7 เทคนิคช่วยลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก
อาการขี้อายในเด็ก (Shyness Problem in Children) สำหรับเด็กบางคนเมื่ออายุได้ 4-5 ปี อาการขี้อายจะเด่นชัดมาก ซึ่งพ่อแม่คือผู้ช่วยคนสำคัญที่จะดูแลปรับแก้ไขพฤติกรรมขี้อายของเด็กให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่เล็กๆ จนกล้าแสดงออกได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกันให้ไม่เคอะเขิน สามารถทำได้ตามเทคนิควิธีต่างๆ ดังนี้
1. การเข้าใจลูกอย่างถ่องแท้
พ่อแม่หลายคนที่มีลูกขี้อายแล้วรู้สึกว่าขัดใจเหลือเกิน อยากให้ลูกกล้าทำ กล้าคิด กล้าแสดงออกเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ บ้าง แต่ลูกก็ไม่ยอมทำเอาเสียเลย เห็นแล้วขัดหูขัดตา ขัดใจซะเหลือเกิน จนบางทีก็เผลอดุ ว่าลูกออกไปทั้งท่าทาง น้ำเสียง ของพ่อแม่ยิ่งทำให้ลูกตกใจ เกิดความเครียด วิตกกังวลมากเข้าไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อตัวลูกเลย เพราะการที่พ่อแม่ดุว่าลูก แสดงความไม่พอใจใส่ลูกที่เอาแต่เขินอายนั้น ก็ยิ่งกลับจะทำให้ลูกไม่กล้าแสดงออกมามากยิ่งขึ้น ไม่เป็นตัวของ ตัวเองเวลาที่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่ หรือต่อหน้าคนอื่น
วิธีแก้ไขที่เหมาะสมคือ ต้องเริ่มที่ตัวของพ่อแม่ก่อน ที่ควรจะยอมรับในตัวลูกที่มีความเขินอาย แล้วหันกลับมาช่วยดึงลูกให้ขึ้นมาจากอาการขี้อายกันตั้งแต่ตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก ด้วยการที่ทุกครั้งหากลูกพยายามที่จะแสดงออกไม่ว่าจะด้วยเรื่องใดก็ตาม ลูกมีท่าทีเคอะๆ เขินๆ ก็ขอให้พ่อแม่เข้าใจลูก แล้วเปลี่ยนจากการดุการว่า มาเป็นการให้กำลังใจ ให้คำชื่นชม “หนูทำดีที่สุดแล้วลูก” การให้กำลังใจลูกบ่อยๆ จะช่วยสร้างแรงพลักดันให้ลูกกล้าที่จะทำในทุกเรื่องเหมือนกับที่เพื่อนๆ วัยเดียวกันทำได้ดี เขาก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกันค่ะ
2. พาลูกออกไปพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตาบ้าง
การที่เด็กคุ้นเคยอยู่แต่กับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ยายตา น้าอา ลุงป้า ลูกพี่ลูกน้อง รวมถึงพี่เลี้ยงที่บ้านนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะเด็กจะได้ระวังตัวไม่ไปกับคนแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วยใกล้ๆ
แต่การพาลูกออกไปพบกับผู้คนใหม่ๆ นอกเหนือจากคนที่รู้จักในครอบครัวบ้าง ก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่มาก เพราะถือเป็นการพาลูกไปเปิดสังคม เปิดโลกทัศน์ ให้ลูกได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนอื่นบ้าง แต่ต้องเป็นคนที่พ่อแม่เลือกแล้วว่าดี และปลอดภัยกับตัวลูก เพื่อที่เขาจะได้ไม่กลัว ไม่เขินอาย เวลาที่เพื่อนพ่อแม่มาที่บ้าน ไม่ต้องเขินอายคุณครู เพื่อนใหม่ตอนที่เริ่มไปโรงเรียนในวันแรกๆ การแนะนำให้ลูกได้รู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย หรือเด็กวัยเดียวกับเขา จะช่วยให้ลูกคุ้นเคย และสามารถแยกแยะได้ว่าคนแบบไหนที่เขาสามารถวางใจที่จะแสดงออกทั้งการกระทำ และความคิดให้เห็นได้แบบสนิทใจ ไม่เกิดอาการเขินอายขึ้นมา
3. สอนลูกแนะนำตัวเวลาต้องเจอคนแปลกหน้า
คนแปลกหน้าในที่นี้หมายถึง ญาติพี่น้องที่ไม่เคยเจอกันเลย หรือจะเป็นเพื่อนพ่อ เพื่อนแม่ เป็นต้น เพราะเด็กที่มีนิสัยขี้อาย เวลาที่ต้องเจอกับคนหน้าแปลกใหม่ที่เข้ามาที่บ้าน หรือเจอกับพ่อแม่โดยบังเอิญนอกบ้าน เด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าต้องทำตัว หรือคุย ยังไงด้วยดี ทำได้แต่หลบอยู่หลังพ่อกับแม่
Must Read >> สอนเด็กขี้อายให้พูดคล่อง
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องสอนให้ลูกได้รู้จักการพูดแนะนำตัวเองได้ เช่น สวัสดีค่ะ/ครับ หนูชื่อ….เรียนอยู่ที่…. แล้วคุณน้าชื่ออะไรคะ/ครับ เป็นต้น การสอนให้ลูกได้พูดคุยสั้นๆ กับคนแปลกหน้าที่เขาเจอพร้อมๆ กับพ่อแม่ จะช่วยลดความขี้อายในตัวเด็กลงไปได้ ถึงแม้อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง กว่าที่ลูกจะคุ้นเคยและพูดด้วยอย่างไม่เขินอาย
4. หาเวทีให้ลูก
พ่อแม่หลายครอบครัวที่เมื่อรู้ว่าลูกเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก บางครั้งอาจไม่ค่อยกล้าที่จะพาลูกออกไปทำกิจกรรมสนุกแบบเด็กๆ มากสักเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าการให้ลูกหมกมุ่นอยู่แต่ในบ้านยิ่งจะเป็นการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บตัวมากขึ้นเข้าไปอีก
ทางแก้ไขที่ดีสำหรับตัวเด็กเอง คือ พ่อแม่ควรหาเวทีให้ลูกได้กล้าแสดงออก ง่ายๆ คือให้ลองสังเกตพฤติกรรมความสนใจของลูกดูว่า เขาเป็นคนที่ชอบทำอะไร หรือสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น ถ้าลูกชอบวิทยาศาสตร์ พ่อแม่ลองหาค่าย หรือแคมป์สำหรับกลุ่มเด็กที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ลูกได้ลองไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมร่วมด้วย หรือถ้าลูกชอบวาดภาพ งานศิลปะ ให้พาลูกไปเรียนเป็นคอร์สสั้นๆ ที่มีเพื่อนวัยเดียวกัน มีคุณครูที่สอนสนุกๆ เป็นต้น การปล่อยให้ลูกได้ลองเปิดตัวเองกับเรื่องที่ชอบ หรือถนัด แบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ และจากเด็กขี้อาย ก็จะกลายเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก และพูดคุยกับคนอื่นรอบข้างเก่งมากขึ้นด้วยค่ะ
อ่านต่อ >> วิธีแก้ไขพฤติกรรมลูกขี้อาย ให้กล้าแสดงออก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่