แนวการสอนแบบ วอลดอร์ฟ (Waldorf Method) เป็นรูปแบบการศึกษาในฐานะหลักสูตรโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนแนวบูรณาการ เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้เริ่มหันมามอง และศึกษาหาข้อมูล สำหรับเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะเข้าเรียน ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนทางเลือกเริ่มเป็นที่ผู้ปกครองนิยมมากขึ้น เพราะมีรูปแบบแนวการสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนกระแสหลัก แต่เป็นโรงเรียนที่มีกฎหมายรองรับและจัดการศึกษาที่อิงกับระบบของกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน แตกต่างตรงที่โรงเรียนจะนำการเรียนการสอนมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสม เน้นเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การลงมือทำ การเล่น ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งโรงเรียนทางเลือกเองก็มีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ ว่ามีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร มาทำความรู้จักกันค่ะ
10 ข้อที่จะทำให้แม่ๆ รู้จักโรงเรียนแนว วอลดอร์ฟ มากขึ้น
1.แนวคิดการศึกษาวอลดอร์ฟ เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 โดยรูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปราชญ์ผู้ก่อตั้งการศึกษา วอลดอร์ฟ ที่เชื่อว่า “สิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี” เด็กวัยแรกเกิดถึง 7 ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบทั้งท่าทางและคำพูดจนไปถึงการเลียนแบบลึกลงไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กจึงเป็นการเรียนผ่านจิตใต้สำนึกซึ่งก็จะส่งผลต่อสุขภาพกาย กริยาท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด โดยไม่รู้ตัว การจัดการศึกษาจึงต้องคัดเลือกสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กและปกป้องเด็กจากสิ่งที่จะทำลายความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาซึ่งเป็นความดีงามที่ติดตัวเด็กมา
2.การจัดบรรยากาศการเรียนการสอนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน อาคารเรียนและบริเวณโรงเรียน เป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฎอยู่ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร เช่น การจัดสีที่นุ่มนวล ที่ช่วยทำให้เด็กรู้สึกถึงความรักความอบอุ่น และช่วยให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใส ไม่เคร่งเครียด ภายในห้องเรียนให้ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติที่ไม่จ้าเกินไปหรือมืดทึมเกินไปช่วยให้เด็กปรับตัวให้เรียนรู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้าเกินจำเป็น ตลอดจนเสียงที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงนกร้อง ลมพัด ใบไม้ไหว น้ำไหลริน หรือเสียงดนตรีและเพลงที่ไพเราะอ่อนโยน และแม้แต่ความเงียบ จะช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่น อ่อนโยน และสดชื่นในจิตใจเด็ก ช่วยให้เด็กสงบ มีพลัง ตื่นตัว และมีสมาธิต่อจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนรู้ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญในการจัดบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทั้งจิตใต้สำนึกของเด็กตลอดทั้งวัน
3.เป้าหมายของการศึกษาวอลดอร์ฟคือ ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กให้บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี สามารถกำหนดความมุ่งหมาย และแนวทางแก่ชีวิตได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตัวเอง เป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพสมดุลกลมกลืนกับโลกและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการศึกษาระบบวอลดอร์ฟจึงเน้นเรื่องของการเชื่อมโยงมนุษย์กับจักรวาล มีมุมมองว่า เด็กควรได้เล่นอย่างอิสระ ชีวิตเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติ สอนให้เด็กได้รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในการใช้ชีวิตอยู่บนโลก ผ่านกิจกรรม 3 อย่างได้แก่ กิจกรรมทางกาย (การลงมือทำ) อารมณ์ความรู้สึก และการคิด และเน้นให้เด็กได้ใช้พลังทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านสติปัญญา ด้านศิลปะ และด้านการปฎิบัติอย่างพอเหมาะ
4.หลักสูตรวอลดอร์ฟในระดับปฐมวัยจะไม่มีการแบ่งเนื้อหาสาระเป็นวิชา วิชาการจะยังไม่ถูกสอนในช่วงปีแรก ๆ ของการเรียน แต่จะเป็นการจัดเนื้อหาสาระบูรณาการออกมาในรูปของประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการเล่นและการดำเนินชีวิต เน้นให้ความสำคัญกับจินตนาการของผู้เรียนและการกลมกลืนกับธรรมชาติเชื่อมโยงกัน ซึ่งก็จะพบว่าเนื้อหาสาระเหล่านี้ถูกบูรณาการรวมกับในแง่วิชาต่าง ๆ ได้อย่างกลมกลืน สร้างสมดุลระหว่างศิลปะ วิทยาการ ดนตรี จริยธรรม และการฝึกฝนทักษะชีวิตประจำวัน เป็นการปูพื้นฐานสำหรับคุณสมบัติที่ดีงามแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งจะติดตัวเด็กไปจนตลอดชีวิต
5.หลักสูตรวอลดอร์ฟทุกชั้นไม่ว่าจะระดับอนุบาลไปจนถึงประถมจะเป็นเอกภาพต่อเนื่องกัน คือ กำหนดขึ้นโดยมีเด็กอยู่ในใจ สอดคล้องกับพัฒนาการในแต่ละวัย ผ่านทางกาย อารมณ์ ความคิด ตอบสนองต่อศักยภาพในตัวเด็กซึ่งกำลังต้องการพัฒนาไปมากที่สุดในช่วงระยะนั้น เด็กจะเรียนรู้โดยผ่านการปฏิบัติด้วยตนเองในสภาพการณ์ที่เป็นจริง การเรียนการสอนไม่ได้เป็นไปโดยผ่านตำราแบบเรียน แต่ผ่านครูไปสู่นักเรียนโดยตรง โดยครูให้การศึกษาต่อเด็กจากประสบการณ์และความรู้ของตนอย่างมีศิลปะ มีชีวิตชีวา ไม่ใช่เพียงถ่ายทอดข้อมูลในตำรา ในโรงเรียนวอลดอร์ฟครูประจำชั้นจะเลื่อนชั้นตามลูกศิษย์ไปตั้งแต่ป. 1 จนถึงม. 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ 10 ข้อที่จะทำให้รู้จักโรงเรียนแนววอลดอร์ฟมากขึ้น คลิกหน้า 2