“อยาก มีลูกคนที่สอง จัง” ความคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นกับคุณแม่หลายคน หลังทิ้งระยะจากความเหนื่อยล้า การอดหลับอดนอน และเลี้ยงดูลูกคนแรกได้เริ่มเข้าที่เข้าทาง แถมเวลาไปไหนใครๆ ก็ทักว่าทำไมไม่มีลูกน่ารักอีกสักคน แต่อีกใจก็คิดหนักเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะการมีลูกหนึ่งคนใชเงินไม่น้อยทั้งค่าใช้จ่ายทั่วไป สุขภาพและการศึกษา ต้องวางแผนการเงินให้ดี จึงทำให้หลายบ้านยังคิดสองจิตสองใจว่าควรมีลูกอีกคนหรือแค่คนเดียวดี
มีลูกคนที่สอง ต้องวางแผนการเงินอย่างไรให้ครอบครัวมั่นคง
เมื่อมีลูกคนที่สอง ภาระรับผิดชอบด้านการเงินของคุณพ่อคุณแม่ย่อมเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว ยิ่งช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากปัจจัยหลายด้านรวมถึง ภาวะโรคระบาดไปทั่วโลก คุณพ่อคุณแม่จึงควรไตร่ตรองให้ดีและวางแผนการเงินไว้แต่เนิ่นเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาภายหลัง เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีลูก 2 คน เท่ากับครอบครัวจะใหญ่ขึ้น ค่าใช้จ่ายของลูกต้องคูณสอง ลองมาคิดกันคร่าวๆ ก่อนว่าถ้า มีลูกคนที่สอง แล้วจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
ค่าใช้จ่ายเมื่อ มีลูกคนที่สอง
ค่าฝากครรภ์และค่าคลอด พอมีเบบี๋น้อยมาอยู่ในท้องคุณแม่กัน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็เกิดขึ้นทันทีเหมือนกับตอนมีลูกคนแรก เพราะพบไปคุณหมอเพื่อฝากครรภ์, ตรวจเลือด, ตรวจสุขภาพ, ค่าอัลตร้าซาวด์ รวมไปถึงค่าทำคลอดซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะการคลอด
หากเป็นการคลอดธรรมชาติ รพ.รัฐอยู่ที่ 5,000 บาทขึ้นไป ส่วนรพ.เอกชนอยู่ที่ 30,000 บาทขึ้นไป ส่วนการผ่าตัดคลอดจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยรพ.รัฐ ราว 20,000 บาทขึ้นไป รพ.เอกชนเริ่มต้นที่ราว 40,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้รพ.เอกชนส่วนใหญ่มักจัดแพ็คเก็จคลอดให้คุณแม่เลือกได้ตามความเหมาะสม
เช็กค่าอัลตร้าซาวด์ 4มิติ ปี2563
เช็กแพ็คเกิจคลอดลูกรพ.กทม ปี2563
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่ไม่คาดคิด เช่น เมื่อคลอดแล้วทารกตัวเหลืองต้องนอนตู้อบ หรือมีความจำเป็นอื่นๆ ที่ต้องดูอาการที่โรงพยาบาลต่อ
ค่าพี่เลี้ยง
หากพ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ หรือเป็นแม่ฟูลไทม์แต่ไม่มีญาติผู้ใหญ่ช่วยเหลือ เมื่อมีลูกสองคนโดยเฉพาะวัยใกล้เคียงกัน อาจจำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างพี่เลี้ยงด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตกลงกัน มีทั้งแบบมาอยู่เป็นพี่เลี้ยงประจำบ้าน กินนอนบ้านเดียวกัน ให้พี่เลี้ยงมาดูแลระหว่างวัน หรือพาลูกไปดูแลที่บ้านพี่เลี้ยง ค่าใช้จ่ายก็จะต่างกันออกไป เริ่มต้นตั้งแต่ 5,000 บาทจนถึงหลักหมื่นบาท ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นสำคัญ จึงต้องหาพี่เลี้ยงที่ไว้วางใจได้และสามารถดูแลเด็กอ่อนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้บางบ้านตัดสินใจว่าจะคุณพ่อหรือคุณแม่ออกจากงานประจำมาดูแลลูกแทน
ค่าอาหารและโภชนาการ
ในช่วงขวบปีแรกที่ลูกยังเกิดนมเป็นอาหารหลัก ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายหลักในส่วนนี้ แต่ถ้าบ้านไหนเลี้ยงด้วยนมแม่ก็จะช่วยประหยัดค่านมไปได้มาก จะมีจ่ายก็เฉพาะค่าอาหารเสริมเท่านั้น แต่เมื่อลูกอายุควบขวบปีแล้ว ค่าอาหารส่วนนี้จะบวกรวมเข้ากับค่าอาหารของสมาชิกในบ้านได้ ค่านมผงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 4,000 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับนมแม่ละยี่ห้อ)
ค่าของใช้จำเป็นสำหรับทารก
เช่น ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป อุปกรณ์อาบน้ำ เสื้อผ้า ของใช้สำหรับทารก หากมีลูกวัยใกล้เคียงกันอาจใช้ของชิ้นเดียวกับพี่คนโตได้ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อาบน้ำ อุปกรณ์ดูแลความสะอาด แต่มีอีกหลายอย่างที่ต้องซื้อเป็นประจำ เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างขวดนม ทิชชู่เปียก สบู่เหลว เป็นต้น โดยเฉลี่ยค่าของใช้จำเป็นเมื่อ มีลูกคนที่สอง อยู่ราว 1,500 บาทต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
เด็กเล็กอาจเจ็บป่วยได้ง่าย หลายบ้านอาจเลือกซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโรคและค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อประกันชีวิตคู่กับประกันสุขภาพราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง ค่านอนโรงพยาบาล วงเงินการรักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพของลูกได้หลายกรมธรรม์ เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด (โดยจำเป็นต้องจ่ายเงินสดเพิ่มอีก) อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ยังต้องเตรียม ค่าวัคซีนสำหรับเด็กที่ เบิกประกันไมได้เอาไว้ด้วย
เช็กประกันสุขภาพลูก ปี2563
เช็กค่าเทอมโรงเรียนอนุบาล กทม-ปริมณฑล ปี2563
เงินออมสำหรับการศึกษาในอนาคต
แม้ว่าเด็กเล็กจะยังไม่ต้องเข้าเรียนจริง แต่ภายใน 3-4 ปี ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้แน่นอน คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมเตรียมการล่วงหน้าสำหรับค่าเทอมที่จะมาแบบ x 2 ในทุกๆ ปี
วางแผนการเงินให้ดีเมืื่อมีลูกคนที่สอง
เมื่อครอบครัวขยายขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นนี้ อย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่คิดว่าจะมีเบบี๋อีกคนควรวางแผนไว้อย่างไรดีให้เหมาะสม และสามารถวางรากฐานทางการเงินที่มั่นคงให้ครอบครัวในอนาคต มาเริ่มต้นด้วยเทคนิคง่ายๆ เพื่อเตรียมเป็นพ่อแม่ เมื่อมีลูกคนที่สอง ให้พร้อมกันดีกว่า
1.ทำงบการเงินใหม่ หากตอนมีลูกคนแรกได้ววางแผนค่าใช้จ่ายในบ้านอยู่แล้ว ก่อนมีลูกอีกคนให้ลองบวกค่าใช้จ่ายสำหรับลูกคนที่สองเข้าไปในบัญชีรายจ่ายประจำบ้านดู แล้วคำนวณเป็นตัวเลขว่า เมื่อเพิ่มรายจ่ายของเบบี๋น้อยเข้าไปแล้ว สภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนใด หรือหารายได้เพิ่มเติมใดได้บ้าง
2.นำของเก่ากลับมาใช้ซ้ำ ถ้าบ้านไหนๆวางแผนตั้งแต่ต้นแล้วว่า “อยากมีลูกมากกว่า 1 คน” ก็ควรวางแผนการใช้อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น คาร์ซีท รถเข็นเด็ก เตียงนอน เก้าอี้นั่งกินข้าวที่สามารถใช้ได้ระยะยาว เพื่อส่งต่อจากพี่ไปถึงน้องได้ โดยเน้นการดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
วิธีนี้ก็ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มาก ส่วนเสื้อผ้า รองเท้าอาจต้องดูก่อนว่าพี่น้องเป็นเพศเดียวกันหรือไม่ ถ้าของบางชิ้นเป็นสีกลางๆไม่บ่งบอกความเป็นหญิงหรือชายมากเกินไป ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้ควรเช็คสภาพให้มีความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน
3.คิดก่อนซื้อ สำหรับคุณแม่นัก CF ช้อปของลูกไม่ยั้งสมัยมีลูกโทน อาจต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้โอนช้าลงอีกสัก ให้เป็นคิดก่อนซื้อและดูความจำเป็นมากขึ้น หรือเวลาที่ซื้อของเล่นให้ลูกคนโต อาจลองเลือกสีหรือรูปแบบกลางๆ ที่ใช้ได้กับทั้งเพศหญิงและชาย
4.วางแผนการซื้อและเตรียมอาหาร ค่าอาหารคือค่าใช้จ่ายภายในบ้านก้อนใหญ่ ยิ่งจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ค่าอาหารก็ยิ่งทวีคูณตามไปด้วย การวางแผนซื้ออาหารสดและอาหารแห้งจะช่วยประหยัดเงินได้มาก หากคุณแม่เตรียมตัวล่วงหน้าว่าสัปดาห์นี้จะกินอะไร วัตถุดิบหลายอย่างเมื่อซื้อในปริมาณมากจะได้ราคาถูก และสามารถปรับเปลี่ยนได้หลายเมนู ยิ่งถ้ามีเวลาจดรายการที่ต้องซื้อไว้ล่วงหน้า เมื่อมีโปรโมชั่นดีๆ จากห้างร้าน ก็สามารถเลือกซื้อได้ทันที แบบไม่ต้องนำของลดราคามากักตุนด้วย
5.ใช้เงินเพื่อความสุขในบ้าน มากกว่าออกไปหาความสุขข้างนอก เทรนด์ใหม่ของครอบครัวในยุคโควิด-19 ก็คือการหากิจกรรมสนุกให้ลูกทำที่บ้าน ถ้าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อความบันเทิง ลองเปลี่ยนจากการซื้อของเล่นมาเป็นการประดิษฐ์ของเล่น หรือจัดพื้นที่ในบ้านเพื่อทำบ่อทราย, ชิงช้า, ที่ปีนหน้าผาจำลอง หรือเครื่องเล่นอื่นๆ หรือแทนที่จะออกไปเที่ยวเล่นตามคาเฟ่นอกบ้าน ลองซื้ออุปกรณ์ทำขนมมาชวนลูกทำขนมง่ายๆ หรือผสมสี นวดแป้งโดว์ใช้เอง ก็เป็นการประหยัดเงินและยังได้ใช้เวลาร่วมกันทั้งครอบครัวด้วย
แม้การมีลูกคนที่สองจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมามากมาย แต่หากคุณพ่อคุณแม่วิเคราะห์และเตรียมวางแผนการเงินมาอย่างดี เชื่อว่าพอได้เห็นรอยยิ้มน้อยๆ แล้ว ความเครียดและความเหนื่อยล้าน่าจะหายเป็นปลิดทิ้งเลยละค่ะ
แหล่งข้อมูล www.mybanktracker.com , www.discover.com
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เชื่อหรือไม่? ข้อดีของการมีน้องสาว ช่วยให้คนเป็นพี่มีความสุขได้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่