกแบบชื่อเรื่อง  ที่เราเห็นชื่อเรื่องบนเสื้อดำนี่มาจากฝีมือของเด็กๆ ทั้งหมดเลย เด็กทุกคนจะได้ออกแบบชื่อเรื่องตามจินตนาการของตัวเอง จากนั้นคุณครูก็คัดเอาตัวอักษร ภาพวาดแต่ละส่วนของเด็กๆ มาผสมรวมกัน  อักษรตัวนี้ของคนหนึ่ง ตัวนั้นของอีกคนหนึ่ง ไม่ได้เลือกของใครเพียงคนเดียว

ออกแบบการ์ดเชิญ

เมื่อเดินเข้าโรงละคร เราได้เห็นผลงานศิลปะจากจินตนาการของเด็ก ๆ เรื่องราวของเรื่องนี้ถูกเล่าเป็น “นิทานบนแผ่นเฟรม”  โดยเอาเรื่องราวแต่ละตอนในละครย่อยออกมา แล้วเด็กก็เลือกตอนที่สนใจวาดเป็นภาพวาดติดเรียงรายบนผนัง เป็นนิทรรศการให้ชมก่อนและหลังชมละคร ซึ่งเด็กๆ ไม่ใช่แค่ลงมือวาด แต่คุณครูเล่าว่า เด็กทุกคนต้องยกเฟรมของตัวเอง เดินขึ้นบันไดมาชั้น 5 เองด้วย

กางเกงผ้าขาวม้าที่เด็กๆ ใส่ ก็ลงมือตัดเย็บด้วยตัวเอง ใช้เข็ม ใช้กรรไกรเอง ตัดผ้า เนาผ้าเอง ผู้ปกครองช่วยในขั้นตอนสุดท้ายคือเย็บเอวให้ ซึ่งการตัดเย็บผ้าก็ได้เรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือจากวิชาการก็คือ การระมัดระวังตนเองและผู้อื่นเมื่อใช้อุปกรณ์ การฝึกสติ สมาธิในการทำงาน แต่ถ้าสมาธิหลุดเย็บผิดหรือด้ายพันกัน  เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา

ครูแหม่มเล่าว่า งานนี้เป็นงานที่โตกว่าตัวของเด็ก เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ ที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของการทำงาน ฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ ความตั้งใจ พยายาม ให้สมเป็นเด็กทอสี ฝึกตน อดทน สู้สิ่งยากกับงานชิ้นสุดท้ายที่ทำร่วมกันในวัยอนุบาลก่อนที่จะขึ้นชั้นประถม เป็นของขวัญให้กับทุกคน

นิทานบนแผ่นเฟรม

นิทานบนแผ่นเฟรม

มีวิธีการยังไงถึงทำให้เด็กๆ ให้ความร่วมมือดีขนาดนี้

ครูต้นอธิบายว่า  ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดภายในตัวเด็กเอง  โดยให้ดูซีดีหุ่นเงาของพี่ๆ (มีให้เลือกตั้งแต่ปี ๑ – ๑๔)  ตั้งคำถามจากสิ่งที่เด็กได้ดูและดึงความทรงจำที่เด็กๆ เคยดูเวทีจริงตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล เขาเห็นรุ่นพี่ทำมาก่อนทุกปี เป็นแบบอย่างที่ทำให้เขาตั้งใจและอยากพัฒนาตน  เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ เขาควรทำอย่างไรให้เป็นตัวอย่างของรุ่นน้องต่อไป และทำให้ผู้ชมมีความสุข  เพียงเท่านี้เด็ก ๆ ทุกคนก็แทบอดใจไม่ไหว อยากลงมือทำงานกันทันที  ส่วนพี่ที่ขึ้นไปชั้นประถมแล้วก็อยากมาช่วย คอยถามไถ่ครู อยากรู้ว่าปีนี้น้องจะแสดงอะไร เป็นภาพจำช่วงเวลาดีๆ ที่่เด็กจะจำได้ตลอดว่า ปีไหนเขาทำอะไร  ถึงแม้ว่าโปรดักชั่นจะใหญ่เกินตัวเด็ก แต่เค้ามีครูอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา

เบื้องหลังละครหุ่นเงา

สิ่งที่เด็กทอสีที่จบอ.3 จะได้ติดตัวไปเมื่อเป็นพี่ประถม

“เด็กที่จบอ.3 จะสามารถ พึ่งพาตนเองได้ เป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ สามารถดูแลตนเอง  สามารถทำอะไรให้ผู้อื่นได้ รู้จักนึกถึงคนอื่น ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวเอง” ครูต้นกล่าว

ละครหุ่นเงาความยาว 1 ชั่วโมงที่ทีมแม่ ABK ได้ชมในวันนี้ บวกกับเบื้องหลังการทำงานที่คุณครูเล่าให้ฟัง ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมกับพัฒนาการอันน่าทึ่งของเด็กๆ ชั้นอ.3 ชื่นใจแทนคุณพ่อคุณแม่คุณครู ที่ได้เห็นศักยภาพของเด็กๆ ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้มากมายกว่าที่เราคิด เพียงผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เด็กก็จะพยายาม อดทน สู้สิ่งยาก และทำมันให้สำเร็จ

เด็กทอสีถูกฝึกให้แข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองได้ เพราะเมื่อเขาดูแลตัวเองได้แล้ว เขาจะสามารถดูแลและเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ นับเป็น “วิชาชีวิต” ที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม

เด็กทอสี ฝึกตน อดทน สู้สิ่งยาก

ตัวละครหุ่นเงา

บทความที่น่าสนใจอืนๆ 

โรงเรียนทางเลือก เรียนรู้ตามทางของลูก โดย พ่อเอก

โรงเรียนทางเลือก เรียนรู้ตามทางของลูก #2 โดย พ่อเอก

โรงเรียนทางเลือก เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเจ้าตัวน้อย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up