เทคนิคสยบ ลูกร้องไห้ ทารกร้องไห้ได้ทั้งวัน ปกติไหม? - Amarin Baby & Kids

เทคนิคสยบ ลูกร้องไห้ ทารกร้องไห้ได้ทั้งวัน ปกติไหม?

Alternative Textaccount_circle
event

ลูกร้องไห้ – หลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกแล้ว จัดการเปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว แต่ลูกของคุณยังคงร้องไห้แบบไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ และดูเหมือนว่าคุณต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันหรือทั้งคืนในการจัดการกับปัญหานี้อยู่บ่อยๆ  เชื่อว่า เรื่องนี้คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้แม่มือใหม่เครียดไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าการร้องไห้เป็นทักษะการสื่อสารเพียงอย่างเดียวที่ทารกแรกเกิดจะทำได้ ทารกอาจร้องไห้ไม่หยุด ร้องไห้หนักขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่สามารถเข้าใจได้ตั้งแต่แรกว่าทำไมลูกถึงอารมณ์เสีย ทว่าการถอดรหัสความหมายการร้องไห้ของลูกก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป เพื่อช่วยให้ลูกน้อยของคุณสงบลงได้ เราลองมาดูสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ทารกร้องไห้ และวิธีปลอบลูกน้อยของคุณเพื่อให้คุณคลายความเครียดลงได้กันค่ะ

เทคนิคสยบ ลูกร้องไห้ ทารกร้องไห้ได้ทั้งวัน ปกติไหม?

ทำไมลูกถึงร้องไห้?

คำถามคลาสสิคที่มีมาทุกยุคทุกสมัย คงไม่พ้น คำถามว่า ทำไม่ลูกถึงร้องไห้ไม่หยุด? ลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า? เพื่อช่วยให้รู้สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้ อาจต้องลองเช็คในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ ที่อาจอยู่เบื้องหลังการร้องไห้ของลูก ได้แก่ :

  • ความหิว ควรให้นมลูก หรือให้ลูกดูดขวดทุกสองสามชั่วโมง หรือ 8 ถึง 12 ครั้ง ในช่วง 24 ชั่วโมง หากลูกน้อยของคุณร้องไห้ก็เป็นโอกาสดีที่ลูกจะพร้อมกินนมอีกครั้ง หมั่นสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกถึงความหิวของลูก เช่น การตบริมฝีปาก เอามือปิดหรือแตะปากตัวเอง เป็นต้น
  • ลมและแก๊สในทางเดินอาหาร การกินนมสามารถดักอากาศให้เข้าไปในท้องของทารกทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดไม่สบายท้องได้ วิธีแก้ไข คือ ต้องให้ลูกเรอหลังกินนมทุกครั้ง โดยตบที่หลังเบา ๆ หรือใช้วิธี อุ้มลูกเรอ
  • ผ้าอ้อมเปียกหรือสกปรก คงไม่มีใครอยากนั่งในกางเกงในที่เต็มไปด้วยฉี่หรืออึ เด็กทารกใช้ผ้าอ้อมจนเปียกได้มากกว่าหกชิ้นต่อวันดังนั้นควรตรวจดูก้นเล็ก ๆ ของลูกบ่อยๆว่าแห้งสบายดีหรือไม่
  • ความเหนื่อยล้า ตั้งแต่วันที่หนึ่งถึงเดือนที่สาม ทารกแรกเกิดจะนอนหลับประมาณ 14 ถึง 17 ชั่วโมงเต็มวัน ควรแน่ใจว่าลูกของคุณได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่
  • จุกเสียดจากการร้องไห้ การร้องไห้มากเกินไปอาจทำให้จุกเสียดในท้องได้ – สอบถามกุมารแพทย์หากคุณกังวลว่าลูกร้องไห้มากเกินไปจนอาจเกิดอาการจุกเสียด
  • เบื่อหน่าย ใช่ค่ะ เด็ก ๆ อาจเบื่อที่จะนั่งมองฉากเดิมๆ  ในที่เดิม การขจัดความเบื่อหน่ายของลูก คุณอาจพาลูกไปนั่งเก้าอี้โยกกับคุณ ไปยืนข้างหน้าต่าง ออกไปเดินเล่น หรือเดินเล่นจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งก็ได้แล้วแต่ความสะดวกค่ะ
  • รู้สึกถูกรบกวน ลูกน้อยของคุณควรได้พักผ่อนและได้รับการกล่อมจากคุณอย่างเงียบ ๆ ในที่สงบ ห่างจากผู้คนและเสียงรบกวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดูดจุกหลอกก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกถูกรบกวนได้บ้าง หรือคุณอาจลองห่อตัวลูกด้วยผ้าห่มเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสบายตัว
  • ร้อน – หรือหนาว เกินไป  การสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไปอาจทำให้ลูกอึดอัด หรือ สวมเสื้อผ้าบางเกินไปท่ามกลางอากาศเย็นก็ทำให้ลูกไม่สบายตัว และเป็นที่มาของการร้องไห้ได้
  • ความเจ็บป่วย บางครั้งการร้องไห้ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกน้อยของคุณอาจกำลังไม่สบายได้ ดังนั้นควรปรึกษากุมารแพทย์ หากคุณสงสัยว่าลูกอาจมีไข้ หรือมีอาการใดๆ ที่ผิดปกติ
ลูกร้องไห้
ลูกร้องไห้

จะทราบได้อย่างไรว่าลูกร้องไห้แบบไหนผิดปกติ?

การร้องไห้เป็นเรื่องปกติสำหรับทารกในช่วงแรกของชีวิต แต่สำหรับพ่อแม่แล้ว ขั้นต่อไปที่ยากขึ้น คือ การหาว่าเสียงร้องของลูกที่ได้ยินนั้นมีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร เพราะลูกอาจกำลังเผชิญกับความหิว ความเหนื่อยล้า และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้อยู่อีกมากมาย

เมื่อคุณสามารถรับรู้ และแยกแยะได้ว่าเสียงร้องแต่ละประเภทเป็นอย่างไร คุณจะรู้ว่าเสียงร้องไห้ที่คุณได้ยินน่าจะเป็นเรื่องปกติหรือไม่ อย่างไรก็ตามการกรีดร้องที่รุนแรงมากขึ้นอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติได้ หากลูกของคุณร้องไห้มากเกินไปแม้ว่าคุณจะจัดการด้วยวิธีต่างๆ แล้วให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะลูกอาจต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ ทางการแพทย์เกิดขึ้น หากแพทย์สงสัยว่าลูกมีอาการจุกเสียด พวกเขาสามารถแนะนำสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยลูกของคุณ

นอกจากนี้การร้องไห้ที่เหมือนเสียงครวญเบา ๆ อาจหมายความว่าลูกน้อยของคุณไม่สบาย และไม่สามารถรวบรวมกำลังได้เพียงพอที่จะร้องไห้ออกมาให้เสียงดังได้ กรณีนี้ควรโทรหาแพทย์เพื่อบรรยายอาการของลูกน้อย และเรียนรู้วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการเจ็บป่วยของลูก แพทย์อาจแนะนำให้คุณพาลูกของคุณไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดต่อไป

อาการ โคลิค กับ การร้องไห้ปกติ

กฎสามส่วนเป็นวิธีที่ดีในการพิจารณาว่าลูกน้อยของคุณอาจมีอาการจุกเสียดหรือไม่ ทารกที่ร้องไห้มากกว่าสามชั่วโมงต่อวันเป็นเวลานานกว่าสามวันต่อสัปดาห์ในช่วงสามสัปดาห์อาจมีอาการโคลิค สอบถามแพทย์หากคุณไม่แน่ใจว่าการร้องไห้ของลูกคุณในตอนนี้ถือว่ามากเกินไปหรือไม่

สัญญาณของอาการโคลิคอีกอย่างหนึ่ง คือ การร้องไห้ซึ่งเหมือนกับเสียงกรีดร้องมากกว่า และมักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือเย็นครั้งละหลายชั่วโมง

แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ของคำว่า “การร้องไห้ปกติ” แต่ก็มีแนวโน้มว่าเป็นการร้องไห้ที่คุณสามารถเข้าใจได้ และสามารถระงับได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่าง เช่น เสียงร้องที่เป็นจังหวะเสียงต่ำ พร้อมกับเสียงดูดหรือเสียงตบปากอาจบ่งบอกถึงความหิว ในขณะที่เสียงร้องโหยหวนอย่างต่อเนื่องที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ อาจหมายความว่าทารกของคุณกำลังเหนื่อยล้าหรือไม่สบายตัว

ลูกร้องไห้

วิธีปลอบโยนเมื่อลูกร้องไห้

เมื่อคุณตัดสาเหตุต่างๆ ที่ชัดเจนแล้วว่าอาจทำให้ลูกน้อยของคุณร้องไห้ได้ เช่น ท้องว่าง ผ้าอ้อมเปียก หรือนอนหลับมากเกินไป และกุมารแพทย์ มีความเห็นว่าลูกไม่ได้มีอาการป่วยให้ลองใช้เทคนิค ต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้ลูกสงบและรู้สึกดีขึ้น

  • ใช้ผ้าห่อตัวลูก การห่อตัวที่แสนสบายในผ้าห่ม ช่วยให้เจ้าตัวน้อยของคุณรู้สึกปลอดภัย การห่อตัวจะช่วยปลอบประโลมทารกเพราะมันทำให้รู้สึกสบายตัวเหมือนอยู่ในครรภ์ พ่อแม่หลายคนพบว่าการห่อตัวช่วยให้ทารกนอนหลับได้เร็วขึ้นและนอนหลับได้นานขึ้นอีกด้วย
  • กระตุ้นการดูด ทารกมักจะปลอบตัวเองด้วยการดูดแม้ไม่ได้รับสารอาหารใดๆ ที่จะทำให้ท้องอิ่ม แต่การดูดไปเรื่อยๆ จะทำให้พวกเขาสงบลง หากลูกน้อยของคุณกำลังร้องไห้ให้ช่หานิ้วโป้ง กำปั้น หรือจุกหลอก ให้ลูกดูด ก็เป็นเคล็ดลับในการบรรเทาการร้องได้เช่นกัน แต่วิธีนี้ควรรอจนกว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีก่อน
  • ลองใช้เป้สะพายหลัง การวางลูกน้อยของคุณในเป้อุ้มและเดินไปรอบ ๆ เป็นวิธีที่ดีในการปลอบประโลมลูกที่ดี ทารกจะเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกใกล้ชิดและสัมผัสได้ถึงจังหวะการก้าวของคุณ
  • เหวี่ยงหรือไกวลูกไปมา  อุ้มลูกน้อยในขณะที่คุณนั่งบนเก้าอี้โยก หรือจะวางลูกไว้ในชิงช้าเด็กที่มีมอเตอร์แกว่งอัตโนมัติก็ได้เช่นกัน แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยของผู้ผลิตเกี่ยวกับข้อจำกัด ด้านอายุและน้ำหนักสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้
  • เปิดเสียงที่ฟังสบาย ทารกบางคนสงบลงได้ด้วยเสียงที่ฟังสบาย ที่สะกด และกล่อม พวกเขาให้นึกถึงตอนอยู่ครรภ์ได้
  • ร้องเพลงให้ลูกฟัง ลูกน้อยของคุณไม่รู้หรอกค่ะว่าคุณร้องเพลงเพราะหรือเพี้ยน สิ่งที่ลูกรู้ก็คือ คุณกำลังอาบน้ำให้พวกเขา พร้อมด้วยเสียงเพลงและความรักที่สัมผัสได้ ครั้งต่อไปที่ลูกงอแง ให้ลองร้องเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงอะไรก็ได้ที่คุณชอบ
  • นวด การนวดลูกน้อยของคุณอาจช่วยลูกให้ผ่อนคลายเป็นวิธีที่ดีในการทำให้เสียงร้องของลูกน้อยของคุณสงบลงได้ สามารถทดลองใช้โลชั่นหรือน้ำมันนวดตัวสำหรับเด็กได้ ให้ใช้สัมผัสที่อ่อนโยนหนักแน่น แต่อย่าทำให้ลูกรู้สึกจั๊กจี้
  • เปลี่ยนบรรยากาศ การเคลื่อนไหวอาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ลูกต้องการเพื่อสงบสติอารมณ์ รวมทั้งการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมก็สามารถสร้างความมหัศจรรย์ให้กับเด็กทารกที่ร้องโยเยได้ แสงอากาศและอุณหภูมิรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว เสียงและกลิ่นใหม่ ๆ จะทำให้ทารกคนอารมณ์ดีขึ้นได้รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย
  • สร้างความสนุกสนาน แม้แต่เด็กเล็กก็รู้สึกเบื่อได้ เพื่อให้ลูกน้อยของคุณได้รับความบันเทิงลองบรรยายการกระทำของคุณประกอบไปด้วยเสียงตลก ๆ และการแสดงออกที่มีการเคลื่อนไหว คุณอาจเล่นกับลูกและแสดงให้เห็นว่าของเล่นของลูกสั่นและหมุนอย่างไร

ทำอย่างไรถ้ารู้สึกหงุดหงิดกับการร้องไห้ของลูก

ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เครียดกับการจัดการปัญหาเรื่องลูกจากการร้องไห้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรแบ่งเบาภาระของคุณลงบ้าง โดยการให้คู่ของคุณ ปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงช่วยรับช่วงต่อ และลองให้เวลากับตัวเองบ้าง สิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ ไม่ว่าคุณจะหงุดหงิดแค่ไหนแต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การเขย่าตัวลูก การเขย่าอย่างรุนแรง เช่นการเผลอทำด้วยความไม่พอใจ หรืออารมณ์ชั่ววูบ อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะของทารก (AHT) ได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรค shaken baby syndrome (SBS) แม้ว่าจะเป็นการเขย่าในช่วงสั้น ๆ ก็ตาม การเขย่าอย่างรุนแรงในเด็กอาจทำให้สมองถูกทำลายอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเด็กทารกและเด็กเล็กร่างกายยังอ่อนแอมากเป็นพิเศษ

หากคุณรู้สึกเหมือนจะระเบิดอารมณ์ในไม่ช้า ให้วางลูกน้อยของคุณไว้ในเปล และสงบสติอารมณ์อย่างเงียบ ๆ ในห้องอื่น จนกว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น การหายใจและนับ 1 ถึง 10 การระบายกับคนใกล้ชิด หรือฟังเพลงแบบเบาๆ สบาๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ หากคุณรู้สึกหนักใจและคิดว่าจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณ ให้โทรสายด่วนสุขภาพจิตหรือผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณได้ทันที

ทั้งนี้การที่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของลูกทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ย่อมช่วยให้ลูกได้ซึมซับความรู้สึกที่ดีได้ในวัยที่เขาเริ่มรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้าง ลูกจะเกิดความเข้าใจและตระหนักได้ถึงสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ใส่ใจห่วงใยในตัวเขา ด้านการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยกันเฝ้าระวังดูแลกันและกัน และที่สำคัญ การปลูกฝังให้ลูกได้รู้จักกับการดูแลสุขภาพของตัวเองเมื่อลูกยังเล็ก จะช่วยให้เด็กๆ เกิดทักษะที่สำคัญในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน ด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) ได้อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : whattoexpect.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกร้องไห้งอแง ทารกร้องแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ?

วิจัยเผย! ทารกร้องไห้ เก่งที่สุดพบมากในประเทศนี้…!?

ทารกร้องไห้มีน้ำตาตอนกี่เดือน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up