ลูกขี้กลัว ผิดปกติหรือไม่? คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกอย่างไรเมื่อลูกต้องเผชิญกับความกลัว พญ. ศรินพร มานิตย์ศิริกุล ทิพย์อุดม เจ้าของเพจ “หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด“ มีคำแนะนำดีๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่นำไปใช้สอนลูก “รับมือกับความกลัวของเด็ก”กันค่ะ
Fear ความกลัว เป็นการตอบสนอง “ปกติ” ของสมองเมื่อรับรู้ถึง “อันตราย” หรือสิ่งที่ “ไม่ปลอดภัย” เพื่อให้เราเลือกว่าจะ “สู้ ” หรือ “หนี ” เพื่อปกป้องตัวเราเองให้ “ปลอดภัย”
ลูกขี้กลัว เพราะอะไร?
หลายๆ ครั้งลูกต้องเผชิญกับความกลัว ในสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน เช่น #กลัวเสียงดัง #กลัวสัตว์ #กลัวความมืดฯ เพราะลูกอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร มีอันตรายหรือไม่ หรืออาจมีประสบการณ์ มีจินตนาการไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น
#นิวโร เดิมทีเป็นเด็กที่กลัวสัตว์มาก ไม่กล้าเข้าใกล้ ร้องไห้ทุกครั้งเวลาเจอ ก่อนโควิดแม่พาลูกไปซาฟารีเวิลด์และสวนสัตว์ที่ต่างๆบ่อยมากกกกกก ขับรถกอล์ฟเที่ยวเขาเขียว จนลูกเริ่มคุ้นเคย ชอบไปสวนสัตว์ เราจึงเริ่มไปให้อาหารสัตว์ ซึ่งตอนสองสามครั้งแรกลูกไม่ยอมให้ ต่อมาพ่อแม่ทำให้ดูจนลูกรู้ว่าปลอดภัย ตอนนี้เลยกลับกลายเป็นเด็กที่ “ชอบ” และ “กล้า” ให้อาหารสัตว์มาก และ #ร้องขอ ไปเองทุกครั้ง แต่ก็มีบางครั้งที่สัตว์ จู่โจม วิ่งนอกรั้ว ที่ลูกยังรู้สึกว่าไม่โอเค ซึ่งแม่ก็คิดว่าต้องให้เวลาค่ะ
การรับมือ กับความกลัวของเด็ก
สิ่งที่แม่พยายามทำคือ
- ให้ความมั่นคงในจิตใจลูก
ไม่ส่งเสียงตกใจ ไม่แกล้งแหย่ลูก ไม่หัวเราะในสิ่งที่ลูกกลัว อยู่ข้างๆ ลูก สัมผัส จับมือ บอกลูกว่าพ่อแม่อยู่ข้างๆลูก อุ้มเมื่อลูกร้องขอ ให้ลูกมีความมั่นคง รู้สึกปลอดภัยว่าพ่อแม่พร้อมช่วยเหลือไม่ทิ้งไปไหนค่ะ - ให้เวลาลูก
พ่อแม่ต้องนิ่ง ให้เวลาลูกสังเกต เรียนรู้ ปรับตัวในสิ่งที่ลูกกลัว ไม่บังคับหรือเร่งรัดลูกจนเกินไป เด็กๆต้องใช้เวลามากน้อยต่างกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองค่ะ - เป็นตัวอย่างให้ลูก
อยากให้ลูกหายกลัวอะไร พ่อแม่อาจต้องทำให้ลูกเห็นว่ามันไม่อันตราย มันปกติ ตัวแม่เองกลัวสัตว์มากกกกก แต่พยายามไม่แสดงออกให้ลูกกลัวตาม ไม่กรีดร้อง ไม่วิ่งหนี ยอมให้อาหารสัตว์ทั้งๆ ที่ไม่เคย เพื่อให้ลูกดู บางครั้งก็ส่งพ่อไปเป็นตัวแทน
ไปๆ มาๆ จากเดิมที่แม่กลัวไก่มาก พอไปกับลูกบ่อยๆ แม่ก็เดินผ่านดงไก่ได้แล้วค่ะ - ไม่ใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูก
หลายๆ ครั้งเราใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูก #ระวังตุ๊กแกกินตับนะ #เดี๋ยวจะมีตำรวจมาจับ #ดื้อมากเดี๋ยวให้หมอมาฉีดยา
ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ลูกกลัวโดยการจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ลูกมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ได้ค่ะ - อธิบายตามหลักความจริง
เสียงดังเกิดจากอะไร เช่น
เค้าเจาะประตู เสียงเลยดัง หนูดูไกลๆ ได้ แต่เข้าใกล้ไม่ได้เพราะมันมีเศษไม้อาจเข้าตาได้
หนูให้อาหารสัตว์ได้ สัตว์เค้าจะอ้าปากมากิน แต่หนูให้แล้วต้องปล่อยมือ อย่าให้โดนฟันของพี่นะคะ - ความกลัวยังเป็นสิ่งที่ดี
หลายๆ อย่างเราก็ต้องสอนให้ลูกกลัวในสิ่งที่เหมาะสม (ย้ำว่าสอนไม่ใช่ขู่หรือหลอกค่ะ) เช่น
ไม่ข้ามถนนคนเดียว วิ่งลงกลางถนน เพราะรถชนบาดเจ็บได้
ไม่วิ่งเล่นหนีแม่ เพราะอาจมีคนไม่ดีจับตัวไปได้หรือหลงทางได้
ไม่เอานิ้วแหย่ปลั๊กเพราะไฟจะดูด
ซึ่งแม่สอนเรื่องนี้ผ่านนิทาน สอนพร้อมให้ลูกคิดตาม ตอบคำถามที่ลูกคาใจ ให้ลูกไม่กลัวเกินกว่าความเป็นจริงค่ะ
ย้ำอีกครั้งว่าความกลัวเป็นเรื่องปกติ เป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อให้เราอยู่รอดปลอดภัย แต่เราก็ไม่ควรจะหลอกให้เด็กกลัวจนเกินกว่าความเป็นจริง และเมื่อไหร่ที่ลูกเรากลัว เราควรจะอยู่เคียงข้างให้เวลา แล้วค่อยอธิบายเพื่อสร้างความมั่นคงในจิตใจให้ลูก
เพราะความกลัวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อของพัฒนาการของลูกค่ะ
#หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
1 ใน Power BQ 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี คือการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะความกลัวเป็นเรื่องปกติของทุกคน หากลูกได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความกลัวอย่างถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะสร้างความมั่นคงในจิตใจของลูก ให้เติบโตเป็นคนที่มี EQ ดี มีโอกาสในการประสบความสำเร็จทั้งในด้านหน้าที่การงาน และ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
ติดตามความรู้การพัฒนาสมอง และการเรียนรู้ของเด็ก กับคุณหมอศรินพร
ได้ที่เพจ หมอสมองเลี้ยงลูกแฝด
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ