เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เราต้องพัฒนาตัวเองให้ทันต่อความเปลี่ยนผัน ของเทคโนโลยี ที่มีอะไรใหม่ๆ มาให้เราต้องคอยเรียนรู้อยู่เสมอ ทักษะในศตวรรษที่21 จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเด็กวัยเรียนที่เปรียบเสมือนอนาคตของชาติ ซึ่งปัจจุบันการเรียนการสอนสไตล์ห้องเรียนยุคเก่าอาจไม่ตอบสนองต่อการเสริมสร้างทักษะความรู้ความสามารถเพื่อให้เด็กได้นำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้ ซึ่งนอกจากเป็นหน้าที่สำคัญของครูแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องคอยทำหน้าที่ให้คำแนะนำ หรือแนะแนวทางการพัฒนาทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่21 ให้แก่ลูก ซึ่งยิ่งสร้างให้ลูกได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีค่ะ เพราะเรียกได้ว่ามันคือทักษะต่างๆ ที่เด็กหนึ่งคนควรต้องมี เพื่อใช้ชีวิตให้ ‘อยู่รอด’ เมื่อเกิดและเติบโตมาในโลกยุคนี้
เด็กยุคใหม่ต้องมี! ทักษะในศตวรรษที่21 ที่พ่อแม่ควรสร้างให้ลูกตั้งแต่วันนี้
และเมื่อสังคมโลกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคเก่ามาสู่โลกดิจิทัล เป็นธรรมดาที่ความต้องการของตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไป ทักษะต่างๆที่เป็นการทำซ้ำๆ (routine-work) จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ในเมื่อคอมพิวเตอร์สามารถทำแทนคนได้ ทีนี้เด็กยุคใหม่จะทำอย่างไร? มีการสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแนวโน้มของเทคโนโลยีในองค์กรใหญ่ ๆ ทั่วโลก และสรุปเป็น ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กในยุคนี้ต้องมี โดยประกอบด้วย 3R x 8C ดังนี้
3R คือ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills)
- Reading : อ่านออก อ่านจับใจความได้ มีนิสัยรักการอ่าน
- (W)Riting : เขียนได้ สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ ย่อความเป็น สรุปใจความสำคัญได้ รู้วิธีการเขียนหลาย ๆ แบบ
- (A)Rithemetics : คิดเลขเป็น มีทักษะในการคิดแบบนามธรรม
8C คือ ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skills)
- Critical Thinking and Problem Solving : ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
- Creativity and Innovation : ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
- Cross-cultural Understanding : ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์
- Collaboration, Teamwork and Leadership : ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
- Communications, Information, and Media Literacy : ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ
- Computing and ICT Literacy : ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- Career and Learning Skills : ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้
- Compassion : มีความเมตตากรุณา มีคุณธรรม และระเบียบวินัย
สำหรับการเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถสร้างกันได้ง่าย ๆ ด้วยการบอกกล่าว แต่ต้องสร้างด้วยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง มีครูหรือผู้ปกครองทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำหรือแนะแนวทาง และควรสร้างแต่เนิ่น ๆ
พ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยเหลือและพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร
ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของเด็กมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ผู้ปกครองและครูที่จะช่วยส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้เด็กได้ดีที่สุด ซึ่งในกรณีของพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนช่วยเพิ่มทักษะและการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับเด็กได้ ดังนี้
1. ปล่อยให้ลูกเล่น
การปล่อยให้ลูกเล่น จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การวาดภาพ การเล่นทราย จะทำให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดต่างๆ ตลอดจน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผิวสัมผัส ได้แยกแยะเนื้อทรายที่หยาบหรือละเอียด และที่สำคัญยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเล่น นอกจากนี้การให้ลูกได้มีกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ขี่จักรยาน วิ่งเล่นในสนามหญ้า ทำให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งการคิดตัดสินใจ การมองเห็น การทรงตัว และยังได้พัฒนาสมองทั้งสองซีกไปพร้อมกันอีกด้วย
2. สื่อสารกับลูก
ควรปลูกฝังการเป็นผู้ฟังที่ดีให้ลูก สอนให้ลูกมีสมาธิมีสติตั้งใจฟังสิ่งที่ได้ยิน เมื่อลูกเป็นผู้ฟังที่ดีได้แล้ว ควรสอนให้ลูกพูดได้พูดเป็น เช่น การสื่อความรู้สึกของตัวเองผ่านการพูด นอกจากนี้การสื่อสารกับลูก ยังเป็นการปลูกฝังเรื่องมารยาทและจริยธรรมเบื้องต้น เช่น การให้เกียรติผู้อื่นทั้งในการเป็นผู้พูดและผู้ฟังอีกด้วย
3. ช่วยจัดระบบชีวิตลูก
สำหรับเด็กวัยเรียนวัยเล่นนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝัง คือ การหัดให้ลูกได้ใช้ชีวิตอย่างมีระบบระเบียบ เพื่อเสริมทักษะในการจัดการชีวิตของตัวเองได้อย่างเป็นขั้นตอน ฝึกให้ลูกรู้จักการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ที่มีทั้งกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ปฏิบัติตามได้ การปลูกฝังง่ายๆ ที่พ่อแม่ทำได้ เช่น การกำหนดให้ลูกตื่นนอนและเข้านอนเป็นเวลาในวันที่จะต้องไปโรงเรียน เป็นต้น
4. ช่วยลูกควบคุมการใช้สื่อและเทคโนโลยี
พ่อแม่ควรให้ลูกมีส่วนในการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น ให้ลูกเลือกเกมหรือแอปพลิเคชัน ที่เหมาะสมกับการพัฒนาสมองและทักษะของลูก ให้ลูกได้มีส่วนตัดสินใจในการจำกัดเวลาการใช้สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพ ทั้งนี้พ่อแม่เองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการใช้เทคโนโลยีให้กับลูกด้วย
5. สอนวัฒนธรรมและจิตสำนึกให้กับลูก
เมื่อลูกทำผิดในเรื่องใดก็ตาม พ่อแม่ควรว่ากล่าวตักเตือนพร้อมบอกเหตุผลประกอบ เพื่อให้ลูกได้เข้าใจและไม่ทำผิดซ้ำอีก ควรปลูกฝังมารยาทและจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันในสังคมให้ลูก เช่น การเข้าแถวต่อคิว การไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น การขอโทษ ขอบคุณ เพื่อให้ลูกมีพื้นฐานของจิตสำนึกที่ดีติดตัวไปเมื่อเติบโตขึ้น
6. ให้ลูกใช้ชีวิต
บางครั้งการได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องควรฝึกให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้ลองคิดตัดสินใจอะไรเองบ้าง สิ่งนี้จะทำให้ลูกได้ฝึกทักษะในการคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจ โดยอาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน เช่น การเล่นกีฬาแล้วรู้จักการแพ้ชนะ การเก็บของเล่น การอดทนรอคอยสิ่งที่ต้องการ ให้ลูกลองคิดหาวิธีฟันฝ่าอุปสรรคด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ต้องใจเย็นๆ อย่ารีบทำอะไรให้ลูกไปซะทุกอย่าง เพราะอาจเป็นการจำกัดการเรียนรู้ของลูก และส่งผลให้ลูกทำอะไรไม่เป็น เพราะการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาได้ใช้ความคิดในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
ซึ่งการส่งเสริมทักษะสำคัญในศตวรรษที่21 ให้ลูกทั้ง 6 ข้อข้างต้น ถือเป็นการเสริมสร้างความฉลาด Power BQ ในด้านต่างๆ ให้กับลูกอีกด้วย ทั้งด้าน ฉลาดเล่น (PQ) ฉลาดคุณธรรม (MQ) ฉลาดคิดเป็น (TQ) และเมื่อลูกมีทักษะต่างๆ ที่เกิดจากการส่งเสริมและสั่งสอนแล้ว การใช้ชีวิตในศตวรรษที่21 ของลูกจะเต็มไปด้วยความสุขและความสำเร็จที่อยู่ไม่ไกลได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.gsbgen.com,www.medium.com,www.tutor-hit.blogspot.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกเก็บของเล่นพัฒนาทักษะ EF ทักษะทางสมองที่จำเป็นสำหรับลูก
การเรียนลูก เป็นเพียงเรื่องของครู จบที่โรงเรียนจริงหรือ?
7 เคล็ดลับป้องกันเด็กเสพติดเทคโนโลยีมากไป สาเหตุสมาธิสั้นเทียม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่