5 วิธีแยกกักตัว เมื่อต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 - Amarin Baby & Kids
5 วิธีแยกกักตัว

5 วิธีแยกกักตัว เมื่อต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19

Alternative Textaccount_circle
event
5 วิธีแยกกักตัว
5 วิธีแยกกักตัว

 5 วิธีแยกกักตัว เมื่อต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19

ปัจจุบัน โควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล วันนี้คุณหมอได้มาแนะนำ 5 วิธีแยกกักตัว เมื่อต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาฝากค่ะ

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการสีเขียว

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการสีเขียว มีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้

1. เป็นผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

2. มีอายุไม่เกิน 60  ปี

3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

4. อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

5. ไม่มีภาวะอ้วน

6. ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรั้ง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น

7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

ในการดำเนินงานของส่วนการรักษาจะมีการติดตามและประเมินอาการทุกวัน โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิ และระดับออกซิเจนในเลือด แจ้งให้สถานพยาบาลทราบทุกวัน ส่วนคนที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ ยังไม่มีหน่วยงานใดรับ และคิดว่าตนเองเข้าข่ายเกณฑ์นี้ สามารถติดต่อได้ที่ 1330

ทั้งนี้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ทำ Home Isolation อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน

จะได้รับการดูแลอย่างไรเมื่อกักตัวที่บ้าน

สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ ทำ Home Isolation ได้แก่ อุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่

โดยค่าปกติของผู้ป่วยโควิดจะอยู่ที่ประมาณ 96-100% ถ้าตัวเลขอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น มีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอดได้ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง , การประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ , การให้ยากับผู้ป่วยในแต่ละวัน (ประเมินตามอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์) , อาหารสามมื้อ และการติดตามประเมินอาการ รวมทั้งการให้คำปรึกษา

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 2–3 ครั้งต่อวัน หากมีอาการแย่ลง คือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รับการรักษาอยู่

คำแนะนำหากต้องไปโรงพยาบาล

หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ควรใช้รถโดยสารสาธารณะ และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากใช้รถยนต์ส่วนตัวขอให้ยึดแนวทางป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จัดให้ผู้ป่วยนั่งในแถวหลัง เปิดกระจกในรถเพื่อควบคุมทิศทางลมให้ไหลออกไปนอกรถ เป็นการลดความเสี่ยงในการหมุนวนของอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

5 วิธีแยกกักตัว
ตรวจ ATK 2 ขีด อาการไม่รุนแรง ควรแยกกักตัวที่บ้าน

5 วิธีแยกกักตัว เมื่ออยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19

นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัติ กรณีที่ไม่มีห้องแยกกักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว ควรปฏิบัติดังนี้

1. ขอให้ทุกคนที่อยู่ในห้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยึดแนวทางการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2. แบ่งเขตพื้นที่ส่วนผู้ที่เป็นและส่วนผู้ที่ไม่เป็นแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

3. จัดหาพัดลมวางไว้ในห้องและเปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางลมให้ไปออกที่หน้าต่างฝั่งที่ใกล้กับส่วนผู้ที่เป็น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของส่วนผู้ที่ไม่เป็นปลอดภัยเนื่องจากอยู่เหนือลม โดยมีพื้นที่กำหนดพิเศษที่จะให้ผู้ที่เป็นสามารถผ่านเข้ามาได้เฉพาะกรณีวางของหรือออกจากห้องเท่านั้น

4. กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดการกับสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้แล้ว โดยขอให้ผู้ป่วยนำของใส่ในถุง พ่นด้วยแอลกอฮอล์ข้างในก่อนปิดปากถุง เมื่อวางแล้วให้พ่นแอลกอฮอล์ซ้ำที่ตรงปากถุงด้านนอก ส่วนผู้ที่จะนำไปจัดการต่อจะต้องใส่ถุงมือ โดยพ่นแอลกอฮอล์ที่ด้านนอกถุงอีกครั้ง เมื่อนำถุงออกมาจากพื้นที่แล้ว ให้เปิดปากถุงแล้วแช่ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดตามปกติ

5. เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ขอให้มีการปฏิบัติตัวป้องกันตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยยึดหลัก “ไม่แพร่เชื้อ-ไม่ติดเชื้อ” ทั้งนี้ หากผู้พักอาศัยหรือผู้ดูแลมีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อทันที

ไอเท็มสำคัญเมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน

เมื่อพบว่าตัวเองสามารถรักษาแบบ Home Isolation ได้ นอกจากเตรียมเสื้อผ้าข้าวของที่จำเป็นแล้ว อย่าลืมไอเท็มสำคัญเหล่านี้ด้วย

1. เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์

สิ่งจำเป็นเมื่ออยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ควรพกติดตัวเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มือและสิ่งของต่างๆ ควรเลือกแอลกอฮอล์ในระดับที่ไม่เกิน 70%

2. หน้ากากอนามัย

เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องพบปะพูดคุยกับผู้อื่น

3. สบู่เหลวล้างมือ

เมื่อต้องล้างมือบ่อยๆ สบู่เหลวจะทำให้มือไม่แห้งเท่ากับสบู่ก้อน และไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว

4. ทิชชูเปียกฆ่าเชื้อโรค

เมื่อต้องเข้าห้องน้ำหรืออยู่ในที่สกปรก การมีทิชชูเปียกในการใช้ช่วยทำความสะอาดจะทำให้เราไม่ต้องไปติดเชื้อโรคอื่นๆ มาเพิ่มเติมในร่างกายเราได้

5. บรรจุภัณฑ์อาหาร ช้อนส้อม แก้ว หลอด

ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ต้องใช้แยกกัน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งของผู้อื่นอาจปนเปื้อนบนอาหารหรือบริเวณโดยรอบ เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรใช้ภาชนะและสิ่งของต่างๆ แยกกับผู้อื่น

6. ที่วัดอุณหภูมิ

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรมีติดไว้ที่บ้าน เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายของตัวเอง โดยแนะนำแบบเทอร์โมมิเตอร์แบบที่ไม่ต้องสัมผัสผิวหนัง หรือแบบยิงที่ตามสถานที่ให้บริการข้างนอกนิยมใช้

7. ถุงมือยาง

หากต้องจับสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะในบ้านหรือข้างนอก เพื่อลดการเอาตัวเองไปเสี่ยง การใช้ถุงมือในการจับของถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดวิธีหนึ่งเช่นกัน

8. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

การวัดค่าออกซิเจนในเลือด จะช่วยให้รู้ว่าเรามีระดับออกซิเจนเพียงพอไหม หากพบว่าตนเองมีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันระบบหายใจล้มเหลว และต้องใส่ท่อช่วยหายใจและป้องกันร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ขอบคุณข้อมูลจาก

fascino, springnews

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

หมอเด็กแนะ!!พ่อแม่ต้อง กักตัว 14 วัน จะบอกลูกยังไงดี?

แนะวิธี “พ่อแม่ไปพื้นที่เสี่ยงโควิด” กักตัว 14 วัน ที่บ้านอย่างไร? ให้ลูกปลอดภัย ปลอดเชื้อ!

สปสช. สายด่วน1330 เพิ่มคู่สายรับผู้ป่วยหลัง สงกรานต์ 65

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up