ดนตรีเสริมพัฒนาการ – เสียงเพลงมีหน้าที่ในการปลอบประโลมมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยพลังแห่งเสียงเพลง และเสียงดนตรีที่มาขับกล่อมโสตประสาท ไม่ต่างอะไรจากสมองและพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วยดนตรีและเสียงเพลงเช่นเดียวกัน
มีงานวิจัยในปี 2016 โดยสถาบันสมอง และความคิดสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่า ประสบการณ์ทางดนตรีในวัยเด็กสามารถเร่งการพัฒนาของสมองได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเรียนรู้ทางภาษาและทักษะการอ่าน
ตามที่ มูลนิธิ NAMM Foundation (National Association of Music Merchants Foundation) ระบุว่า การเรียนรู้ที่จะเล่นเครื่องดนตรีสามารถปรับปรุงการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ได้ นอกจากนี้ การร้องเพลง หรือการได้ฟังเพลง จะช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเองตลอดจนทักษะการเข้าสังคมของเด็ก ทั้งยังมีส่วนช่วยให้เด็กเล็กเกิดสมาธิในการเรียนรู้ที่ดี
เราอาจจะเคยสังเกตเห็นเด็กแต่ละวัยแสดงออกผ่านดนตรี และ เสียงเพลง เช่น เด็กเล็กก็สามารถแกว่งไกวแขน ขยับมือหรือโยกย้ายไปมาเพื่อตอบสนองต่อเสียงเพลงด้วยความเพลิดเพลินตามประสาเด็กได้ เด็กก่อนวัยเรียนหลายคนสามารถฮัมเพลงในขณะที่กำลังเล่นสนุกได้โดยไม่ประหม่า แม้แต่เด็กทารกเองก็ยังรู้จักทำนองหรือเมโลดี้ของเพลงก่อนที่จะเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าเพลงบรรเลงที่เงียบสงบ สามารถผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกของทารกได้ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ ดังนั้นเมื่อพูดถึงพัฒนาการของเด็ก การมีดนตรีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีอย่างไม่ต้องสงสัย
20 เพลงกล่อมนอนเพราะๆ เปิดฟังยาวๆ ลูกหลับง่าย ตื่นแล้วไม่งอแง
ให้ลูกเรียนดนตรี กี่ขวบดี? แชร์ประสบการณ์ โดย พ่อเอก
10 เพลงกล่อมนอน 10 นาที ช่วยให้ลูกหลับปุ๋ยฝันดีตลอดคืน
แนะ 10 วิธีใช้ ดนตรีเสริมพัฒนาการ ลูก ทั้งสนุก และมีประโยชน์!
มีวิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณสร้างเสียงเพลง และเล่นดนตรีกับลูก เพื่อผลที่ดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ได้
10 กิจกรรมทางดนตรีง่ายๆ สำหรับเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน
1. ร้องเพลงเกี่ยวกับ คำ และ วลี ต่างๆ
เป็นธรรมดาหากเราได้ทำสิ่งไหนบ่อยๆ ซ้ำๆ จะช่วยเพิ่มพูนทักษะในด้านที่เราใช้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่การทำซ้ำด้วยการพูด หรือร้องเพลง จะช่วยเพิ่มทักษะในการท่องจำได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับเพลงและเสียงดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยเพิ่มทักษะการท่องจำได้อย่างยอดเยี่ยม การนำวลีหรือคำทั่วๆ ไปมาใช้กับเพลงให้เด็กๆ ได้ฝึกร้องตาม จะสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถจดจำคำต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ทำให้การจดจำและการเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าสนุก
2. ประดิษฐ์เครื่องดนตรีอย่างง่าย
คุณสามารถสร้างเครื่องดนตรีจากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน อาทิ กล่องกระดาษ กระป๋อง ช้อน จาน ชาม ฝาขวดน้ำ เป็นต้น เศษวัสดุเหล่านี้ สามารถนำมาผสมผสานดัดแปลงเข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นเครื่องดนตรีแบบง่ายๆ ได้ เช่น กลองเคาะจังหวะ ที่ประดิษฐ์จากกระป๋อง หรือกล่องต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน จะช่วยให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ที่ดี เมื่อทำเครื่องดนตรีเสร็จคุณกับลูกๆ อาจเล่นสมมติว่ากำลังเปิดคอนเสิร์ตในบ้านไปพร้อมกันได้อีกด้วย
3. เล่นการแสดงความสามารถ
ใช้หุ่นนิ้วมือ หรือ ตุ๊กตาสัตว์ ให้เคลื่อนไหวไปพร้อมกับเพลงโปรดของเด็กๆ ให้ตุ๊กตาเต้นไปตามเพลง ถ้าลูกน้อยของคุณชอบแสดงละครหรือบทบาทสมมติ (อย่างที่เด็กก่อนวัยเรียนหลายๆ คนชอบทำ) ลองกระตุ้นให้พวกเขาจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครและให้คิดทำนองเพลงของตัวเองขึ้นมา
4. เล่นเกมจับคู่เพลง
สนุกไปกับเกมจับคู่เพลงง่ายๆ ที่คุณสามารถเล่นที่บ้านได้ โดยตัดกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหนึ่งวาดตัวละคร หรือ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงเพลงที่คุ้นเคย เช่น รถบัสสีเหลือง สำหรับ “The Wheels on the Bus” โรงนา สำหรับ “Old MacDonald” ดาว สำหรับ “Twinkle, Twinkle Little Star” แมงมุม สำหรับ “Itsy Bitsy Spider” สุนัขสำหรับ “Bingo” และอื่นๆ ที่ชื่นชอบ จากนั้นวางกระดาษคว่ำหน้าลงกับพื้น โดยคุณ และลูกของคุณผลัดกันพลิกสี่เหลี่ยมจัตุรัส และร้องเพลงจากสัญลักษณ์บนกระดาษแทนเพลงต่างๆ ไปด้วยกันอย่างสนุกสนานได้
5. เปิดเพลงคลอระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ
เปิดเพลงประกอบในขณะที่คุณทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกๆ เช่น ระหว่างทำงานศิลปะ และงานฝีมือ ทำความสะอาดของเล่น หรือในเวลารับประทานอาหาร การศึกษาบางชิ้นแนะนำว่าการเปิดเพลงที่ฟังสบายคลอไปเบาๆ ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ สามารถช่วยเพิ่มสมาธิในระยะสั้นให้เด็กๆ ได้
6. ฟังและวาดไปพร้อมๆ กัน
เปิดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของลูก นำกระดาษวาดรูปและดินสอสีออกมา ใช้เวลาฟังและวาดสิ่งที่คุณได้ยินโดยใช้สี รูปร่าง เส้น จุด และสีเทียนเพื่อเป็นตัวแทนของเสียงบรรเลงและอารมณ์ทางดนตรีที่คุณได้ยิน ขณะที่คุณวาด ให้พูดถึงเหตุผลที่คุณเลือกสีต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละเสียง เช่น สีส้ม สำหรับแตร เป็นต้น
7. เล่นทายเพลง
ฮัมเพลง ผิวปาก หรือเคาะจังหวะของเพลง แล้วดูว่าลูกของคุณสามารถเดาเพลงได้ถูกหรือไม่ จากนั้นสลับกันเล่น ลองให้ลูกเคาะจังหวะหรือฮัมทำนองเพลงแล้วดูว่าคุณสามารถเดาเพลงที่ลูกของคุณกำลังฮัมได้หรือไม่
8. พาลูกไปห้องสมุดดนตรี
พาเด็กๆ ไป ทัศนศึกษาในห้องสมุดโซนหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรี เลือกสื่อที่มีเพลง เช่น เพลงกล่อมเด็ก หรือท่วงทำนองง่ายๆ ที่คุณสามารถนำกลับบ้านมาเล่น และร้องไปพร้อมกันได้ ใช้การตอบสนองทางกายภาพทั้ของคุณเพื่อให้ลูกของคุณเคลื่อนไหวตามจังหวะไปมา
9. ตั้งวงดนตรีของครอบครัว
วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการทำให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรของครอบครัวคือการเล่นดนตรีร่วมกัน เล่นบนคีย์บอร์ด (หากมี) สร้างกลองด้วยหม้อและกระทะ หาระนาดของลูกแล้วเคาะโน้ต ดีดกีตาร์ด้วยกัน หรือเพียงแค่พลิกภาชนะคว่ำแล้วเริ่มทำเสียงด้วยมือหรือช้อนไม้
สอนลูกของคุณถึงวิธีจับคู่ระดับเสียงกับเสียงของพวกเขา หรือแต่งเพลงเพื่อแสดงให้ทุกคนในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบหรือตรงคีย์ แต่จะแสดงให้บุตรหลานของคุณเห็นวิธีการทำเพลงและสนุกกับการทำ
10. ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันดนตรี
มีแอพเพลงมากมายที่ให้คุณสนุกไปกับลูกๆได้ อาทิ Tune Train, Musical Me, Piano Dust Buster และ Kids Ear Training แอพเหล่านี้จะช่วยสอนพื้นฐานทางดนตรีง่ายๆ ให้ลูกของคุณ โดยจะแนะนำให้เด็กๆ รู้จักกับแนวคิดทางดนตรี เช่น ระดับเสียง โน้ต คอร์ด และโครงสร้างของเพลง เป็นต้น
มาถึงตรงนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีและเสียงเพลงมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการที่ดีของเด็กๆ การนำดนตรีมาเชื่อมกับกิจกรรมและการเล่นของเด็กๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญในด้านต่างๆ ของเด็กๆ แล้วยังเป็นการเสริมสร้างทักษะของความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดในการเล่นPQ ได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : mother.ly , brighthorizons.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พ่อแม่อย่ามองข้าม! 10 ประโยชน์ของดนตรี ที่ดีต่อลูก
วิจัยสำเร็จ!! ดนตรีพัฒนาสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนดได้
ให้ลูกเรียนดนตรี กี่ขวบดี? แชร์ประสบการณ์ โดย พ่อเอก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่