เข้าถึงใจลูกด้วยการ รับฟังลูก อย่างใส่ใจ ทักษะที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องไม่มองข้าม

เข้าถึงใจลูกด้วยการ รับฟังลูก อย่างใส่ใจ ทักษะที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องไม่มองข้าม

Alternative Textaccount_circle
event

เมื่อเรามีสถานะเป็นพ่อแม่ แน่นอนว่าสิ่งที่ลูกต้องการจากเรา คือ การเป็นผู้ รับฟังลูก เป็นที่พึ่งพิงและคอยแก้ปัญหาในสถานการณ์ยากลำบากที่ลูกต้องเผชิญ แต่ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะ ว่าลูกอาจไม่ได้ต้องการคำแนะนำ หรือวิธีแก้ไขปัญหาจากเราเสมอไป ลูกอาจต้องการเพียงคนที่เข้าใจ และรับฟังในสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่ก็ได้ โดยเฉพาะสำหรับลูกวัยกำลังเรียนรู้ เมื่อเขาเกิดความรู้สึกทางลบ ลูกอาจมีความสับสนในการบอกเล่าความรู้สึก ด้วยเพราะเป็นวัยที่ยังสื่อความรู้สึกได้ไม่เก่ง แต่เมื่อมีพ่อแม่ที่คอยรับฟังอย่างตั้งใจและช่วยจัดระเบียบความคิด จะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น ดังนั้น การรับฟังลูก เพื่อให้เข้าใจในมุมมอง ความรู้สึกนึกคิดของลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ นำมาสู่การกล้าที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ ซึ่งทักษะการฟังรูปแบบนี้เรียกว่า การฟังเชิงรุก หรือ “Active Listening” นั่นเองค่ะ

 

เข้าถึงใจลูกด้วยการ รับฟังลูก อย่างใส่ใจ ทักษะที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องไม่มองข้าม

การฟังเชิงรุก เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ และการสื่อสารของคุณกับลูกให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณสนใจ และพร้อมเป็นผู้รับฟังที่ดี ทำให้ลูกกล้าเปิดใจถึงปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่

 

รับฟังลูก
รับฟังลูก

เคล็ดลับในการ รับฟังลูก ด้วยทักษะ Active Listening

1. เคลียร์ความรู้สึกตัวเองก่อน 

ควรวางอคติ และความคิดเห็นต่าง ๆ ของตัวเองไว้ก่อน รับฟังสิ่งที่ลูกพูด โดยไม่เอาอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรอยู่กับปัจจุบันและรับฟังลูกจนจบ

2. แสดงออกถึงความตั้งใจในการฟัง

พ่อแม่สามารถแสดงออกถึงความตั้งใจในการฟัง ด้วยการใช้ภาษากายอย่างมีคุณภาพ เช่น สบตาลูก เพียง 60-70 เปอร์เซ็น ระหว่างการพูดคุย  (การสบตามากเกินไป อาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอึดอัดใจได้) หรือใช้การโน้มตัวเข้าหาลูกสักเล็กน้อย ตลอดจนพยักหน้าระหว่างการฟัง โดยใช้คำว่า อืม อ๋อ หรือคำอื่น ๆ เพื่อแสดงการตอบรับ จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าคุณกำลังให้ความสนใจในสิ่งที่เขาพูดจริงๆ

3. สะท้อนความรู้สึก 

ด้วยการใช้คำว่า “ดูเหมือนว่า”  หรือคำพูดอื่น ๆ ที่เป็นการเปิดช่องว่างให้เขาสามารถอธิบายต่อไปได้ แทนการพูดเหมือนตัดสินหรือลงความเห็นว่าลูกต้องรู้สึกแบบนี้อยู่แน่ๆ เช่น เมื่อลูกบอกว่า “ใกล้สอบแล้ว เทอมนี้เนื้อหาเยอะมาก หนูอ่านหนังสือไม่ทันแน่ กลัวทำข้อสอบไม่ได้จัง” หากฟังให้ดี ประโยคนี้ของลูก ไม่ใช่การขอความช่วยเหลือหรือขอทางแก้ปัญหา แต่เป็นการพูดบอกความรู้สึกให้เรารับรู้เฉยๆ ซึ่ง ถ้าเราตอบไปว่า “ไม่ต้องคิดมาก ลูกก็แบ่งเวลาอ่านหนังสือให้มันดีๆ หน่อยสิ” ด้วยคำตอบนี้ ลูกอาจเกิดความรู้สึกไม่รู้จะพูดอะไรต่อ ราวกับโดนตอกย้ำซ้ำเติม ว่าเขาจัดการเวลาของตัวเองได้ไม่ดี  ซึ่งเราอาจเปลี่ยนเป็นการสะท้อนความรู้สึก โดยใช้ประโยคที่เหมาะสม เช่น “ดูเหมือนว่าลูกรู้สึกกังวลกับการอ่านหนังสือสอบรอบนี้มากเลยนะ” ลูกก็อาจตอบว่า “ใช่ค่ะ หนูรู้สึก..”แล้วลูกอาจเริ่มบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มเติม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่อลูกได้เล่าออกมาจนหมด ก็อาจจะช่วยคลายความกังวลใจของเขาลงไป หรืออาจเจอวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้

4. พูดทวนซ้ำถึงสิ่งที่ลูกพูด

สรุปหรือทวนเนื้อหาที่ได้ฟังจากลูก โดยการพูดด้วยภาษาของเราเอง เพื่อเป็นการรีเช็คว่าเราเข้าใจ ‘สิ่งที่เกิดขึ้น’ แต่ไม่ควรพูดซ้ำในสิ่งที่ลูกพูด เช่น “อยู่ดี ๆ พี่ก็มาแย่งของเล่นหนูไป หนูไม่ชอบเลย” ซึ่งเราอาจจะอยากตอบไปว่า “เอาน่าลูก แบ่งให้พี่เค้าเล่นบ้างสิ จะหวงทำไมละลูก” ซึ่งจริง ๆ แล้วลูกอาจจะไม่ได้อยากเล่นของเล่นก็ได้ เพียงแค่รู้สึกไม่ดีที่ถูกพี่แย่งของเล่นมากกว่า ซึ่งสถานการณ์นี้พ่อแม่ก็อาจจะใช้การทวนสิ่งที่เด็ก ๆ พูดว่า “อืมม…หนูรู้สึกไม่โอเค ที่พี่หยิบของเล่นไปโดยไม่ขอหนูก่อนเลยใช่ไหมลูก” จากนั้น ค่อยอธิบายถึงเรื่องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทีหลัง ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ใส่ใจในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ ทำให้ลูกเปิดใจฟังในสิ่งที่เราจะพูดต่อไปได้นั่นเอง

รับฟังลูก

5. ห้ามพูดแทรก หรือคิดถึงเรื่องอื่นระหว่างฟังลูก

เป็นธรรมดาของผู้ใหญ่ที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” บางครั้ง ฟังความยังไม่ทันจบ แต่กลับเชื่อมโยงถึงประสบการณ์ที่เคยเจอมาก่อน จนเผลอคิดเองเออเอง ว่าสิ่งที่ลูกเจอคงเหมือนกับสิ่งที่เราเคยเจอนั่นแหละ จนหลุดพูดตัดบทขึ้นมา แต่กลับลืมนึกว่า บริบทต่างๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ลูกเผชิญอาจไม่เหมือนกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น เราควรพยายามฟังลูกให้จบเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าลูก กำลังคิด หรือ รู้สึกอะไรอยู่ ส่วนเราจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็สามารถคุยกันทีหลังได้

6. ถามลูกเพื่อความเข้าใจ 

เมื่อลูกพูดอธิบายมาได้ประมาณหนึ่งแล้ว หากคุณยังไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะลองขอให้ลูกช่วยอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจว่าคุณกับลูกเข้าใจตรงกัน

7.สรุปเรื่องราวทั้งหมด 

เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเรารับฟังอย่างตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ แต่การสรุปเรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่การหาทางออก หรือแนะแนวทาง แต่ควรเป็นการสรุปความคิดเห็นและความรู้สึกในภาพรวมของลูกที่เรารับรู้จากสิ่งที่ลูกเล่ามาทั้งหมด เพื่อให้ลูกมองเห็นปัญหาชัดขึ้นและนำมาซึ่งความเข้าใจในตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

หวังว่าเทคนิคที่เรานำมาแนะนำในวันนี้ จะช่วยพัฒนาการสื่อสารของคุณกับลูกให้ดียิ่งขึ้นได้นะคะ ซึ่งทั้งนี้การรับฟังลูกด้วยการใช้ทักษะ Active Listening ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกได้เข้าใจถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอย่างถ่องแท้ด้วยการได้เปิดใจพูด จนถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่เรามุ่งหวังจากการเป็นผู้รับฟังหรือคอยชี้แนะ คือ ลูกสามารถคิดหาทางแก้ปัญหาและหาทางออกต่อปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เข้าใจในความรู้สึกของตัวเอง และที่สุดแล้วลูกของเราจะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความ ฉลาดในการเผชิญปัญหา (AQ)  ด้วย Power BQ ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยละค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.centerforparentingeducation.org , www.starfishlabz.com , www.verywellmind

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ อิทธิพลด้านร้ายของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อลูก

4 ผลกระทบของการให้เด็ก เรียนออนไลน์ (ใช้สื่อ online)

ลูกชอบโกหก พูดไม่จริง เด็กอายุเท่าไหร่ถึงตั้งใจโกหก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up