เจาะลึก 12 สไตล์การเลี้ยงลูก ส่งผลต่อเด็กต่างกันอย่างไร - Amarin Baby & Kids
สไตล์การเลี้ยงลูก

เจาะลึก 12 สไตล์การเลี้ยงลูก ส่งผลต่อเด็กต่างกันอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event
สไตล์การเลี้ยงลูก
สไตล์การเลี้ยงลูก

สไตล์การเลี้ยงลูก –  วิธีการ หรือสไตล์ในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ คือ แนวทางปฏิบัติที่ใช้ในการเลี้ยงดูลูก เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารูปแบบในการเลี้ยงดูเด็ก มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมในเรื่องการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย ตลอดจนพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก  สิ่งที่พ่อแม่แสดงออกในการอบรมสั่งสอนลูก อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว บางบ้านเลี้ยงลูกค่อนข้างเข้มงวด หรือ บางบ้านให้อิสระกับลูก บางบ้านไม่ตามใจ หรือบางบ้านอาจตามใจลูกมากเกินไป หรืออ่อนไหวต่อความต้องการทางอารมณ์และพัฒนาการของลูก สไตล์การเลี้ยงลูกโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 12 สไตล์ แต่ละสไตล์ส่งผลต่อเด็กอย่างไร มาติดตามกันได้เลยค่ะ

เจาะลึก 12 สไตล์การเลี้ยงลูก ส่งผลต่อเด็กต่างกันอย่างไร?

1. การเลี้ยงลูกด้วยวินัยเชิงบวก (Positive Parenting)

การเลี้ยงลูกด้วยวินัยเชิงบวก เป็นแนวคิดการเลี้ยงลูกแบบตะวันตกสมัยใหม่  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นราวปี 2541 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน มาร์ติน เซลิกแมน เป็นแนวคิดในการเลี้ยงดูที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้งระหว่างพ่อแม่ลูก พื้นฐานของการเลี้ยงลูกเชิงบวก คือการสื่อสารที่เหมาะสม และการเคารพซึ่งกันและกัน พ่อแม่ไม่เพียงแต่สอนลูกว่า ‘อะไรควรทำไม่ควรทำ’ แต่สอนว่า  ‘ทำไมควรทำไม่ควรทำ’ ด้วย  กฎข้อแรกของการเลี้ยงลูกเชิงบวกคือการเป็นพ่อแม่ที่เปี่ยมด้วยความรัก มากกว่าที่จะมุ่งให้ลูกเชื่อฟังคำสั่งสอนโดยการสร้างความกลัวให้ลูกด้วยการลงโทษเพื่อหวังผลในการพัฒนาด้านวินัย โดยผู้ปกครองมักเป็นผู้ฟังที่กระตือรือร้น และสามารถเข้าใจในกระบวนการคิดของลูกได้ดี

2. การเลี้ยงลูกแบบผูกพันธ์ด้วยสายใยทางใจ  (Attachment Parenting) 

แนวคิดนี้พัฒนาโดยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ดร.เซียร์ เป็นลักษณะของการเลี้ยงดูลูกแบบเชิงบวก การเลี้ยงดูแบบนี้ช่วยเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ จิตใจ และอารมณ์ของพ่อแม่และลูก (ทารก) ่พอแม่สไตล์นี้จะค่อนข้างเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตของลูก มุ่งตอบสนองและให้ความสำคัญต่ออารมณ์และความต้องการของลูก ให้ความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจแก่ลูก มุ่งฝึกฝนลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกด้วยการสร้างวินัยและการทำโทษเชิงบวก ว่ากันว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้จะมีความมั่นใจในตัวเอง มั่นคงทางอารมณ์ และมีความรู้สึกผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นพิเศษ

 

สไตล์การเลี้ยงลูก
สไตล์การเลี้ยงลูก

 

3. การเลี้ยงลูกแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Parenting) 

การเลี้ยงดูแบบไม่มีเงื่อนไข คือ แนวทางที่พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกอย่างไม่มีข้อแม้ สนับสนุนและยอมรับเด็กโดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมและการกระทำของเด็ก มุ่งปฏิบัติต่อเด็กด้วยความนับถืออย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าพวกเขาจะประพฤติตนอย่างไร พูดอะไร หรือทำอะไร  เพื่อให้เด็กได้รับการสนับสนุนให้ค้นหาตัวเอง แทนที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นที่รักชื่นชมและยอมรับ ด้วยวิธีนี้เด็กๆ จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เด็กจะมีแนวโน้มที่จะแสดง ‘พฤติกรรมที่ดี’ เพราะได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมที่ดีนำไปสู่การเอาใจใส่ของผู้ปกครอง

20 วิธี ทำให้ลูกรู้สึกมีค่า สัมผัสได้ถึงความรักจากพ่อแม่

เคล็ด(ไม่)ลับ เลี้ยงลูกด้วยสติ ช่วยยุติได้ทุกปัญหา!

9 ข้อผิดพลาดในการเลี้ยงลูก ที่อาจทำลายอนาคตของลูกได้

4. การเลี้ยงลูกแบบให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ (Spiritual Parenting)

เป็นสไตล์การเลี้ยงดูที่เคารพในความเป็นตัวของตัวเองของเด็กแต่ละคน และสร้างพื้นที่ให้เด็กได้พัฒนาความเชื่อของตนเอง โดยพิจารณาจากบุคลิกเฉพาะตัวและศักยภาพของเด็ก ซึ่งอาจแยกย่อยเป็นข้อต่างๆ ได้ดังนี้

  • เชื่อใจลูกเสมอ
  • สอนลูกว่าชีวิตมีเป้าหมาย
  • ฟังลูกเสมอก่อนดำเนินการใดๆ
  • ใช้คำพูดกับลูกอย่างชาญฉลาด
  • ส่งเสริมความฝันของลูก
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่น
  • เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
  • ไม่กดดันลูก
  • ให้ทุกวันเป็นการเริ่มต้นใหม่

5. การเลี้ยงลูกแบบให้อิสระและพร้อมปกป้อง (Nurturant Parenting)

แนวทางนี้ส่วนใหญ่เป็นสไตล์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ตะวันตกสมัยใหม่ การเลี้ยงลูกแบบนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นหาความสนใจของตัวเอง แต่ยังช่วยให้เด็กๆ พึงพอใจภาคภูมิใจกับความสำเร็จของตนเองด้วย พ่อแม่จะให้การส่งเสริมในเรื่องของคุณภาพ มากกว่าปริมาณ และให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งภายในครอบครัว มุ่งที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก และให้เคารพต่อความฉลาดทางธรรมชาติของเด็กตามสมควร พ่อแม่สไตล์นี้มองว่าเด็กควรได้รับอนุญาตให้สำรวจสภาพแวดล้อมด้วยตัวเองผู้ปกครองมีหน้าที่ปกป้องบุตรหลานจากจากอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมให้คำแนะนำแก่ลูกเมื่อลูกต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ

6. การเลี้ยงลูกแบบให้อิสระอย่างมีขอบเขต (Authoritative Parenting)

การเลี้ยงดูแบบที่​พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็ก อนุญาตให้เด็กมีอิสระตามควรแก่วุฒิภาวะ แต่ในขณะเดียวกันก็จะกำหนดขอบเขตพฤติกรรมของเด็ก และกำหนดให้เด็กเชื่อฟังvและปฏิบัติตามแนวทางที่พ่อแม่กำหนดด้วยเหตุและผล  ด้วยรูปแบบการเลี้ยงแบบนี้ ผู้ปกครองต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับความคาดหวังของตัวเอง เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่าอะไรคือเป้าหมายของชีวิต ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการคิดอย่างอิสระสำหรับเด็กยังเป็นการสร้างขอบเขตที่เหมาะสมให้เด็กรู้สึกปลอดภัย แต่ไม่ปกป้องลูกมากเกินไป จนไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่จะผิดพลาดในชีวิตได้ ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจในตัวเอง มีทักษะในการเข้าสังคมที่ดี ซึ่งพัฒนาไปสู่การใช้ชีวิตที่ดีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

7. การเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ (Authoritarian Parenting)

การเลี้ยงดูแบบเผด็จการ พ่อแม่สไตล์นี้มักเรียกร้องและควบคุมในทุกด้านของชีวิตลูก พ่อแม่แบ่งปันความรู้สึกอบอุ่นทางจิตใจน้อย และจู้จี้จุกจิกมากกว่าแสดงความรักต่อลูก ในการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ พ่อแม่ไม่ไว้วางใจให้ลูกเลือกทางเลือกที่ดี พวกเขาอาจลงโทษลูกด้วยพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งรวมถึงการลงโทษทางร่างกายด้วย เด็กถูกพ่อแม่ผูกมัดให้ปฏิบัติตาม ‘กฎ’ ที่พ่อแม่ตั้งไว้ การเลี้ยงลูกแบบนี้จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงท่าทีหวาดกลัวหรือเขินอายกับคนอื่นมากเกินไป ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมักมีความนับถือตนเองต่ำกว่าเด็กทั่วไป เด็กอาจมีความสามารถน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน และพบว่าเป็นการยากที่จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ ก้าวร้าว ควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว ยังหล่อหลอมให้เด็กใช้ความเกรี้ยวกราด ความโกรธในการต่อสู้จัดการกับผู้อื่นด้วย

8. การเลี้ยงลูกแบบตามใจ (Permissive Parenting)

การเลี้ยงดูที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค่อนข้างสูง พ่อแม่มักให้ความรักและห่วงใยที่ดี แต่ลักษณะดูเหมือนเป็นเพื่อนมากกว่าผู้ปกครอง  เน้นเสรีภาพของลูกมากกว่าความรับผิดชอบ ความคิดเห็นและความรู้สึกของของเด็กมีความสำคัญต่อผู้ปกครอง พ่อแม่สไตล์นี้ มักจะตรงข้ามกับ “พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์” ซึ่งแทนที่จะควบคุมลูกย่างก้าว แต่พ่อแม่มักยอมจำนนกับความต้องการของลูกจนถึงขั้นหละหลวม และแทบจะไม่สร้างหรือบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางวินัยใดๆ เลย และมักคิดแค่เพียงว่าว่า “เด็กก็คือเด็ก” แม้ว่าพ่อแม่สไตล์นี้จะมอบความรักที่อบอุ่นให้กับลูก แต่อาจจะบกพร่องในการควบคุมหรือสั่งสอนลูกๆ ผลกระทบของการเลี้ยงดูลักษณะนี้ คือ เด็กมีแนวโน้มที่จะขาดวินัยในตนเองและมีทักษะทางสังคมที่ไม่ดี

 

สไตล์การเลี้ยงลูก

 

9. การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย (Neglectful Parenting)

การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย ถือเป็นการไม่เรียกร้องหรือตอบสนองต่อลูกเท่าที่ควร ลักษณะการเลี้ยงดูเช่นนี้ พ่อแม่จะค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากอารมณ์ความรู้สึกของลูก ไม่ค่อยแสดงความรักและความเสน่หาต่อลูก มักจะเฉยเมย เมินเฉย หรือแม้แต่ละเลยโดยสิ้นเชิงต่อความรู้สึกและความต้องการของลูก ซึ่งมักส่งผลกระทบด้านลบต่อเด็กในระยะยาว เด็กๆ จะกลัวการพึ่งพาผู้อื่นเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากครอบครัว และร้ายแรงที่สุดเด็กอาจมีแนวโน้มที่จะทำความผิดทางอาญา และเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดได้

10. การเลี้ยงลูกแบบบงการไปซะทุกอย่าง (Helicopter Parenting)

หรือ พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์  คือ การเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับลูกมากเกินไป พ่อแม่มักชอบยื่นมือช่วยลูกในการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยพื้นฐานแล้วพ่อแม่สไตล์นี้มักพยายามควบคุมชีวิต และปกป้องลูกมากเกินไป และคิดว่าลูกต้องสมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้าน เชื่อกันว่าการเลี้ยงลูกแบบบงการ จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ เนื่องจากขาดทักษะทางสังคม และประสบการณ์ในการแก้ปัญหา

11. การเลี้ยงลูกแบบหลงตัวเอง (Narcissistic parents)

ลักษณะทั่วไปของ narcissistic parents คือการขาดการเอาใจลูกมาใส่ใจของตัวเอง บังคับให้ลูกเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการโดยแสดงท่าทีเป็นเจ้าของชีวิตลูก  รูปแบบการเลี้ยงดูนี้ค่อนข้างคล้ายกับการเลี้ยงลูกดูแบบบงการ (Helicopter Parenting) แปลกแต่จริงที่พ่อแม่สไตล์นี้ มักจะรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองเวลาที่เห็นลูกได้ดีหรือเก่งกว่าตัวเอง และคิดว่าลูกต้องสนองความต้องการของพ่อแม่และเกิดมามีหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ในอนาคต ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองดังกล่าวอาจส่งผลเสียไปตลอดชีวิตของเด็ก ด้วยเหตุนี้เด็กจึงเติบโตขึ้นมาค่อนข้างดื้อรั้น ปฏิเสธสังคม ทำตัวขวานผ่าซาก และขาดการติดต่อจากโลก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไม่เคยพัฒนาความคิดเห็นของตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลเสียต่อวัยผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

สไตล์การเลี้ยงลูก

 

12. การเลี้ยงลูกแบบเป็นพิษ (Toxic Parenting)

การเลี้ยงลูกแบบเป็นพิษ เป็นรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบหนึ่งที่พ่อแม่มักทำร้ายลูกทางวาจา หรือทางร่างกาย  เพิกเฉยต่อความต้องการทางอารมณ์ของลูก ประพฤติตัวอย่างสม่ำเสมอในลักษณะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกผิด ความกลัว หรือภาระผูกพันในลูกของตน หรืออาจ ตะคอก ตะโกนใส่ลูก หรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่มักสร้างความเสียหายต่อความรู้สึกและอารมณ์ของลูก ๆ แม้โดยตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ แต่แรงกระตุ้นของพ่อแม่สไตล์นี้คือจุดมุ่งหมายในการทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พ่อแม่มักกังวลกับความต้องการของตนเองมากกว่าว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปว่าจะเป็นอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อลูกหรือไม่อย่างไร อาจไม่มีการขอโทษหรือแม้แต่ยอมรับว่าสิ่งที่ทำไปนั้นผิด ซึ่งส่งผลต่อชีวิตโดยรวมของเด็ก เด็กอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความนับถือตนเองต่ำ มองโลกในแง่ร้าย ไม่ค่อยไว้วางใจผู้อื่น และขาดทักษะด้านสังคม

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : bedtimeshortstories.com , capitalchoicecounselling.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตลูกให้ดีใน 3 ปีแรก

เคล็ด(ไม่)ลับ เลี้ยงลูกด้วยสติ ช่วยยุติได้ทุกปัญหา!

20 วิธี เลี้ยงลูกให้เรียนเก่ง สำคัญที่พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วม!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up