แก้ยังไงดี และ วิธีการแก้ของเรา
คุณแม่ – เราจะเล่าเรื่องของลูกคนเล็กของเรานะคะ ลูกสาวคนเล็กเราโดนเพื่อนๆ รุมว่ามานาน ว่าซ้ำๆ จนเครียด ไม่อยากไปโรงเรียน ทุกครั้งเวลาไปส่งที่โรงเรียนจะไม่อยากเข้าแถว เพราะไม่มีใครเล่นด้วยและไม่อยากเล่นกับใคร ด้วยความที่ตัวเล็ก และลูกเรามีพัฒนาการที่ช้าไปนิดถ้าเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน ทำให้ทำงานช้า ส่งงานไม่ทัน โดนครูตี และครูบางคนก็ฉีกผลงานที่ทำไปด้วย
ลูกเราความนึกคิดจะยังเด็กกว่าอายุ ยังชอบอะไรง้องแง้งน้องแน้งแบบเด็ก เช่น อายุ 10 ขวบแล้ว ยังชอบเล่น เป่ายิ้งฉุบ หรือ เล่มเกมแบบเด็กๆ
เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเป็นเรื่องใหญ่ครั้งเดียวนะคะ แต่สะสมมาเรื่อยๆ ทีละนิด จนถึงจุดที่ทนการไปโรงเรียนไม่ได้อีกต่อไป
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะลูกอยู่ที่นี่ปีนี้เป็นปีที่ 8 (อยู่ตั้งแต่เนอสเซอรี่ จนปีนี้ขึ้น ป.4) ถามว่า เราเอง ได้พยายามให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนไหม ?
แน่นอนค่ะ คติส่วนตัวเราคือ เราฝึกให้ลูกเราพยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เราบอกให้ลูกเข้มแข็ง อดทน ลองแก้ปัญหาเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง
ลูกเราก็พยายามนะคะ เวลาเพื่อนว่ามากๆ เข้าก็โต้ไปบ้างว่า “ไร้สาระ” แล้วก็ไม่พูดกับเพื่อน หรือบางทีลูกเราก็พยายามจะเอาชนะใจเพื่อนด้วยการให้เงินหรือให้ยืมเงิน ทีนี้ ที่ลูกเสียใจคือ เวลาทวงเงินเพื่อน เพื่อนกลับทำไม่รู้ไม่ชี้แล้วไม่สนใจไม่พูดด้วย อันนี้ ทำให้เธอเสียใจเป็นสองเท่า ประมาณว่า “ชั้นพยายามทำดีแล้ว แต่คงดีไม่พอ”
สิ่งที่ทำคือ
- ไลน์หาคุณแม่ของน้องที่เป็นหัวโจกชอบว่าลูกเราบ่อย ๆ เราขออนุญาตโทรหา และเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเราก็ไม่ลืมที่จะบอกว่า “เราไม่แน่ใจว่า ลูกเราไปทำอะไรน้อง*** ก่อนรึเปล่า ? ถ้าใช่ เราขอโทษแทนด้วย ฝากคุณแม่ช่วยถามน้องนิดนึงนะคะ ว่ามีเรื่องอะไรกันรึเปล่า ? อยากให้เด็กๆ เล่นกัน รักกันเหมือนเดิม”
- ไปพบคุณครูประจำชั้นที่ห้องเลยค่ะ เล่าให้ฟังถึงปัญหาทั้งหมด อันที่จริง ตอนต้นปี ทุกครั้งที่เปลี่ยนครูประจำชั้น เราจะไปบอกคุณครูว่า ลูกเรามีปัญหาเรื่องช้าบ้างเพราะตอนเด็กๆ เคยไม่สบาย เราไม่ได้มาพูดเพื่อขอสิทธิพิเศษ คุณครูจะดุ จะตีบ้างตามเหตุผล เราไม่ติดใจ แต่แค่อธิบายให้ฟังว่า ทำไม ลูกเราถึงทำงานบางอย่างเสร็จไม่ทันเพื่อน เราเองก็พยายามฝึกหัดเค้าเพิ่มเติมอยู่แล้ว
แต่ตอนเกิดเรื่องขึ้น เราก็ไปหาครูประจำชั้นอีกครั้ง ขอให้คุณครูช่วยตะล่อมถามเด็กๆ นิดหนึ่งว่า เกิดอะไรขึ้น คุณครูก็น่ารักมาก เรียกเด็กมาถามเป็นรายคน และเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ทราบเรื่องราวรอบด้านแบบ 360 องศา จากนั้น ก็สอนเด็ก ๆ โดยไม่ชี้เฉพาะเจาะจงลงไป (ซึ่งอันนี้ เราขอชมเชยครูจริงๆ เพราะหากคุณครูดุคู่กรณี แบบขานชื่อ ทีนี้ แทนที่จะมีลูกเราเป็นเด็กน่าสงสารคนเดียว ก็จะมีเด็กน่าสงสารถึงสองคน) ให้ยอมรับความแตกต่างของเพื่อน และให้อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ
จะว่าไปเด็กๆ หลายคนก็ยังใสอยู่มากค่ะ เราบอกครูว่า เราเข้าใจว่า ถ้าเด็กๆ ยังไม่เข้าใจบางเรื่องมากนัก เช่น บางคนก็ข้องใจแกมหมั่นไส้ว่า ทำไมลูกเราถึงใส่รองเท้าไม่เหมือนเพื่อน (คือ ต้องใส่รองเท้าดัดรูปเท้า เนื่องจากรูปเท้าผิดปกติ) และสามารถใส่รองเท้าเข้าห้องได้ (คุณหมอให้ใส่วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ) จริงๆ ลูกเราก็อธิบายแล้วแต่เพื่อนก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ เรายินดีจะเข้าไปอธิบายให้เด็กๆ ฟัง เพื่อให้เลิกสงสัยประเด็นนี้ จนเป็นเหตุให้ตั้งข้อรังเกียจกัน
- เราโทรหาผู้ปกครองของเพื่อนลูก และคุยกับเพื่อนลูก ทั้งที่เป็นคู่กรณีและไม่ใช่คู่กรณี ค่อยๆ ตะล่อมถามคุยดีๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็พบว่ามีคนเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ชอบว่าลูก และแสดงอำนาจกับลูกซ้ำๆ แต่คนอื่นๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่เวลาลูกเราโดนว่าบ่อยๆ เข้า ก็เลยเซ็ง และพลอยไม่อยากคุยไปหมด
เช่น เด็กหญิง ก. ข. ค. ชอบว่า ลูกเรา แล้ว เด็กหญิง ก.ข.ค. ก็ไปคุยและไปเล่นกับเด็กหญิง A, B, C ทำให้ลูกเราพลอยไม่อยากเล่นกับ เด็กหญิง A,B,C ไปด้วยเพราะคิดว่า เป็นพวกเดียวกับ เด็กหญิง ก.ข.ค. ทั้งที่ เด็กหญิง A, B, C เขาก็ยังอยากเล่น และรักลูกเราเหมือนเดิม
- หลังจากไล่เลียงทั้งหมดแล้ว เราก็เรียกลูกเรามาคุย ปรับทัศนคติ เล่าให้ฟังว่า แม่ได้ดำเนินการอะไรไปบ้างเพื่อช่วยลูก ขอให้ลูกลองเปิดใจอีกครั้ง กลับไปโรงเรียน จะพบว่า เรื่องบางเรื่องที่เพื่อนเข้าใจลูกผิดไป (เช่นการใส่รองเท้าที่ต่างจากเพื่อน) หม่ามี้อธิบายให้คุณครูและคุณแม่เขาฟังแล้ว คิดว่าเขาเข้าใจ หม่ามี้ไม่อยากให้ลูกซื้อใจเพื่อนด้วยเงิน เรื่องการมีน้ำใจหม่ามี้สนับสนุน แต่อย่าให้เงินเขาหรือให้เขายืมเพียงเพราะกลัว หรือ ต้องการจะชนะใจ
ผลที่ได้รับ
ผ่านไปอาทิตย์กว่า เมื่อวาน ลูกคนเล็กกลับมาคุยเจื้อยแจ้วเหมือนเดิมแล้ว และบอกว่า มีเพื่อนดี ๆ มากมายที่โรงเรียน อยากไปโรงเรียนเร็ว ๆ จะได้ไปซ้อม show ตอน Christmas กับเพื่อน อ้อ … แล้วเพื่อนที่ยืมตังค์ไป คืนตังค์แล้วด้วยนะคะ ยืมไป 4 คืนมา 6 ซึ่งเราก็บอกลูกว่า ให้เอาอีก 2 บาทไปคืนเพื่อน เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจเงินกู้จ้ะ
วิธีป้องกัน
- หมั่นคุยกับลูกบ่อยๆ และสังเกตลูกบ่อยๆ
- ติดต่อสื่อสารกับคุณครูและกลุ่มผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
- แสดงตัวบ้างที่โรงเรียนเพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย
- ปลูกฝังทัศนคติให้ลูกยอมรับความแตกต่าง และไม่ด่วนตัดสินใครง่ายๆ
มาถึงท้ายต้องขอชื่นชมแนวคิด และวิธีการรับมือแก้ปัญหาของคุณแม่มากๆ ค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญกับเรื่องลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน ลองนำวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ เชื่อเสมอว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เด็กๆ อยากไปโรงเรียน และมีเพื่อนที่น่ารัก เรียนอย่างมีความสุขกันค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
อุทาหรณ์ เด็กถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน จนฆ่าตัวตาย
10 เคส เลี้ยงลูกดี แต่กลับทำให้เป็นเด็กมีปัญหา
ขอขอบคุณเรื่องจากกระทู้พันทิป
คุณธาราสินธุ์ pantip.com