แม่มือใหม่ควรรู้! วิธีใช้ มหาหิงค์ ห้ามให้ลูกกินเด็ดขาด! - Amarin Baby & Kids
มหาหิงค์

วิธีใช้ มหาหิงค์ กับลูกน้อย ยาทาภายนอก ห้ามให้ลูกกินเด็ดขาด!

event
มหาหิงค์
มหาหิงค์

แม่มือใหม่ควรรู้!! วิธีใช้ มหาหิงค์ กับลูกน้อย ยาทาภายนอก ยาทาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ยังไง? ควรทาตรงไหน หรือ ทาตอนไหน และ สามารถทามหาหิงค์ให้ลูกน้อยได้บ่อยแค่ไหน?

มหาหิงคุ์ คืออะไร

มหาหิงค์ คือ ชันน้ำมัน หรือยางที่ได้มาจากลำต้นใต้ดินและรากของพืชในตระกูล Ferula เป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักชี ผักชีลาว มีต้นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียกลาง มีลักษณะเป็นสีเหลือง อมน้ำตาลและมีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มหาหิงคุ์เป็นยาที่รู้จักกันมานาน ซึ่งไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันในหลายๆ ประเทศ

มหาหิงค์
น้ำยาง มหาหิงค์ มีลักษณะ เป็นก้อนแข็งๆสีน้ำตาลอมเหลืองและมีกลิ่นฉุน การเก็บยางเอามาใช้ ทำได้เมื่อต้นมหาหิงคุ์อายุประมาณ 4-5 ปี และ ส่วนลำต้นใต้ดิน มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 12.5 – 15 ซม ต้นนี้ก็จะถูกตัดที่โคนและนำมาวางทิ้งไว้ ให้น้ำยางที่มีลักษณะคล้ายน้ำนมไหลออกมา บางครั้งจะถูกหั่นเป็นชิ้นๆ เพื่อให้น้ำยางไหลออกมาจนหมด เมื่อยางแห้งลงจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง และจะถูกเก็บรวบรวมให้เป็นก้อน

ในสมัยก่อน มหาหิงคุ์ ถูกนำไปใช้สำหรับปรุงแต่งรสชาติอาหาร เป็นยาช่วยย่อย โดย มหาหิงคุ์ มีสรรพคุณมากมาย เช่น ใช้ทาภายนอกเพื่อรักษากลาก แก้แมลงกัดต่อย แก้ปวด แก้บวม นอกจากนั้นแล้วกลิ่นของมหาหิงคุ์ยังใช้ในการรักษาโรคหวัด และบรรเทาอาการไอได้อีกด้วย

ทั้งนี้สำหรับสรรพคุณของมหาหิงคุ์ที่คุณพ่อคุณแม่นำมาใช้กับลูกทารกในปัจจุบัน คือ นิยมนำมาทาที่หน้าท้อง หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า เพื่อระงับอาการปวดท้อง ท้องอืด ซึ่งพอทาไปสักพักเด็กก็มักจะผายลมออกมา หรือสำหรับเด็กบางคนที่ร้องไห้ไม่หยุด พอทามหาหิงคุ์ปุ๊บเด็กก็หยุดร้องปั๊บเลยก็มี

แต่หากใช้ยามหาหิงค์ไม่ถูกวิธี ก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมีหลายบ้านที่ผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่มักบอกให้เอาทิงเจอร์มหาหิงคุ์ผสมน้ำให้เด็กกิน หรือ บางคนให้หยดใส้ผ้าผูกไว้ที่ข้อมือ ซึ่งบางครั้งเด็กก็อาจกินเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ที่ได้ออกมาโพสต์เตือนว่าไม่ควรให้ลูกกินมหาหิงค์

โดยคุณแม่เล่าว่า…

น้องมีอายุ 1 เดือน ถูกคุณย่านำ มหาหิงคุ์ผสมน้ำให้กิน ซึ่งน้องกินตอนเที่ยง แม่ก็ดูอาการน้องเรื่อยๆ ก็ปกติ แต่พอตกเย็นน้องไม่กินนม งอแงร้องไห้ แม่เลยตัดสินใจพาไปหาหมอ หมอบอกว่า ทีหลังอย่าให้กินอีก เพราะอาจจะไม่โชคดีแบบนี้เสมอไป

มหาหิงค์
ขอบคุณข้อมูลจากคุณแม่ : Arreerat Janjui

วิธีใช้ยาทา มหาหิงค์

ยามหาหิงคุ์ มี 2 แบบ คือ

  • ชนิดแห้ง
  • ชนิดน้ำ มีทั้งน้ำใสไม่มีสี และ สีน้ำตาลสูตรดั้งเดิม

สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยแนะนำให้ทามหาหิงคุ์ให้ลูกน้อยหลังอาบน้ำเสร็จ วันละ 2-3 ครั้ง หรือใช้ทาให้กับลูกน้อยเมื่อสังเกตว่าลูกมีอาการท้องอืด และบางเวลาที่รู้สึกว่าลูกท้องแข็ง แล้วร้องไห้โยเย วิธีทามหาหิงค์ คือ

  1. เทมหาหิงค์ใสสำลีก้อนพอชุ่ม จากนั้นให้นำไปทาที่หน้าท้องของลูกน้อยตั้งแต่ใต้ลิ้นปี่ ลูบลงมาถึงใต้สะดือ
  2. แต่ให้เว้นสะดื้อ ไว้ (ห้ามทามหาหิงค์ที่สะดือ)ทาลูบลงให้ทั่วหน้าท้อง (ไม่ควรทาวน)
  3. จากนั้นพลิกตัวลูกเพื่อทาด้านหลัง โดยทาจากบนลงล่างตามแนวกระดูกสันหลัง
  4. และสุดท้ายทาที่จุดชีพจรตรงข้อมือ หลังมือ ทาออก และทาที่เอ็นรอยหวาย ฝ่าเท้า ทั้งด้านบนและล่าง โดยให้ทาออกจากตัวเช่นกัน

ทั้งนี้คุณแม่ควรทามหาหิงคุ์ให้ลูกน้อยในที่โล่ง อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก หรือหลังจากทามหาหิงคุ์ที่ท้องแล้ว ให้ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็กไว้ เพื่อทำให้ท้องอุ่นและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น

มหาหิงค์
ขอบคุณภาพจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

คำแนะนำในการใช้มหาหิงคุ์ในเด็ก

  • มหาหิงคุ์ ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะทิงเจอร์มหาหิงคุ์) ไม่ควรกิน หรือนำไปผสมน้ำให้เด็กกิน เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกายของเด็กได้ เนื่องจากในทิงเจอร์มหาหิงคุ์นั้นมีแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็น
  • ระวังไม่ให้ยาเข้าตาหรือสัมผัสกับเนื้อเยื่ออื่น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผลหรือรอยถลอกของเด็ก
  • มหาหิงค์ เป็นยาใช้ภายนอก ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บรวมกับยารับประทานตัวอื่นๆ
  • ควรสำรวจวันหมดอายุของยาก่อนนำมาใช้ เนื่องจากการเก็บยาไว้นานๆ จะทำให้ตัวยาออกฤทธิ์สลายตัวและให้ผลได้ไม่เต็มที่
  • ทั้งนี้ยาชนิดน้ำมีอายุ 3 ปี กรณียังไม่เปิดใช้งาน หลังเปิดใช้ มีอายุ 30 วัน ไม่หมด ควรทิ้ง และปิดฝาให้สนิทป้องกันการระเหยของยา

หากทำตามนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้ยามหาหิงค์ได้อย่างปลอดภัยแล้วค่ะ แต่ถ้าทามหาหิงค์แล้วอาการท้องอืดท้องเฟ้อของลูกน้อยยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์น่าจะดีกว่านะคะ

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , www.sanook.comwww.ttmed.psu.ac.thwww.pharmacy.mahidol.ac.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up