ลูกขี้อิจฉา – ความรู้สึกอิจฉาเป็นอารมณ์ปกติที่สามารถเกิดได้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอิจฉาพี่น้อง อิจฉาเพื่อน เพียงแค่เพื่อนๆ มีของเล่นใหม่เอามาอวด ก็สามารถปลุกความรู้สึกอิจฉาตาร้อนของเด็กๆ ได้ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือการขจัดอารมณ์เชิงลบเหล่านี้ก่อนที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากปล่อยเอาไว้นานอาจจะแก้ไขได้ยาก วันนี้เรามาดูสาเหตุของความรู้สึกอิจฉาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ และวิธีรับมือ ตลอดจนวิธีช่วยปรับความรู้สึกนึกคิดของลูก เพื่อที่คุณจะได้รับมือกับปัญหานี่ได้ ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กขี้อิจฉาขั้นรุนแรง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อลูกของคุณและสังคมรอบข้าง
ลูกขี้อิจฉา สาเหตุเกิดจากอะไร พ่อแม่จะแก้ไขได้หรือไม่?
ทราบหรือไม่? ว่าความผิดพลาดในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สามารถทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้อิจฉาได้ การบ่มเพาะความรู้สึกที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เริ่มต้นขึ้นในวัยเด็ก พฤติกรรมในการเลี้ยงดูบางอย่างของพ่อแม่ อาจจุดชนวนความรู้สึกชิงดีชิงเด่นและกระหายในชัยชนะ ซึ่งต่อไปนี้คือความผิดพลาดบางประการในการเลี้ยงดูลูกที่อาจทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีนิสัยขี้อิจฉา
1. ตามใจหรือเอาอกเอาใจมากเกินไป
ถ้าคุณตามใจลูกด้วยการเอาอกเอาใจมากเกินไป เช่น ลูกอยากได้อะไร ก็ซื้อหามาให้ทุกอย่าง พฤติกรรมการเลี้ยงดูแบบนี้อาจทำให้ลูกของคุณบ่มเพาะความรู้สึกว่าเขาเป็นที่หนึ่ง และสำคัญตัวเองผิดคิดว่าพวกเขาไม่มีคู่แข่งในชีวิต แต่ถ้าวันหนึ่งหากมีเด็กคนอื่นๆ เช่น เพื่อนๆ ของพวกเขาที่มีอะไรที่ดีกว่า หรือเรียนเก่งกว่า เด็กๆ จะรู้สึกหม่นหมอง ไม่ปลอดภัย และแน่นอน ด้วยเหตุผลนี้เขาอาจทำให้เด็กๆ ทุกข์ใจเมื่อไม่มีในสิ่งที่เพื่อนมี พลอยรู้สึกว่าทำไมตัวเองมีไม่มีเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจบ่มเพาะให้เกิดเป็นนิสัยขี้อิจฉาริษยาในเด็กได้
2. การเลี้ยงดูแบบเผด็จการ เจ้ากี้เจ้าการ
การควบคุมลูก คอยบงการเจ้ากี้เจ้าการมากเกินไป ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงอีกประการหนึ่งของคนเป็นพ่อแม่ การตั้งกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดโดยไม่อธิบายถึงเหตุผลในการกระทำให้ชัดเจน และดูเป็นการใช้อารมณ์มากเกว่าเหตุผลจะส่งผลกระทบต่อเด็กได้โดยตรง เด็กอาจเติบโตโดยขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ส่งผลให้เกิดเป็นความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างได้ดี เพราะตัวเองไม่ได้มีไม่ได้เป็นแบบนั้นเพราะการขาดความมั่นใจในตัวเองไม่มีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้อย่างคนอื่นๆ
3. ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
ข้อนี้เรียกได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่และสำคัญมากที่สุดที่บ่มเพาะนิสัยด้านลบต่างๆ จนทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้อิจฉาริษยา พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่นที่อายุไล่เลี่ยกันสามารถนำไปสู่ความอิจฉาริษยาในเด็กได้อย่างง่ายดายมาก พฤติกรรมเช่นนี้จะสร้างนิสัย การชอบแข่งขัน การเอาชนะ การชิงดีชิงเด่น การแพ้ไม่เป็น ขาดความมีน้ำใจนักกีฬา รวมถึงการขาดความมั่นใจในตนเองอย่างรุนแรงได้
4. ครอบครัวมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น
เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มเข้ามาในบ้านที่ลูกคนโตมักจะรู้สึกอิจฉาน้อง เพราะพาลคิดไปว่าคุณพ่อคุณแม่รักลูกไม่เท่ากัน ลูกอาจรู้สึกว่าเมื่อก่อนเขาเคยเป็นที่หนึ่ง แต่ตอนนี้ทำไมพ่อแม่ทุ่มเทเวลาไปให้น้อง จนอาจคิดไปว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า เกิดเป็นความน้อยใจ และคิดหาทางต่างๆ นานาๆ เพื่อให้พ่อแม่กลับมาสนใจตัวเอง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยลูกให้เข้าใจผิดโดยไม่ให้เหตุผลของการต้องดูแลเอาใจใส่น้องคนเล็ก หรือจัดสรรเวลาให้ลูกคนโตได้ไม่ดี ยิ่งนานวันเข้าความรู้สึกด้านลบของลูกก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และก่อเกิดเป็นความอิฉาริษยาได้อย่างน่ากลัวค่ะ
วิธีรับมือเมื่อ ลูกขี้อิจฉา
ก่อนที่เราจะจัดการกับนิสัยขี้อิจฉาของลูก คุณต้องแน่ใจว่าตัวเราเองไม่ได้มีความรู้สึกอิจฉาพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือบุคคลอื่นๆ จนเผลอแสดงออกให้ลูกเห็นอยู่บ่อยครั้ง เพราะการแสดงออกเหล่านี้จะสะท้อนถึงพฤติกรรมและทัศนคติของคุณซึ่งลูกๆ ของคุณอาจเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่รู้ตัว
โดยทั่วไป วิธีรับมือและจัดการกับความรู้สึกขี้อิจฉาในเด็กสามารถทำได้ โดยจำเป็นต้องใช้เทคนิคต่อไปนี้เข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
- เปลี่ยนความอิจฉาให้เป็นความทะเยอทะยาน
การให้พลังบวกกับลูกเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการช่วยลดความรู้สึกด้านลบของเด็กๆ เช่นเดียวกับการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หากลูกของคุณเศร้าเพราะเพื่อนของเขามีผลการเรียนดีและลูกรู้สึกอิจฉาเพื่อน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือต้องเป็นกำลังใจและกระตุ้นให้ลูกของคุณตั้งใจเรียนมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งคุณจะพบว่าเมื่อลูกของคุณเริ่มพยายามมุ่งมั่นสนใจการเรียนเรียน เขาจะไม่จดจ่ออยู่กับความอิจฉาของเขา วิธีนี้คือการช่วยเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในชีวิตของลูกให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเมื่อลูกทำได้สำเร็จจะทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองและจะสามารถเกิดมุมมองและความคิดได้เองว่าจะเสียเวลาไปกับการอิจฉาคนอื่นไปเพื่ออะไร ทำไมไม่เอาเวลามาทำตัวเองให้ดีขึ้น
- รับฟังสิ่งที่ลูกรู้สึก
ในกรณีส่วนใหญ่ ความอิจฉาริษยาเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลึกซึ้งและละเอียดอ่อนสำหรับเด็ก การพูดคุยกับลูกของคุณเพื่อหาสาเหตุของความอิจฉาเป็นสิ่งที่ควรทำ ให้เปิดใจรับฟังความรู้สึกของลูกโดยอย่าพยายามรบกวนความรู้สึกและความกลัวของลูกด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของคุณ อาจมีบางสถานการณ์ที่ลูกของคุณรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองน้อยลง เป็นเพราะไม่มั่นใจในความสามารถด้านดีๆ ของตัวเองมากพอ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เขาแสดงความอิจฉาบุคคลอื่น ซึ่งเมื่อเรารู้ถึงสาเหตุและที่มาที่ไปของความรู้สึกของ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเพิ่มความรู้สึกด้านบวกต่อตัวเองได้ตรงจุด เพื่อช่วยให้ลูกของคุณเกิดความมั่นใจในตัวเองในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ
- อ่านนิทานที่มีเนื้อหาด้าน จริยธรรม ศีลธรรมให้ลูกฟัง
การอ่านนิทานที่สอนเรื่องจริยธรรมศีลธรรมที่ดีงามให้ลูกๆ ของคุณฟัง เป็นโอกาสที่ดี ที่ลูกๆ ของคุณจะได้เรียนรู้ความเหมาะสมและข้อควรปฏิบัติในการใช้ชีวิตทางที่ดีควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น อ่านให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน ซึ่งเนื้อหาของนิทานอาจจะเป็นเรื่องของ การให้ความช่วยเหลือ การดูแลผู้อื่น และความตั้งใจที่ดี วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การรู้สึกอิจฉาคนอื่นๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
- เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก
เคล็ดลับสำคัญอีกข้อหนึ่งในการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน คือ การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เช่น หมั่นยกย่องชื่นชมคนอื่นในสิ่งดีๆ ที่พวกเขาทำ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนรอบข้าง แสดงความรู้สึกชื่นชมยินดีในความสำเร็จของคนอื่นๆให้ลูกเห็น เป็นต้น
- สอนให้ลูกเห็นความสำคัญของการแบ่งปัน
เด็กบางคนอาจมีความรู้สึกหวงของ ไม่ชอบแบ่งปันกับเด็กคนอื่นๆ และอิจฉาเด็กคนอื่นๆ เมื่อมีของเล่นใหม่ๆ หากเกิดกรณีนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้บุตรหลาน ได้เห็นความสำคัญของการแบ่งปัน การดูแลผู้อื่น และการการแสดงออกกับเพื่อนๆ อย่างเหมาะสม สอนให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการเล่นร่วมกัน วิธีนี้จะช่วยให้เขาขจัดพฤติกรรมด้านลบต่างๆ ออกไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว คุณจะพบว่าลูกของคุณสามารถใช้เวลาอยู่กับเด็กคนอื่นๆ ที่ลูกของคุณเคยแสดงความรู้สึกอิจฉาได้ดีขึ้น
- ทำให้ลูกรู้สึกถึงความรักความอบอุ่น
การเอาใจใส่ด้วยความรักความอบอุ่น คือการยืนยันว่าเด็กๆ จะได้ความรักทั้งหมดจากพ่อแม่ที่เขาควรจะได้รับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การแสดงความรัก ของพ่อแม่ในด้านการให้ความเอาใจใส่ ให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกๆ จะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาด และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ ให้กลับมาถูกต้องได้เร็วขึ้น ดังนั้นควรปกป้องลูกของคุณจากอารมณ์ด้านลบต่างๆ ด้วยความรัก ความเอาใจใส่อย่างเหมาะสม เพราะสิ่งนี้จะเพิ่มความมั่นใจ และความอบอุ่นทางใจให้กับพวกเขา
- ไม่เปรียบเทียบเรื่องการเรียนของลูก
หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบเรื่องผลการเรียน ผลการทดสอบของพี่น้องหรือกับเพื่อนๆ ของลูก พ่อแม่บางคนคิดผิดว่าการเปรียบเทียบอาจช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้สึกฮึดสู้และจะช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น แต่ความจริงพฤติกรรมนี้นอกจากจะช่วยให้ลูกของคุณพัฒนาด้านการเรียนยังจะเพิ่มระดับของความรู้สึกอิจฉาริษยาให้กับเด็กๆ แทน
- ชื่นชมลูก และพูดถึงข้อดีของลูก
วิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยลบล้างความรู้สึกอิจฉาของเด็กๆ คือ การชื่นชมในจุดแข็งหรือข้อดีของลูก เพื่อเสริมสร้างให้เด็ก ๆ เกิดความมั่นคงทางอารมณ์และเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง เด็กทุกคนชอบที่จะได้ยินจากผู้ปกครองเกี่ยวกับข้อดีของพวกเขา การพูดเกี่ยวกับจุดแข็งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอเหมาะสมจะช่วยเพิ่มความนับถือในตนเองของเด็ก
หากคุณพ่อคุณแม่หาเวลาและโอกาสที่ดีในการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับลูกในด้านจริยธรรม และศีลธรรม ตลอดจนใช้เทคนิคต่างๆ ตามที่กล่าวมาทั้งหมดในการจัดการกับนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ขอลูกเป็นประจำ และคอยเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ย่อมที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดทักษะความฉลาดที่รอบด้าน ด้วย Power BQ ในด้านความฉลาดทางคุณธรรม (MQ) พวกเขาจะรู้ด้วยตัวเองว่าการกระทำ และความรู้สึกด้านลบแบบไหนที่ควรไม่ควรเกิดขึ้น และจะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี ด้วยมีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์และมี ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่างๆ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : le3abstore.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
8 คำพูดที่ลูกไม่อยากได้ยิน จากปากพ่อแม่ พูดแบบนี้โตไปลูกแย่แน่!
10 นิสัยที่ควรสอนลูก ปูทางให้เป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
งานวิจัยชี้! สอนลูกทำงานบ้าน ตั้งแต่เล็ก เด็กจะเก่งวิชาการ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่